Monday, February 12, 2007

รัฐสภาติดตั้งหลังคาโซลาร์เซลล์

รัฐสภาติดตั้งหลังคาโซลาร์เซลล์จ่ายไฟฟ้าใช้ผลิตน้ำร้อน-เครื่องปรับอากาศอาคารสโมสร

สโมสรรัฐสภาตั้งท่าติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ผลิตน้ำร้อนและกระแสไฟฟ้าป้อนเครื่องปรับอากาศ โดยใช้แผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ผลิตโดยหน่วยงานไทย หลังทดลองใช้งานจริงที่โรงพยาบาลบางละมุง และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

นายวิจักษณ์ นาควัชระ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และผู้จัดการสโมสรรัฐสภา กล่าวว่า คณะกรรมการบริหารสโมสรรัฐสภาจัดสรรงบประมาณ 22 ล้านบาท สำหรับโครงการนำร่องใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในอาคารสโมสรรัฐสภาใหม่ โดยใช้แผงโซลาร์เซลล์ที่ผลิตโดยสถาบันพัฒนาเทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ (ไอเสท) หน่วยงานในสังกัดสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

ตามแผนที่วางไว้ ระบบเซลล์แสงอาทิตย์ดังกล่าวจะถูกนำมาใช้สำหรับผลิตน้ำร้อนและกระแสไฟฟ้าป้อนเครื่องปรับอากาศภายในอาคารสโมสรรัฐสภาใหม่ พร้อมทั้งศึกษาความเป็นไปได้ที่จะใช้ระบบดังกล่าวกับอาคารหรือห้องทำงานอื่นๆ ต่อไป อย่างไรก็ดี แผงโซลาร์เซลล์ที่จะติดตั้งบนยอดอาคาร มีน้ำหนักมากถึง 30 กิโลกรัมต่อตารางเมตร จึงต้องพิจารณาถึงโครงสร้างตัวอาคารด้วย

“ประเทศญี่ปุ่นติดตั้งและใช้พลังงานแสงอาทิตย์อย่างแพร่หลาย เพราะรัฐบาลสนับสนุน ขณะที่การใช้เซลล์แสงอาทิตย์ในประเทศไทย ยังถือเป็นเรื่องใหม่ และส่วนใหญ่ยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัย อย่างไรก็ตาม รัฐสภาสนใจที่จะติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์บนอาคารแทนกระเบื้องหลังคา” ผู้จัดการสโมสรรัฐสภา กล่าว

ด้านนายทิพย์จักร นวลบุญเรือง นักวิจัยจากสถาบันไอเสท กล่าวว่า พลังงานจากแสงอาทิตย์เป็นหนึ่งในพลังงานทดแทน ที่นักวิจัยให้ความสนใจ นอกจากเชื้อเพลิงชีวมวลและไบโอดีเซล เพื่อค้นหาเชื้อเพลิงสำรองให้ประเทศ ส่วนการวิจัยเซลล์แสงอาทิตย์ของประเทศไทยโดยสถาบันไอเสทก้าวหน้าไปมาก โดยมีการวิจัยตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ

เทคโนโลยีดังกล่าวได้ติดตั้งใช้งานจริงแล้วที่โรงพยาบาลบางละมุง จ.ชลบุรี สำหรับทำน้ำร้อนป้อนระบบซักผ้าของโรงพยาบาล สามารถทดแทนพลังงานไฟฟ้าประมาณ 170,000 ยูนิต มีอายุใช้งานประมาณ 20 ปี นอกจากนี้ ยังทดลองติดตั้งให้โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ จ.ชลบุรี ใช้ทำน้ำร้อนในสระธาราบำบัด และล่าสุดที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในการทำน้ำอุ่นให้ห้องพักผู้ป่วย อีกทั้งได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เอกชนนำไปผลิตและจำหน่ายต่างประเทศด้วย

“ปัจจุบันสถาบันไอเสทมีโครงการวิจัยร่วมกับประเทศจีนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้ความร้อนของแผงเซลล์มากขึ้น รวมถึงพัฒนาต้นทุนการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ให้ถูกลงราว 100 บาทต่อวัตต์” นักวิจัย กล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

No comments: