Friday, February 2, 2007

ผลิตนักบริการรุ่นใหม่


สามกระทรวงผนึกไอบีเอ็มผลิตนักบริการรุ่นใหม่

กระทรวงวิทยาศาสตร์จับมือ ศธ.และไอซีที นำหลักสูตรวิทยาการบริการ ที่คิดค้นโดยไอบีเอ็ม มาผลิตบุคลากรด้านบริการไอทีรองรับความต้องการตลาดโลก นำร่องเปิดสอนใน 8 มหาวิทยาลัยชั้นนำ
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พร้อมด้วย นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รับผิดชอบงานด้านสังคม ร่วมเป็นประธานลงนามข้อตกลงกับบริษัท ไอบีเอ็ม จำกัด และสถาบันอุดมศึกษา 8 แห่งดำเนินโครงการผลิตบุคลากรด้านวิทยาการบริการ (Services Sciences, Management and Engineering) ซึ่งพัฒนามาจากหลักสูตรต้นแบบที่พัฒนาโดยไอบีเอ็ม
“กระทรวงวิทยาศาสตร์สนับสนุนข้อมูลในส่วนวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และไอทีที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้เชี่ยวชาญจาก สวทช.ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (ซิป้า) นำความรู้ด้านไอทีมาผนวกกับความรู้ด้านการบริการ โดยเฉพาะเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ระบบเปิดหรือโอเพ่นซอร์ส และอาร์เอฟไอดี” ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าว
หลักสูตรดังกล่าวมุ่งนำกิจกรรมที่กำลังดำเนินการอยู่ในสาขาคอมพิวเตอร์ วิศวกรรม การบริหารธุรกิจและการวางกลยุทธ์ สังคมศาสตร์ และนิติศาสตร์ มาพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยภาคบริการ
ไอบีเอ็มมองว่า เศรษฐกิจโลกได้เปลี่ยนผ่านจากภาคการผลิตมาสู่ภาคบริการมากขึ้น ส่งผลให้บริษัทต่างๆ ต้องเปลี่ยนรูปแบบการบริหารจัดการองค์กรใหม่ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมให้ต้องปรับตัว และมหาวิทยาลัยต้องมีหลักสูตรใหม่ที่ผลิตบุคลากรสำหรับรองรับงานบริการรูปแบบใหม่
นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ไอบีเอ็ม (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ธุรกิจไอทีทั่วโลกมีแนวโน้มไปในด้านวิทยาการบริการอย่างเห็นได้ชัด และไอบีเอ็มได้ก้าวตามกระแสความเปลี่ยนแปลงมาตลอด หลังจากมุ่งพัฒนาฮาร์ดแวร์เพียงอย่างเดียวมา 20 ปี ปัจจุบันเริ่มปรับทิศทางมุ่งตรงมายังธุรกิจบริการมากขึ้น เนื่องจากรายได้มากกว่าครึ่งหนึ่งของบริษัทมาจากการธุรกิจดังกล่าว และไอบีเอ็มทั่วโลกต่างต้องการคนที่มีความสามารถเฉพาะทางเพื่อทำงานในด้านนี้โดยไม่ต้องเริ่มต้นฝึกใหม่
“ประเทศเพื่อนบ้านอย่าง อินเดีย จีนและเวียดนาม กำลังเพิ่มกำลังผลิตบุคลากรด้านนี้ เพื่อรับจ้างผลิตงานจนกลายเป็นธุรกิจบริการที่น่าจับตามอง ไทยเองต้องเร่งพัฒนาคนเช่นกันเพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้” นางศุภจี กล่าว
สำหรับหลักสูตรวิทยาการบริการ ไอบีเอ็มได้นำหลักสูตรต้นแบบที่บริษัทได้ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศ เช่น มหาวิทยาลัยเอ็มไอที และมหาวิทยาลัยยูซี เบิร์กเลย์ มาปรับให้เข้ากับประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นความคู่ด้านไอที วิทยาศาสตร์ และการบริหารจัดการบุคลากร

มหาวิทยาลัย 8 แห่งแรกที่พร้อมนำหลักสูตรดัวกล่าวไปใช้ ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยศรีปทุม และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งเอเชีย นำหลักสูตรไปใช้ในการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย


ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

No comments: