Sunday, February 4, 2007

ทศวรรษแห่งการสำรวจดวงจันทร์

ทศวรรษแห่งการสำรวจดวงจันทร์ (2)

สัปดาห์ที่แล้วผมได้พูดถึงโครงการสำรวจดวงจันทร์ด้วยยานอวกาศ 2 ลำ ของะเทศญี่ปุ่นไปแล้ว ซึ่งหนึ่งในนั้นมีแนวโมว่าจะถูกระงับโครงการ ส่วนอีกลำหนึ่งมีกำหนดส่งออกไปในกลางปี 2550 ในสัปดาห์นี้เราจะมาดูโครงการของประเทศอินเดียและจีนกันบ้างครับ

จันทรายาน 1
ประเทศอินเดียเริ่มคิดถึงความเป็นไปได้ที่จะส่งยานอวกาศไปสำรวจดวงจันทร์มาตั้งแต่ปี 2542 ระหว่างการหารือในที่ประชุมบัณฑิตยสภาวิทยาศาสตร์แห่งอินเดีย และในการประชุมของสมาคมอวกาศยานศาสตร์เมื่อปี 2543 ต่อมาแนวความคิดเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นเมื่อองค์การวิจัยอวกาศอินเดียได้แต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจขึ้น อันประกอบด้วยวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์จากหลายสาขา เพื่อศึกษาลึกลงไปในปี 2546 และตั้งชื่อว่าโครงการว่า “จันทรายาน” ในเดือนพฤศจิกายน 2546

ยานอวกาศลำแรกของโรงการใช้ชื่อว่า จันทรายาน-1 (Chandrayaan-1) วัตถุประสงค์หลักคือ ศึกษาแร่ธาตุและองค์ประกอบทางเคมีบนพื้นผิวดวงจันทร์ รวมทั้งทำแผนที่สามมิติที่ความละเอียดสูงของดวงจันทร์ทั้งดวง การส่งยานคาดว่าจะมีขึ้นในช่วงต้นปี 2551 ใช้เวลาประมาณ 5 วันครึ่งจึงเดินทางไปถึงเป้าหมายจากนั้นยานจะไปโคจรรอบดวงจันทร์ที่ระดับความสูง 100 กิโลเมตร วงโคจรของจันทรายาน-1 จะผ่านขั้วเหนือและใต้ของดวงจันทร์ซึ่งช่วยให้สามารถทำแผนที่ดวงจันทร์ได้ทั้งดวง โดยจุดสนใจหลักยังคงมุ่งไปที่ขั้วดวงจันทร์ ซึ่งยังเป็นที่สงสัยกันอยู่ว่ามีน้ำแข็งอยู่หรือไม่ คาดว่าอายุการใช้งานของจันทรายาน-1 จะยาวนานประมาณ 2 ปี และข้อมูลจากยานลำนี้อาจมีส่วนช่วยสหรัฐตำแหน่งที่เหมาะสมในการก่อสร้างฐานมั่นบนดวงจันทร์

หลังจากโครงการจันทรายาน-1 แล้ว มีรายงานว่าอินเดียจะส่งจันทรายาน-2 นำรถสำรวจไปลงบนพื้นผิวดวงจันทร์ในปี 2553-2554 เพื่อศึกษาดวงจันทร์ในด้านธรณีวิทยา

ยานฉางเอ๋อ
คุณผู้อ่านที่เป็นชาวไทยเชื้อสายจีนหรือเคยอ่านตำนานเกี่ยวกับดวงจันทร์ของชาวจีนคงคุ้นเคยชื่อนี้ดี ถูกต้องทีเดียวครับที่ยานฉางเอ๋อของประเทศจีนนั้นตั้งชื่อตามเทพธิดาบนดวงจันทร์ ตามตำนานที่ถูกหยิบมาเล่าขานกันเสมอๆ ในช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์

จีนเริ่มให้ความสนใจต่อการสำรวจดวงจันทร์มาตั้งแต่ปี 2534 แต่กว่าโครงการจะเริ่มอย่างเป็นทางการก็ล่วงไปถึงปี 2541 เดือนมกราคม 2547 สภารัฐมนตรีของจีนได้อนุมัติโครงการสำรวจดวงจันทร์จากวงโคจร (Lunar Orbiting Exploration Project) เดือนต่อมาได้มีการประชุมของเหล่าผู้ที่เกี่ยวข้องในโครงการนี้เป็นครั้งแรก และตั้งชื่อโครงการสำรวจดวงจันทร์ว่าฉางเอ๋อ


โครงการฉางเอ๋อแบ่งออกเป็นระยะต่างๆ โดยเริ่มต้นด้วยการส่งยานฉางเอ๋อ-1 ขึ้นสู่อวกาศในกลางเดือนเมษายน 2550 วัตถุประสงค์หลักของยานฉางเอ๋อ-1 คล้ายคลึงกันมากกับยานจันทรายาน-1 ของอินเดีย ที่คล้ายกันอีกก็คือ ระยะต่อไปจะมีการส่งยานฉางเอ๋อ-2 เพื่อนำรถไปลงสำรวจดวงจันทร์ในปีเดียวกันกับจันทรายาน-2 ตามมาด้วยการส่งยานไปเก็บตัวอย่างดินกลับมาศึกษาบนโลก และจีนก็คาดหวังว่าจะสามารถส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์ในทศวรรษหน้า

สัปดาห์หน้าผมจะมาปิดท้ายบทความชุดนี้ด้วยโครงการสำรวจดวงจันทร์ของรัสเซียและสหรัฐอเมริกาครับ

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ TODAY

No comments: