Thursday, February 8, 2007

เป้โซลาร์เซลล์

เป้โซลาร์เซลล์เพื่อนร่วมเดินทางไกลแหล่งพลังงานสำรองชาร์จอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชรประดิษฐ์ เป้สะพายติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์สำหรับเป็นแหล่งผลิตไฟป้อนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรศัพท์มือถือ เครื่องเล่นเอ็มพี 3 และคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค

ทีมนักศึกษาคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร ร่วมกันออกแบบเป้สะพายหลังพร้อมชุดโซลาร์เซลล์ โดยมีเป้าหมายเพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงานสำรองสำหรับอุปกรณ์ที่จำเป็นในการเดินป่า อาทิ ไฟฉาย ถ่านชาร์จ และโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น
บัณฑิตย์ ศรีสวัสดิ์ หนึ่งในทีมเจ้าของผลงาน กล่าวว่า การเดินป่าทั้งในเชิงการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และการศึกษาวิจัย นักเดินทางหลายคนจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า "กระเป๋าเดินป่าพลังงานแสงอาทิตย์" โดยการนำแผงเซลล์แสงอาทิตย์มาประยุกต์ใช้กับชุดชาร์จแบตเตอรี่และต่อพ่วงกับชุดจ่ายไฟ สามารถใช้เป็นแหล่งพลังงานสำรองได้เมื่อเดินทางเข้าไปในพื้นที่ไม่มีไฟฟ้าใช้

ชุดอุปกรณ์ดังกล่าวสามารถใช้เป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าให้กับโทรศัพท์มือถือ เครื่องเล่นเอ็มพี 4 ไฟฉาย และถ่านชาร์จ โดยเมื่อตั้งเซลล์แสงอาทิตย์รับแสงแดดเต็มที่เพียง 90 นาที ก็สามารถชาร์จโทรศัพท์มือถือได้เต็มประจุ ในขณะที่เครื่องเล่นเอ็มพี 4 ใช้เวลา 2 ชั่วโมง

แผงโซลาร์เซลล์เป็นอุปกรณ์ที่สามารถหาซื้อได้โดยทั่วไป ดังนั้น ทีมนักศึกษาได้ร่วมกันออกแบบชุดอุปกรณ์ชาร์จไฟสำหรับใช้งานกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยใช้สายยูเอสบี 3 สาย เชื่อมอุปกรณ์กับกล่องวงจร สายยูเอสบี 2 สายแรกใช้ส่งกระแสไฟตามจำนวนโวลต์ที่อุปกรณ์แต่ละชนิดต้องการ ขณะที่สายยูเอสบีตัวสุดท้ายจะจ่ายกระแสไฟขนาด 1 โวลต์ ไปเรื่อยๆ จนการชาร์จเสร็จสิ้น กระแสไฟ 1 โวลต์นี้ก็จะย้อนกลับไปยังแผงวงจรและตัดการจ่ายไฟอัตโนมัติ

ปัญหาของอุปกรณ์ชุดนี้ คือ น้ำหนักที่ผู้ใช้ต้องแบกรับเพิ่มถึง 5 กิโลกรัม ซึ่งอาจจะหนักเกินไปสำหรับการเดินทางไกล อย่างไรก็ตาม สามารถเปลี่ยนแผงโซลาร์เซลล์ให้มีขนาดเล็กลง หรือสามารถติดตั้งกับกระเป๋าเดินป่าได้เลย และมีจำนวนวัตต์เพิ่มขึ้นเป็น 10 วัตต์ สามารถใช้งานกับอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้ไฟมากขึ้น เช่น แบตเตอรี่คอมพิวเตอร์พกพา เป็นต้น

นอกจากนี้ เจ้าของเป้พลังงานไฟฟ้ายังจะปรับโครงสร้างให้น้ำหนักเบาและแข็งแรงขึ้น ซึ่งอาจจะเหลือเพียง 2 กิโลกรัม โดยจะใช้แผงเซลล์แสงอาทิตย์แบบฟิล์มบางที่มีขนาดบางลง จนสามารถติดลงบนตัวกระเป๋าได้ และปรับลดขนาดแผงวงจรให้เล็กลงจนสามารถวางไว้ในกระเป๋า ทำให้ไม่ต้องใช้โครงมารองรับแผงเซลล์แสงอาทิตย์และกล่องวงจรอีกต่อไป ช่วยให้น้ำหนักเบาลงไปอีก

ในการพัฒนาเพื่อให้งานร่วมอุปกรณ์อื่นเพิ่มเติมนั้น บัณฑิต กล่าวว่า สามารถทำได้ เพียงแต่ต้องมีการตรวจเช็ค ดัดแปลงวงจรให้กระแสไฟที่ผลิตได้เข้ากับกระแสไฟที่อุปกรณ์นั้นต้องการใช้ โดยอาจจะมีการเพิ่มวงจรขยายแรงดัน เป็นต้น

ในต่างประเทศ แนวคิดการพัฒนาและออกแบบเทคโนโลยีให้เป็นส่วนหนึ่งของเสื้อผ้า และเครื่องแต่งกายกำลังได้รับความสนใจอย่างมาก ที่ผ่านมามีหลายบริษัทพัฒนาเสื้อที่ติดตั้งเครื่องเล่นเอ็มพี 3 ในตัว รวมถึงเป้สะพายที่ติดอุปกรณ์ผลิตไฟฟ้าเชิงกล เมื่อก้าวขาเดิน กลไกที่ติดอยู่กับเป้จะขยับตามและผลิตกระแสไฟฟ้าเก็บไว้ในแบตเตอรี่ขนาดเล็ก

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

No comments: