สดร.ชวนดูจันทคราส-สุริยคราสปีเดียวเกิดสามครั้งรวดมองเห็นได้ในไทย
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ชวนประชาชนดูปรากฏการณ์ครั้งสำคัญทางดาราศาสตร์ทั้งสุริยุปราคาและจันทรุปราคา รวม 3 ครั้งในรอบหนึ่งปี และมองเห็นได้ในประเทศไทย ต้อนรับปีสุริยฟิสิกส์สากล เผยเตรียมจัดกิจกรรมประชุมวิชาการคึกคัก
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กล่าวว่า ในปีนี้มีปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์สำคัญเกิดขึ้นหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นปรากฏการณ์สุริยุปราคาและจันทรุป ราคาทั้งเต็มดวงและบางส่วน สามารถสังเกตการณ์ได้ในไทย
ในวันที่ 4 มีนาคม มีเหตุการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง โดยเงาของโลกเริ่มเข้าบังดวงจันทร์เวลา 03.16 น. จนกระทั่งเกิดเป็นจันทรุปราคาเต็มดวงในเวลา 05.43 น. ปรากฏการณ์ดังกล่าวสามารถสังเกตเห็นด้านมืดของดวงจันทร์ได้เป็นสีแดงอิฐ เป็นผลจากการหักเหแสงของแสงสีแดงจากดวงอาทิตย์ผ่านบรรยากาศของโลกไปตกกระทบบนดวงจันทร์ อย่างไรก็ดี เงาของโลกจะออกพ้นดวงจันทร์ หรือ "ออกคราส" หมดในเวลา 09.25 น.
"คนไทยจะไม่สามารถติดตามปรากฏการณ์ได้ตลอด เนื่องจากดวงจันทร์จะตกลับขอบฟ้าเวลา 06.37 น. ก่อนที่ปรากฏการณ์จะสิ้นสุด" ดร.ศรัณย์ กล่าว
ในวันที่ 19 มีนาคม จะเกิดสุริยุปราคาบางส่วน เกิดจากดวงจันทร์ได้โคจรมาบังดวงอาทิตย์เป็นบางส่วน สำหรับภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทยจะเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนแตกต่างกันไป โดยที่กรุงเทพฯ ดวงจันทร์จะเริ่มเคลื่อนทับในเวลาประมาณ 07.48 น. และสิ้นสุดเวลา 08.57 น. ภาคใต้ตอนล่างตั้งแต่ จ.สงขลา ลงไปนั้นจะไม่สามารถเห็นปรากฏการณ์นี้ได้เลย ส่วนทางภาคเหนือตอนบนจะเกิดปรากฏการณ์นี้นานที่สุดโดยดวงอาทิตย์จะถูกบดบังมากที่สุดถึงร้อยละ 28
ในวันที่ 28 สิงหาคม จะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงอีกครั้ง ซึ่งมองเห็นได้ในไทยเช่นกัน และยังเกิดสุริยุปราคาบางส่วนให้เห็นอีกในวันที่ 11 กันยายน แต่ไม่สามารถสังเกตได้ในไทย
ดร.ศรัณย์ กล่าวต่อว่า เป็นโอกาสอันดีที่เราจะเห็นปรากฏการณ์สุริยุปราคาและจันทรุปราคารวมกันทั้งสิ้น 3 ครั้ง ในปีนี้เป็นปีสุริยฟิสิกส์สากล 2007 ซึ่งสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้ร่วมดำเนินกิจกรรมปีสุริยฟิสิกส์กับองค์การนาซาและสหพันธ์ธรณีฟิสิกส์แห่งอเมริกา โดยจะจัดกิจกรรมการบริการวิชาการในรูปแบบของการบรรยาย/เสวนา นิทรรศการและประชุมวิชาการ เพื่อเข้าถึงประชาชนโดยการให้ความรู้เกี่ยวกับดวงอาทิตย์ ระบบสุริยะ และผลกระทบของดวงอาทิตย์ต่อโลก รวมทั้งการสร้างความตระหนักและความตื่นตัวเรื่องผลของดวงอาทิตย์และปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วย
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment