มหิดลพัฒนาพลาสติกกันกระสุน
ทีมวิจัยมหิดลพัฒนาเกราะกันกระสุนจากพลาสติก ผลงานวิจัยต่อยอดจากโครงการพัฒนาพลาสติกทนแรงกระแทกสูงเพื่อการขนส่งในภาคอุตสาหกรรม
ดร.กิติกร จามรดุสิต คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ทีมงานอยู่ระหว่างดำเนินโครงการวิจัยพัฒนาเกราะกันกระสุน ที่ทำมาจากพลาสติกอะคริลิก ซึ่งผ่านการวิจัยให้มีคุณสมบัติทนแรงกระแทกสูงได้เป็นพิเศษ เพื่อทดแทนเกราะที่ทำจากโพลิคาร์บอนเนตซึ่งมีราคาแพง
การพัฒนาเกราะกันกระสุนจากพลาสติกใกล้แล้วเสร็จ ในเบื้องต้นพบว่าแผ่นอะคริลิกที่ผ่านการพัฒนาในความหนา 10 มิลลิเมตร สามารถกันกระสุน .38 ได้ ทีมวิจัยจึงตั้งเป้าที่จะพัฒนาแผ่นอะคริลิกขนาด 20 มิลลิเมตร ให้สามารถกันกระสุน .9 และ 11 มม.
ทั้งนี้ผลการทดสอบแรงกระแทกของกระสุนพบว่ากระสุนสามารถเจาะเข้าไปในเนื้ออะคริลิกได้เพียง 4 มิลลิเมตร จึงมีความหวังที่จะพัฒนาเป็นเกราะกันกระสุน ที่มีน้ำหนักเบา และราคาถูกกว่านำเข้า 3-4 เท่า ได้ในอนาคต
"ผลงานวิจัยพลาสติกกันกระสุนนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาคุณสมบัติพลาสติกอะคริลิก ให้สามารถทนแรงกระแทกได้เป็นพิเศษ ซึ่งเป็นโจทย์จากบริษัทแพน เอเชีย อุตสาหกรรม จำกัด ที่ต้องการพัฒนาพลาสติกให้ทนทาน ไม่เปราะหรือแตกง่าย ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาในขั้นตอนการขนส่ง โดยได้รับทุนวิจัย 4 แสนบาทจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ส่วนทีมงานเป็นนักศึกษาปริญญาตรี 9 คน ร่วมทำวิจัยกับภาคเอกชน ใช้เวลากว่า 3 ปี" ดร.กิติกร กล่าว
งานวิจัยดังกล่าวมีโครงการวิจัยที่เกี่ยวข้อง 4 โครงการ ได้แก่ โครงการพัฒนาอะคริลิกให้สามารถทนแรงกระแทกสูง โดยผสมยางธรรมชาติเข้ากับเนื้อพลาสติก ในอัตราส่วนที่เหมาะสม กระทั่งพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์หน้ากากกันแรงกระแทกและอ่างอาบน้ำ วางขายอยู่ในท้องตลาด โครงการพัฒนาเศษอะคริลิกเหลือใช้มาผลิตเป็นชิ้นงานใหม่ โดยยังคงความประสิทธิภาพในการใช้งาน ทนความร้อนและรังสียูวีได้เทียบเท่ากับชิ้นงานใหม่
โครงการวิจัยแผ่นป้ายประหยัดพลังงานและแผ่นโฆษณาอะคริลิกสีขาวประหยัดพลังงาน และโครงการวิจัยแผ่นอะคริลิกมุก เคลือบมุก และแผ่น Beauty Soft เพิ่มคุณสมบัติความสวยงามของพลาสติก
นายโสรัตต์ วณิชวรากิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัทแพน เอเชีย อุตสาหกรรม จำกัด กล่าวว่า การทำงานวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัย โดยมีภาครัฐให้การสนับสนุนทุน ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสู้กับตลาดโลกได้มากขึ้น เพราะงานวิจัยมีส่วนช่วยพัฒนาคุณภาพของสินค้า รวมถึงลดต้นทุนการผลิตให้ถูกลง
“ธุรกิจพลาสติกมีการแข่งขันที่รุนแรงมาก หากผู้ผลิตไม่พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความแปลกใหม่ ก็จะไม่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้ ซึ่งการวิจัยและพัฒนาจำเป็นต้องลงทุนสูง จึงเป็นอุปสรรคที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่กล้าเสี่ยง” นายโสรัตต์ กล่าว
รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า สกว.ให้ทุนวิจัยแก่นักศึกษามหาวิทยาลัย เพื่อทำงานวิจัยร่วมกับเอกชน โดยรับฟังปัญหาจากภาคเอกชนมาใช้เป็นโจทย์ในการวิจัย ในโครงการทุนวิจัยระดับปริญญาตรี หรือ IRPUS ตั้งแต่ปี 2545 ปีละ 250 ทุน ในปีที่ผ่านมา มีบริษัทเอกชนเข้าร่วมวิจัย 179 ราย สำหรับปี 2550 ได้รับความร่วมมือจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สนับสนุนทุนวิจัย จึงขยายทุนเพิ่มเป็น 1,000 ทุน คาดว่าจะมีนักศึกษาเข้าร่วมโครงการไม่ต่ำกว่า 2,200 คน
ทั้งนี้ สกว.จะจัดแสดงนิทรรศการผลงานวิจัย ในโครงการ IRPUS ไม่ว่าจะเป็นงานวิจัยในอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมไฮเทค และอุตสาหกรรมพลาสติก ที่ทำร่วมกันระหว่างนักศึกษาและบริษัทเอกชนขนาดกลางและขนาดย่อม มาจัดแสดงรวมกว่า 250 ชิ้น ในวันที่ 20-22 เมษายนนี้ ที่ สยามพารากอน
ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com
Link: http://www.bangkokbiznews.com/2007/02/20/WW54_5401_news.php?newsid=55328
Thursday, February 22, 2007
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment