Monday, February 12, 2007

รัฐสภาสนใจหลังคาโซลาร์เซลล์

รัฐสภาสนใจหลังคาโซลาร์เซลล์แทนกระเบื้อง

กระทรวงวิทยาศาสตร์ ประกาศความพร้อมส่งต่อเทคโนโลยีต้นแบบ พลังงานทดแทนจากเซลล์แสงอาทิตย์ ให้อาคารสโมสรรัฐสภาสำหรับผลิตน้ำร้อนและกระแสไฟฟ้าป้อนเครื่องปรับอากาศ

นายวิจักษณ์ นาควัชระ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และผู้จัดการสโมสรรัฐสภา กล่าวว่า คณะกรรมการบริหารสโมสรรัฐสภาจัดสรรงบประมาณ 22 ล้าน สำหรับโครงการนำร่องใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในอาคารสโมสรรัฐสภาใหม่ โดยเป็นเทคโนโลยีของสถาบันพัฒนาเทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ (ไอเสท) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่ติดตั้งใช้งานอยู่ในปัจจุบันที่อาคาร สวทช. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ถนนโยธี

สโมสรรัฐสภาและสวทช.จะตั้งคณะทำงานร่วมกัน เพื่อศึกษาความพร้อมและติดตั้งระบบเซลล์แสงอาทิตย์สำหรับผลิตน้ำร้อนและกระแสไฟฟ้าป้อนเครื่องปรับอากาศภายในอาคารสโมสรรัฐสภาใหม่ พร้อมทั้งศึกษาความเป็นไปได้ ที่จะใช้ระบบดังกล่าวกับอาคารหรือห้องทำงานอื่นๆ ต่อไป ทั้งนี้ แผงโซลาร์เซลล์ที่จะติดตั้งบนยอดอาคาร มีน้ำหนักมากถึง 30 กิโลกรัมต่อตารางเมตร จึงต้องพิจารณาถึงลักษณะโครงสร้างตัวอาคารด้วย

“ประเทศญี่ปุ่นติดตั้งและใช้งานพลังงานแสงอาทิตย์อย่างแพร่หลาย เพราะรัฐบาลสนับสนุน ขณะที่การใช้เซลล์แสงอาทิตย์ในประเทศไทย ยังถือเป็นเรื่องใหม่ และส่วนใหญ่ยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัย อย่างไรก็ตาม รัฐสภาสนใจที่จะติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์บนอาคารแทนกระเบื้องหลังคา” ผู้จัดการสโมสรรัฐสภา กล่าว

ด้านนายทิพย์จักร นวลบุญเรือง นักวิจัยจากสถาบันไอเสท กล่าวว่า พลังงานจากแสงอาทิตย์เป็นหนึ่งในพลังงานทดแทน ที่นักวิจัยให้ความสนใจ นอกจากเชื้อเพลิงชีวมวลและไบโอดีเซล เพื่อค้นหาเชื้อเพลิงสำรองให้กับประเทศ ส่วนการวิจัยเซลล์แสงอาทิตย์ของประเทศไทยโดยสถาบันไอเสทก้าวหน้าไปมาก โดยมีการวิจัยตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ

สำหรับเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ ที่สโมสรรัฐสภาสนใจนั้น เป็นระบบผลิตไฟฟ้าและน้ำร้อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ (PVT) ที่สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าและพลังงานความร้อนได้ในเวลาเดียวกัน โดยใช้เซลล์แสงอาทิตย์ชนิด "อะมอร์ฟัสซิลิกอน" ที่สถาบันไอเสทวิจัยและผลิตได้ด้วยตัวเอง

“เซลล์แสงอาทิตย์ เมื่อนำไปติดอยู่บนอาคาร จะทำหน้าที่เปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้า พร้อมทั้งอาศัยแผ่นโลหะที่ติดตั้งเพิ่มขึ้น ซึ่งอยู่ใต้แผงเซลล์แสงอาทิตย์ เป็นตัวเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานความร้อน ซึ่งจะถ่ายเทไปใช้ทดแทนพลังงานไฟฟ้าในอาคาร” นักวิจัย กล่าว

เทคโนโลยีนี้ติดตั้งใช้งานจริงแล้วที่โรงพยาบาลบางละมุง จังหวัดชลบุรี สำหรับทำน้ำร้อนป้อนระบบซักผ้าของโรงพยาบาล สามารถทดแทนพลังงานไฟฟ้าประมาณ 170,000 ยูนิต ด้วยงบประมาณติดตั้ง 1.5 ล้านบาท ระยะเวลาคุ้มทุน 2 ปี และอายุใช้งานประมาณ 20 ปี นอกจากนี้ยังทดลองติดตั้งให้กับโรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ จังหวัดชลบุรี สำหรับทำน้ำร้อนในสระธาราบำบัด และล่าสุดที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในการทำน้ำอุ่นให้กับห้องพักผู้ป่วย อีกทั้งได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับเอกชน นำไปผลิตและจำหน่ายต่างประเทศด้วย

“ปัจจุบันสถาบันไอเสท มีโครงการวิจัยร่วมกับประเทศจีน ในการพัฒนาเซลล์แสงอาทิตย์ชนิด PVT ของไอเสท กับเซลล์แสงอาทิตย์แบบหลอดแก้วของประเทศจีน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้ความร้อนของแผงเซลล์มากขึ้น รวมถึงพัฒนาต้นทุนการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ให้ถูกลงราว 100 บาทต่อวัตต์” นักวิจัย กล่าว

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com
Link: http://www.bangkokbiznews.com/2007/02/12/WW54_5401_news.php?newsid=4015

No comments: