เปิดรายงาน "โลกร้อน" มนุษย์คือตัวการและยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุด4 February 2007
เอเจนซี/เอพี - นักวิทยาศาสตร์จาก 113 ประเทศได้นำรายงานเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกฉบับสำคัญออกเผยแพร่ โดยระบุว่าพวกเขาแทบไม่แปลกใจที่จะบอกว่า "มนุษย์" เป็นตัวการสำคัญทำให้เกิดโลกร้อน และทำนายว่าอุณหภูมิจะยังคงเพิ่มสูงขึ้นและระดับน้ำทะเลยังคงเพิ่มต่อเนื่องไปนับศตวรรษ นอกจากนี้ยังกดดันรัฐบาลต่างๆ ให้ลงมือต่อสู้กับภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วให้มากกว่านี้ นับเป็นคำเตือนอันหนักแน่นที่สุดเท่าที่เคยมีมา
คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ (IPCC) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านโลกร้อนที่รวบรวมนักวิทยาศาสตร์ 2,500 คนจากกว่า 130 ประเทศ เปิดเผยรายงานความยาว 21 หน้า ที่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาถึงสถานการณ์โลกร้อนที่เกิดขึ้น โดยอธิบายว่าสถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร และเพราะเหตุใด เมื่อวันที่ 2 เดือน 2 และยังมีรายงานอีก 2 ฉบับจะเปิดเผยติดตามมาในไม่ช้า
รายงานของไอพีซีซีระบุว่า "เป็นไปได้อย่างมาก" ซึ่งมีแนวโน้มมากกว่า 90% ที่กิจกรรมที่มนุษย์เป็นผู้ก่อให้เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล (เช่นน้ำมัน, ก๊าซ, ถ่านหิน) เป็นสาเหตุเกือบทั้งหมดของการเกิดภาวะโลกร้อนในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา
ตัวเลขดังกล่าวหนักแน่นขึ้นกว่ารายงานฉบับที่แล้วเมื่อปี 2001 ซึ่งไอพีซีซีระบุว่า ความเกี่ยวเนื่องดังกล่าวอยู่ในระดับ "เป็นไปได้" โดยมีแนวโน้มอยู่ที่ 66% สัญญาณเตือนของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศนั้น มีปรากฏให้เห็นแล้วตั้งแต่ ภาวะแห้งแล้งในออสเตรเลีย ไปจนถึง อุณหภูมิเดือนม.ค.ที่สูงทำลายสถิติทั่วยุโรป
"วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2007 น่าจะได้รับการจดจำว่า เป็นวันที่เครื่องหมายคำถามเรื่องมนุษย์เป็นตัวการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือไม่ ได้ถูกกำจัดออกไป" อาชิม สไตเนอร์ (Achim Steiner) ประธานโครงการสิ่งแวดล้อมของยูเอ็น (UNEP) กล่าวในการแถลงข่าว
เขาเร่งให้รัฐบาลต่างๆ เพิ่มแรงผลักดันในการเจรจาตัดลดการปล่อยไอเสียในระยะยาว เพื่อแก้ปัญหาระดับก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ ซึ่งไม่เคยสูงเท่านี้มาก่อนในรอบ 650,000 ปีที่ผ่านมา
"ยึดตามหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เรากำลังทำในสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นใน 650,000 ปี" ราเชนทรา ปาจาอุรี (Rajendra Pachauri) ประธานไอพีซีซี แถลง
ข้อสรุปความยาว 21 หน้านี้ ให้โครงร่างการเปลี่ยนแปลงอันน่ากลัว อาทิ น้ำแข็งในทะเลที่ขั้วโลกเหนืออาจละลายหมดในหน้าร้อนภายในปี 2100 และระบุด้วยว่า "เป็นไปได้มากกว่าเป็นไปไมได้" ที่ก๊าซเรือนกระจกได้ทำให้พายุหมุนเขตร้อนมีความรุนแรงมากขึ้น
รายงานดังกล่าว "ประมาณแบบเจาะจงที่สุด" ว่า อุณหภูมิจะเพิ่มสูงขึ้น 1.8 - 4 องศาเซลเซียส ในศตวรรษที่ 21 นี้ โดยได้ประมาณอย่างกว้างกว่าด้วย เอาไว้ที่ 1.1-6.4 องศาเซลเซียส
ทั้งนี้อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น 0.7 องศาเมื่อศตวรรษที่ 20 และ 10 ปีที่ร้อนที่สุดนับตั้งแต่มีการเก็บสถิติมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1850 อยู่ในปีหลังปี 1994 เป็นต้นมา
เจ้าหน้าที่จากยูเอ็นหวังว่ารายงานดังกล่าวจะทำให้รัฐบาลต่างๆ นำโดยสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันดับ 1 รวมทั้งบริษัทต่างๆลงมือตัดลดก๊าซเรือนกระจกให้มากกว่านี้ ซึ่งก๊าซดังกล่าวถูกปล่อยออกมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลในโรงไฟฟ้า โรงงาน และรถยนต์ เป็นส่วนมาก
ผู้สนับสนุนพิธีสารเกียวโตของยูเอ็น (อนุสัญญาที่ผูกพันให้ประเทศอุตสาหกรรม 35 ประเทศ ตัดลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2012) จำนวนมาก ต้องการให้ประเทศที่ไม่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมมากกว่านี้ ที่ผ่านมา สหรัฐฯและจีนยังไม่ยอมตกลงทำตามเป้าหมายของพิธีสารดังกล่าว
ประธานาธิบดีของคิริบาตี ประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งถูกคุกคามจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น ระบุว่า เวลานั้นเหลือน้อยลงทุกที
"คำถามก็คือ เราทำอะไรได้ตอนนี้? เราแทบจะทำอะไรไม่ได้เพื่อหยุดกระบวนการนั้น" ประธานาธิบดี อะโนเท ทอง กล่าว
รายงานดังกล่าว คาดการณ์ว่า ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มสูงขึ้น 18 ถึง 59 ซม. ในศตวรรษนี้ และระบุว่า ยังเป็นไปได้ที่จะเพิ่มสูงกว่านี้หากแผ่นน้ำแข็งในทวีปแอนตาร์กติกาและเกาะกรีนแลนด์ละลาย
นักวิทยาศาสตร์ระดับแนวหน้าบางคนไม่เห็นด้วยกับร่างก่อนหน้าที่ลดขอบเขตจากที่ปี 2001 คาดไว้ว่าน้ำทะเลจะเพิ่มสูงขึ้น 9 ถึง 88 ซม.ภายในปี 2100 ทั้งนี้ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นจะคุกคามประเทศอย่าง คิริบาตี ตลอดจนเมืองริมทะเลต่างๆ นับตั้งแต่ เซี่ยงไฮ้ ถึงบัวโนสไอเรส
ที่มา: http://www.manager.co.th
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000013816
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment