Friday, February 23, 2007
จับตา! 3 อุปราคา
จับตา! 3 อุปราคาที่ไทยมองเห็นในปีสุริยฟิสิกส์
หลังจันทร์เต็มดวงในคืนวันมาฆบูชาและก้าวเข้าสู่วันที่ 4 มี.ค.จะเกิดปรากฏการณ์ “จันทรุปราคา” ซึ่งเป็นอุปราคาแรกที่เราจะเห็นในปีนี้ โดยตลอดทั้งปีเราจะได้เห็นอุปราคา 3 ครั้ง เป็นจันทรุปราคาเต็มดวง 2 ครั้งและสุริยุปราคาบางส่วนอีก 1 ครั้ง ทั้งนี้อาจเป็นความโชคดีของคนไทยที่มีโอกาสได้เห็นอุปราคาตลอดทั้งปีถึง 3 ครั้ง เพราะโดยปกติทั่วโลกจะเกิดอุปราคาเฉลี่ย 4 ครั้ง
ดร.ศรันย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) เผยว่าโดยเฉลี่ยทั่วโลกจะเกิดอุปราคา 4 ครั้งต่อปี แต่ใช่ว่าทุกที่จะได้เห็นอุปราคาทุกครั้ง ซึ่งนับว่าปีนี้เมืองไทยโชคดีที่ได้เห็นปรากฏการณ์ดังกล่าวถึง 3 ครั้ง คือ จันทรุปราคาเต็มดวงในเช้าวันที่ 4 มี.ค.และช่วงหัวค่ำวันที่ 28 ส.ค. กับสุริยุปราคาบางส่วนในวันที่ 19 มี.ค.
แม้จะมีโอกาสได้เห็นอุปราคาถึง 3 ครั้ง แต่ ดร.ศรันย์ก็ชี้ว่าเราคงเห็นปรากฏการณ์ดังกล่าวไม่สมบูรณ์นัก โดยกล่าวถึงอุปราคาแรกที่จะเกิดจันทรุปราคาเต็มดวงในช่วงเช้าวันที่ 4 มี.ค. ที่ดวงจันทร์จะเริ่มเข้าสู่เงามืดของโลกในเวลา 4.30 น. และเต็มดวงในเวลา 5.43 น. ซึ่งไม่นานก็ตกลับขอบฟ้าและดวงอาทิตย์ก็จะขึ้นจากขอบฟ้า ทั้งนี้จะเห็นจันทรคราสเต็มดวงอยู่สูงจากขอบฟ้า 10 องศา ส่วนบริเวณที่จะเห็นอุปราคาดังกล่าวอย่างสมบูรณ์คือทวีปยุโรปและแอฟริกา
อีกปรากฏการณ์คือสุริยุปราคาบางส่วนที่จะเห็นได้ทุกภาค ยกเว้นจังหวัดทางใต้ตั้งแต่ จ.สงขลาลงไปจะไม่เห็น โดยที่สงขลานั้นดวงอาทิตย์ถูกบดบังน้อยมากจนมองไม่เห็น ทั้งนี้จังหวัดที่อยู่ทางเหนือจะเห็นดวงอาทิตย์ถูกบดบังได้มาก โดยเฉพาะ จ.เชียงราย และ จ.เชียงใหม่จะเห็นดวงอาทิตย์บดบังสูงสุด 28 % ซึ่งอาจจะถ่ายทอดสดปรากฏการณ์นี้เพราะต้องใช้กล้องที่มีแผ่นกรองแสงและไม่สามารถมองด้วยตาเปล่าได้
ส่วนอุปราคาสุดท้ายที่คนไทยจะได้เห็นในรอบปีนี้คือจันทรุปราคาเต็มดวงในวันที่ 28 ส.ค. ซึ่งจะเห็นได้ในช่วงหัวค่ำ ดร.ศรันย์ก็ชี้ว่าจะเห็นไม่สมบูรณ์เช่นกัน โดยคนไทยจะไม่ได้เห็นช่วงที่คราสเริ่มบังดวงจันทร์ แต่จะเห็นอีกทีตอนคราสเต็มดวงแล้วและโพล่พ้นขอบฟ้า ซึ่งหากสังเกตที่กรุงเทพก็จะเห็นว่าคราสเริ่มถอยออกแล้ว แต่หากสังเกตที่อุบลราชธานีก็จะเห็นคราสเต็มดวงสักพักก่อนจะถอยออก
“มี.ค.น่าจะเป็นโอกาสได้เห็นอุปราคามากที่สุด และเป็นเช้าวันอาทิตย์พอดี” ดร.ศรันย์ให้ความเห็น โดยชี้ว่าอุปราคาหลังคืนวันมาฆบูชานั้นไม่มีอุปสรรคเรื่องฝนที่อาจจะกลายเป็นอุปสรรคในการสังเกตอุปราคาเดือน ส.ค.ซึ่งเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว อีกทั้งจันทรคราสในเดือน มี.ค.ยังอยู่สูงจากขอบฟ้า 10 องศา ขณะที่จันทรคราสในเดือน ส.ค.นั้นอยู่ตรงขอบฟ้าพอดีซึ่งอาจจะมีอะไรบดบัง
อย่างไรก็ดียังมีอุปราคาที่เกิดขึ้นในปีนี้แต่คนไทยจะไม่ได้เห็นคือปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนในวันที่ 11 ก.ย. ซึ่งบริเวณที่จะเห็นได้คือ บางส่วนทางตอนใต้ของทวีปอเมริกาใต้ บางส่วนของแอนตาร์กติกา ด้านตะวันออกเฉียงใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก และด้านตะวันตกเฉียงใต้ของมหาสมุทรแอตแลนติก
นอกจากนี้ ดร.ศรันย์ยังได้อธิบายความสำคัญของปี 2550 ซึ่งถือเป็นปีสุริยฟิสิกส์สากล (International Heliophysical Year) ว่า สหประชาชาติหรือยูเอ็นเป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ที่ต้องการให้ทั่วโลกได้ศึกษาผลกระทบของดวงอาทิตย์ที่มีต่อโลกในแง่มุมต่างๆ ที่ไม่ใช่เพียงแสงสว่างเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นด้านการสื่อสาร ปรากฏการณ์แสงออโรรา คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรืออนุภาคต่างๆ แล้วเก็บเป็นข้อมูลวิจัยที่นำไปใช่ร่วมกันทั่วโลก
“เหตุผลที่เลือกให้ปีนี้เป็นสุริยฟิสิกส์ เพราะครบรอบ 50 ปีธรณีฟิสิกส์สากล (International Geophysics Year) ที่จัดขึ้นเมื่อปี 2500 และเป็นการขยายจากการศึกษาจากโลกสู่ดวงอาทิตย์ โดยศึกษาผลกระทบที่โลกได้รับ อีกทั้งยังครบรอบ 50 ปีที่โลกได้ส่งยานอวกาศเป็นครั้งแรก นั่นคือยานสปุตนิก 1 ของรัสเซีย” ดร.ศรันย์อธิบาย
ที่มา: http://www.manager.co.th
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000022034
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment