Monday, February 19, 2007

มะเร็งท่อน้ำดี

ความหวังคนจน! ศึกษายีนรักษา “มะเร็งท่อน้ำดี”

นักวิจัย มข.เผยใช้เทคโนโลยียีนพัฒนาชุดตรวจ “มะเร็งท่อน้ำดี” แจงโรคท้องถิ่นคนอีสานไร้คนสนใจ ขาดความรู้แน่ชัด ระยะเวลาก่อโรคนาน 30 ปี ตรวจหาเจอเมื่อถึงระยะสุดท้ายและผู้ป่วยตายภายใน 6 เดือน เผย 80% ของผู้ป่วยมีความเชื่อมโยงระหว่างพยาธิใบไม้ในตับ ชี้ต้องปรับพฤติกรรมกินสุกๆ ดิบๆ

รศ.ดร.โสพิศ วงศ์คำ ภาควิชาชีวเคมี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้ศึกษาโรคมะเร็งท่อน้ำดีมากว่า 10 ปีกล่าวว่าโรคมะเร็งท่อน้ำดีเป็นโรคที่เป็นภัยคุกคามคนอีสาน และเป็นโรคที่ไม่ได้รับความสนใจเพราะเป็นโรคของคนจน ทั้งนี้ 70-80% ของผู้ป่วยมะเร็งเป็นโรคพยาธิใบไม้ในตับมาก่อน และพยาธิใบไม้ในตับยังเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งถึง 14 เท่าเมื่อเทียบกับผู้ไม่เป็นโรคพยาธิดังกล่าว ทั้งนี้พบพยาธิใบไม้ในตับได้ในปลาตะเพียน ปลาขาว ปลาซิว ปลาสร้อย ซึ่งพบมากในเขตภาคอีสาน และวงจรการเติบโตของพยาธิยังเจริญได้ดีในเขตอีสาน

“พยาธิจะเข้าไปรบกวนระบบในท่อน้ำดีแปรปรวน แม้จะกินยาถ่ายพยาธิแต่แผลที่เกิดขึ้นก็นำไปสู่การเกิดโรคมะเร็ง และโรคนี้จะตรวจไม่พบในระยะต้น การฟักตัวของโรคยาวนานถึง 30 ปี กว่าจะตรวจพบก็เป็นระยะสุดท้ายซึ่งรักษาลำบากและผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเสียชีวิตภายใน 6 เดือนหลังจากทราบว่าเป็น อาการที่พบคือ แน่นท้อง ท้องอืด ตัวเหลือง เป็นอาการของดีซ่านเนื่องจากพยาธิไปอุดตันท่อน้ำดี” รศ.ดร.โสพิศอธิบาย

ทั้งนี้เป็นที่ทราบกันมานานแล้วว่าโรคพยาธิใบไม้ในตับ (Opisthorchis viverrini) เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่นำไปสู่การเกิดมะเร็งท่อน้ำดีแต่จำนวนผู้ป่วยมะเร็งก็ยังคงสูง โดยเฉพาะคนอีสานที่มีอุบัติการณ์ของมะเร็งท่อน้ำดีสูงที่สุดในโลก โดยประชากร 100,000 คนจะพบผู้ป่วยชายประมาณ 98 ราย และผู้ป่วยหญิงประมาณ 39 ราย และขณะที่พบมะเร็งชนิดนี้ในภูมิภาคอื่นค่อนข้างน้อย หรือในต่างประเทศก็พบได้น้อย เช่น ประชากรสหรัฐ 100,000 คน พบผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีเพียง 2 คน

รศ.ดร.โสพิศกล่าวว่าแนวทางการรักษาโรคมะเร็งท่อน้ำดียังไม่มีมาตรฐานที่ดีพอ เนื่องจากยังความขาดความรู้และความเข้าใจในโรคนี้อีกมาก โดยการรักษาจะใช้แนวทางเดียวกับการรักษามะเร็งชนิดอื่นคือการใช้เคมีบำบัดและการผ่าตัด แต่เนื่องจากไม่สามารถตรวจพบโรคได้ในระยะแรกจึงทำให้การผ่าตัดไม่ได้ผล และจากประสบการณ์การวิจัยทำให้เห็นแนวโน้มว่าการรักษาโรคนี้ต้องศึกษาลงในระดับยีน

ทั้งนี้ รศ.ดร.โสพิศมีโครงการ “การศึกษายีนที่สัมพันธ์กับมะเร็งท่อน้ำดีเพื่อป้องกัน-วินิจฉัยและรักษาที่มีประสิทธิภาพ” ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนประมาณ 18 ล้านบาทตลอดโครงการ 5 ปี จากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ในโครงการทุนส่งเสริมกลุ่มอาชีพนักวิจัยประจำปี 2549 โดยคาดว่าศึกษาจะนำไปสู่การพัฒนาชุดตรวจดีเอ็นเอของมะเร็งท่อน้ำดี

อย่างไรก็ดี รศ.ดร.โสพิศกล่าวว่า การป้องกันโรคที่ดีที่สุดคือแก้ไขความเข้าใจผิดของคนในพื้นที่อีสาน ซึ่งเข้าใจว่าเพียงรักษาโรคพยาธิหายแล้วก็ปลอดจากโรคมะเร็ง แต่จริงๆ แล้วยังมีความเสี่ยงอยู่ นอกจากนี้ยังมีโครงการศึกษาการตัดวงจรชีวิตของพยาธิที่เจริญเติบโตได้ดีในเขตอีสาน และปลูกฝังความเข้าใจกับเยาวชนให้เลิกการกินอาหารสุกๆ ดิบๆ

ที่มา: http://www.manager.co.th
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000020453

No comments: