เอ็มเทคจับมือเกาหลีใต้วิจัย 'เซลล์เชื้อเพลิง'
ศูนย์เอ็มเทค เบนเข็มมุ่งวิจัยวัสดุ เพื่อใช้กับพลังงานทดแทน ประเดิมส่งทีมวิจัยดูเซลล์เชื้อเพลิงเกาหลีใต้ พร้อมรับถ่ายทอดเทคโนโลยีพัฒนาวัสดุแลกเปลี่ยนประจุไฟฟ้า
รศ.ดร.ปริทรรศน์ พันธุบรรยงค์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) เปิดเผยว่า ไทยและเกาหลีมีโครงการความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนงานวิจัยระหว่างประเทศด้านอิเล็กทรอนิกส์และวัสดุ โดยครั้งนี้จะเน้นงานวิจัยเกี่ยวกับวัสดุที่สามารถทำให้เกิดพลังงานได้เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงสภาวะทางกายภาพ เช่น แบตเตอรี่ และเซลล์แสงอาทิตย์ เป็นต้น
การผลิตกระแสไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์นั้น นอกจากตัวแผงโซลาร์เซลล์ แล้วแบตเตอรี่ที่ใช้เก็บประจุเป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน เนื่องจากแบตเตอรี่ที่ใช้กับโซลาร์เซลล์จะต่างจากแบตเตอรี่ที่ใช้กับรถยนต์ และยังใช้วัสดุทำปฏิกิริยาทางเคมีเพื่อผลิตไฟฟ้าต่างกันและมีราคาสูง
ขณะที่ความสำเร็จในการพัฒนาเซลล์เชื้อเพลิง (fuel cell) ชิ้นส่วนที่มีความสำคัญอย่างยิ่งคือ ฟิลเตอร์ เมมเบรน หรือแผ่นเยื่อกรอง ที่ใช้เป็นตัวแลกเปลี่ยนประจุโปรตอนยังคงเป็นโจทย์สำคัญที่นักวิจัยต้องศึกษาหาความรู้
"งานวิจัยวัสดุพลังงานในบ้านเรายังอยู่ในขั้นเริ่มต้น โดยมีงานวิจัยอยู่น้อยมากในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา โดยกลุ่มนักวิจัยที่เริ่มศึกษาเรื่องนี้ส่วนใหญ่เป็นนักวิจัยด้านเซรามิคเองจากเป็นวัสดุที่มีคุณภาพดีในการใช้เป็นสารกึ่งตัวนำไฟ รวมถึงใช้เป็นฉนวนได้ดีเช่นกัน" ผอ.เอ็มเทค กล่าว
ดร.ยุง จุน คิม (Hyoung-Juhn Kim) นักวิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งเกาหลีใต้ เจ้าของผลงานการพัฒนาอิเล็กโตรไลต์จากโพลีเมอร์ ใช้เป็นเมมเบรนในการแลกเปลี่ยนโปรตอนของเซลล์เชื้อเพลิง กล่าวว่า มีนักวิจัยทั่วโลกอยู่ 20 กลุ่มที่ศึกษาวัสดุที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน โดยเฉพาะอิเล็กโตรจากโพลีเมอร์และเมมเบรน ซึ่งเป็นวัสดุสำคัญในการพัฒนาใช้งานกับเซลล์เชื้อเพลิง ใช้ในอนาคต
“ความท้าทายของผู้ที่ทำงานด้านวัสดุคือการพยายามพัฒนาวัสดุให้มีราคาถูก เพื่อลดต้นทุนการผลิต และต้องใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันเรากำลังพัฒนาเมมเบรนซึ่งเป็นวัสดุที่มีราคาแพงมากให้ราคาถูกลง 30 เปอร์เซ็นต์ โดยการวิจัยดังกล่าวยังอยู่ในห้องปฏิบัติการ” นักวิจัยกล่าว
งานสัมมนาทางวิชาการระหว่างไทย-เกาหลี ครั้งที่ 4 ด้านวัสดุเกี่ยวกับพลังงาน มีขี้นระหว่างวันที่ 5-6 กุมภาพันธ์ ร่วมจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ Korea Science and Engineering Foundation (KOSEF) โดยมีนักวิจัยด้านวัสดุจากประเทศไทยและเกาหลี เข้าร่วมทำเสนอผลงานวิจัยประเทศละ 9 คน
นางชูศรี กี่ดำรงกุล ผู้อำนวยการโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า โครงการความร่วมมือด้านการวิจัยระหว่างประเทศไทยและเกาหลี มีมากว่า 10 ปี โดยนักวิจัยเกาหลีมีความยินดีที่จะถ่ายทอดประสบการณ์การทำวิจัย รวมถึงแลกเปลี่ยนความรู้ในด้านที่ไทยขาดมาโดยตลอด
ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com
Link: http://www.bangkokbiznews.com/2007/02/06/WW54_5401_news.php?newsid=3053
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment