นักประดิษฐ์ไทย จุดเริ่มต้นของเศรษฐกิจพอเพียง
“ถ้าเรามาใช้ของไทย ซื้อของไทย เที่ยวเมืองไทย กินข้าวไทย อันนี้ได้ประโยชน์ แต่ว่ายังไม่แก้ปัญหา ปัญหามีอยู่ว่า ผู้ที่ทำกลองนี้เขามีบริษัทนำเข้าสินค้าที่เขาขาย เขาบอกว่าแย่ เขานำเข้าสินค้าเข้ามาขายในราคาเดิม เพราะมีการตกลงราคมกันอยู่แล้ว เมื่อของเข้ามาก็จะต้องเสียเงินแพง เขาบอกขาดทุน แต่เขามีความคิดอยู่ เขาสามารถที่จะผลิตกลองนี้และส่งนอก ส่งไปที่อเมริกาส่วนหนึ่ง การสั่งของจากต่างประเทศก็มีความจำเป็นบ้าง ในบางกรณี แต่ว่าสามารถที่จะส่งออกนอก ซึ่งผลิตผลที่ทำในเมืองไทยก็จะดีกว่า”
พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม พ.ศ.2540
แม้ว่าจะผ่านล่วงเลยมาเป็นเวลา 10 ปี พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังสะท้อนแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงที่ทรงเน้นย้ำเสมอถึงการพึ่งพาตนเองเท่าที่จำเป็นให้มากที่สุด อะไรที่สร้างเองได้พอมีทางพึ่งพาตัวเองได้ก็ไม่ผิดมากที่สุด อะไรที่สร้างเองได้พอมีทางพึ่งพาตัวเองได้ก็ไม่ผิดถ้าคิดจะลองทำ แม้แต่ในหลวงของเราก็ทรงเป็นนักประดิษฐ์และคิดค้นสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ ด้วยวัสดุที่พอจะหาได้ในประเทศให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
จุดเริ่มต้นวันนักประดิษฐ์
สิ่งประดิษฐ์ที่ถือเป็นความภูมิใจของไทยทั้งชาติและยังเป็นจุดเริ่มต้นวันนักประดิษฐ์แห่งชาติ ก็คือกังหันน้ำชัยพัฒนา ที่ทรงออกแบบขึ้นจากน้ำพระราชหฤทัยที่ทรงเล็งเห็นวิกฤตน้ำเน่าเสียในหลายพื้นที่ของประเทศ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงออกแบบเครื่องต้นแบบขึ้นในปี 2532 จากนั้นจึงโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิชัยพัฒนานำไปปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น จนเครื่องสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยอาศัยหลักการทำงานง่ายๆ แต่ได้ผล ด้วยการเพิ่มออกซิเจนในน้ำในเวลาที่ซองใบพัดกังหันวิดน้ำขึ้นมาในอากาศ น้ำจะแตกออกเป็นฟองอากาศให้ออกซิเจนในอากาศเข้าไปจับตัวกับน้ำ เป็นการเพิ่มปริมาณออกซิเจนให้แหล่งน้ำในตัว ผลที่ตามมาจากปริมาณออกซิเจนที่เพิ่มขึ้นก็คือ เชื้อจุลินทรีย์ในน้ำจะย่อยสลายสิ่งปฏิกูลในน้ำเสียให้กลายเป็นน้ำดีได้ในที่สุด
กังหันน้ำชัยพัฒนาของพระบาทสมเด็จพรเจ้าอยู่หัว จึงได้รับการจดสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาภายใต้พระปรมาภิไธย เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2536 นอกจากนี้ยังได้รับรางวัลเหรียญทองจาก “The Belgian Chamber of Inventor” ภายในงาน “Brussels Eureka 2000” ซึ่งเป็นงานแสดงสิ่งประดิษฐ์ใหม่ของโลกวิทยาศาสตร์ ณ กรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยียม จนทุกวันนี้กังหันน้ำชัยพัฒนากลายเป็นเครื่องมือบำบัดน้ำเสียในแหล่งน้ำต่างๆ ที่นิยมกันอย่างแพร่หลายมากที่สุดของประเทศไทย และด้วยความสำนึกในพระมหา
กรุณาธิคุณ พสกนิกรชาวไทยจึงพร้อมใจให้ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็นวันนักประดิษฐ์นับแต่นั้นเป็นต้นมา
เป็นนักประดิษฐ์ที่ดี
ผู้ที่เข้าชมงานวันนักประดิษฐ์ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนาเมื่อเร็วๆ นี้ น่าจะได้เห็นสิ่งประดิษฐ์น่าตื่นตาตื่นใจมากมายหลายชิ้น โดยเฉพาะสิ่งประดิษฐ์ประเภทหุ่นยนต์ที่เพิ่มมากกว่าทุกๆ ปี แสดงให้เห็นถึงความสนใจของนักประดิษฐ์รุ่นใหม่ๆ ที่สนใจทางด้านนี้เพิ่มมากขึ้น รวมทั้ง สิ่งประดิษฐ์ที่เป็นของใช้ในชีวิตประจำวันต่างๆ ก็มีประชาชนให้ความสนใจปละขอซื้อไปไม่น้อย
แต่เส้นทางการเป็นสุดยอดนักประดิษฐ์ยังคงยาวไกลนัก พ.ต.ทรงพล เอี่ยมบุญฤทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท
พรีซิพาร์ท 1 ในผู้เข้าร่วมแสดงงานวันนักประดิษฐ์ ฝากให้คำแนะนำให้นักประดิษฐ์รุ่นลูกรุ่นหลานว่า...
“การเป็นนักประดิษฐ์ที่ดี ไม่ว่าจะประดิษฐ์หุ่นยนต์ ตัดต่อพันธุกรรม เครื่องมือเครื่องใช้ทางการเกษตร หรือเครื่องมือเครื่องใช้ในวงการต่างๆ สิ่งที่สำคัญของนักประดิษฐ์ คือต้องเอาใจเราไปใส่ในตัวผู้ใช้เพื่อจะรู้ว่าเขาต้องการอะไรแล้วถึงจะสร้างเครื่องมือออกมาให้ได้อย่างที่เขาต้องการเท่าที่จำเป็นในทุกๆ ด้าน และเหมาะสมกับการใช้งานให้มากที่สุด นักประดิษฐ์หลายคนมักจะสร้างเครื่องมือด้วยความหวังดี โดยจับเอาเทคโนโลยีทุกอย่างที่ทำได้ใส่เข้าไปโดยไม่คำนึงถึงผู้ใช้ สุดท้ายเครื่องมือที่สร้างมา ก็มีราคาแพงเกินความจำเป็น โดยที่ผู้ใช้ไม่มีโอกาสจะได้ใช้ด้วยซ้ำ”
พ.ต.ทรงพล เสริมด้วยว่า นากจากเอาใจเขามาใส่ใจเราแล้ว นักประดิษฐ์จะต้องเปิดใจให้กว้าง ไม่ยึดติดอยู่ในกรอบที่ตัวเองสร้างเอาไว้ แสวงหาความรู้ใหม่ๆ และรู้จักปรับปรุงสิ่งประดิษฐ์ของตัวเองให้ดียิ่งๆ ขึ้น ที่สำคัญ อย่าท้อถอยเพราะอุปสรรคจะทำให้เราเรียนรู้ว่าอะไรที่สร้างได้ อะไรที่สร้างไม่ได้ และเราแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร “ตัวอย่างนักประดิษฐ์ที่ดีที่สุดที่มีชีวิตอยู่ก็คือ โชอิจิโร่ ฮอนด้า ชายผู้นี้ไม่ได้เรียนจบปริญญาสูงส่ง แต่เขามีความมุ่งมั่นพยายามที่เรียนรู้สิ่งที่เขาสงสัย ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค และไม่มีคำว่าทำไม่ได้สำหรับชายคนนี้ มีแต่คำว่าจะหาหนทางทำให้ได้อย่างไร ได้อย่างไร ฮอนด้าจึงสามารถสร้างรถยนต์ สร้างนักประดิษฐ์รุ่นใหม่ๆ จนคิดค้นพัฒนาหุ่นยนต์และสิ่งต่างๆ มากมายจนกลายเป็นหนึ่งในความภูมอใจของชาวญี่ปุ่นได้ในที่สุด”
ปัญหาของนักประดิษฐ์ไทย
เราเคยผ่านงานจัดแสดงสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมของคนไทยมามากมายหลายงาน แต่ทำไมสิ่งประดิษฐ์เหล่านี้ถึงได้สูญหายไปอย่างน่าเสียดายและเสียดายยิ่งกว่า ถ้าสิ่งที่คนไทยเราคิดถูกต่างชาติเอาไปจดสิทธิบัตรเป็นของตัวเอง จนเป็นคำถามค้างคาใจหลายๆ คนว่า ทำไมผลงานของคนไทย ถึงไม่เป็นที่นิยมทำออกมาในรูปแบบการค้าให้แพร่หลาย ทั้งๆ ที่สิ่งประดิษฐ์หลายชิ้นที่ออกมา แม้เป็นแค่เครื่องต้นแบบที่ขึ้นชื่อว่ามีต้นทุนสูงที่สุดในกระบวนการทั้งหมด ยังมีราคาถูก และมีประสิทธิภาพในการใช้งานดีกว่าเครื่องนำเข้าที่ราคาแพงเป็นเท่าตัวด้วยซ้ำ
“นักประดิษฐ์ไทยนั้นเกิดได้ยาก ถ้าเขายังยึดติดอยู่กับระบบราชการที่สร้างผลงานเพียงรู้ว่า เราก็ทำได้ไม่แพ้ต่างชาติ ทำออกมาเพื่อโชว์ในงานจัดแสดงให้ทุกคนชื่นชม จากนั้นก็เก็บเข้าโรงเก็บของเก่า รอวันเอาออกมาโชว์ใหม่ มีเหมือนกันที่มีคนไทยระดิษฐ์ แล้วทำสินค้าใหม่ๆ ออกมา แต่ไม่มีหน่วยงานไหนยอมรับซื้อหาว่าผิดสเปก แล้วไปสั่งของต่างชาติมาใช้ในราคาแพงๆ แบบเกินความจำเป็น สุดท้ายแล้วนักประดิษฐ์เหล่านี้ก็ค่อยๆ ล้มหายตายจากไปในที่สุด
ที่แย่กว่านั้นก็คือ กฎหมายลิขสิทธิ์ไทยก็อ่อนแอไม่สามารถปกป้องคุ้มครองได้ ผมประดิษฐ์เครื่องมือช่วยเหลือตำรวจทหารในภาคใต้ ประดิษฐ์เครื่องมือตรวจหาระเบิดใต้ท้องรถ จดลิขสิทธิ์ทุกอย่าง แต่ก็ยังโดนก๊อบปี้ไปขาย แต่ก็ช่างเถอะเพราะเราคิดว่าสิ่งที่เราคิดเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อส่วนรวม ทุกวันนี้สิ่งที่ผมประดิษฐ์มาไม่เคยเอาไปจดสิทธิบัตรเลย เพราะรู้ว่าจดไปก็เท่านั้น” พ.ต.ทรงพล บอกถึงปัญหาของนักประดิษฐ์ไทย ในฐานะผู้คร่ำหวอดในวงการนักประดิษฐ์มายาวนานกว่า 20 ปี
แม้ว่า ดูๆ ไปแล้ว อนาคตนักประดิษฐ์ในประเทศไทยไม่ได้สดใสเหมือนต่างประเทศ แต่ด้วยการที่แนวทางของประเทศเน้นการชูประเด็นเศรษฐกิจพอเพียง หากมีการส่งเสริมตามวัตถุประสงค์นี้อย่างจริงจัง โลกของนักประดิษฐ์ไทยน่าจะมองเห็นแสงรำไรที่เริ่มสดใสขึ้นแล้ว
ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ TODAY
Sunday, February 11, 2007
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment