Thursday, February 15, 2007

ปัญญาคืออาวุธ

ปัญญาคืออาวุธ

ในการแข่งขันเพื่อก้าวสู่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลก การคิดค้นและสิ่งประดิษฐ์คือพลังขับเคลื่อนสำคัญของประเทศจีนและเกาหลีใต้ ให้ก้าวขึ้นมาเป็นเสือตัวใหม่ที่คิดค้นนวัตกรรมและจดสิทธิบัตรด้วยอัตราเร่งที่เร็วกว่าสหรัฐ และญี่ปุ่น เราลองมามองย้อนสถานการณ์สิทธิบัตรไทยไปพร้อมๆ กัน

พระอัจฉริยภาพด้านนักประดิษฐ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ประจักษ์ชัดไม่เพียงแต่ประชาชนชาวไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นที่ยอมรับกันในระดับสากล

ปลายเดือนที่แล้ว องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization - WIPO) ได้ถวายรางวัล "โกลบอล ลีดเดอร์ส อะวอร์ด" (Global Leaders Award) แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หลังจากประจักษ์ในพระปรีชาสามารถด้านการประดิษฐ์ คิดค้น สนับสนุน การใช้สิทธิทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งในระดับชาติและสากล ผลงานที่สำคัญได้แก่ กังหันน้ำชัยพัฒนา ฝนหลวง ไบโอดีเซล และทฤษฎีใหม่ นับเป็นกษัตริย์พระองค์แรกของโลก ที่ได้รับการยอมรับในพระปรีชาสามารถ

เช่นเดียวกัน สมาพันธ์นักประดิษฐ์นานาชาติ (The international Federation of Inventor’s Associations หรือ IFIA:ไอเอฟไอเอ) มีสำนักงานอยู่ที่กรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี ได้ขอพระบรมราชานุญาตทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล ไอเอฟไอเอคัพ พร้อมใบประกาศนียบัตรเกียรติคุณ ในผลงานเรื่อง กังหันน้ำชัยพัฒนา และรางวัล Genius Medal ในผลงานเรื่องทฤษฎีใหม่และเศรษฐกิจพอเพียง แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมอีกสองรางวัลด้วยกัน ซึ่งทั้งสองผลงานได้รับรางวัลด้านนักประดิษฐ์คิดค้น

ทว่า จากข้อมูลจากองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ในบรรดาคำร้องยื่นขอจดสิทธิบัตรผ่านองค์กรระหว่างประเทศแห่งนี้ ปี 2549 ไทย ซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกขององค์การสากลแห่งนี้ได้ยื่นขอจดสิทธิบัตร 12 คำร้อง เพิ่มจากปี 2548 ซึ่งได้ยื่นจดสิทธิบัตร 9 คำร้อง ลดลงจากปี 2547 ที่ไทยยื่นขอจดสิทธิบัตร 12 คำร้อง

เทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สิงคโปร์ ยื่นจดสิทธิบัตรปี 2549 จำนวน 402 คำร้อง มาเลเซีย 54 คำร้อง ฟิลิปปินส์ 15 คำร้อง อินโดนีเซีย 6 คำร้อง เวียดนาม 9 คำร้อง

ประเทศที่ยื่นขอจดสิทธิบัตรมากที่สุดในปีที่แล้วยังคงเป็น สหรัฐอเมริกา แชมป์เก่าที่ยื่นจดสิทธิบัตรถึงเกือบ 5 หมื่นรายการ รองลงมาคือญี่ปุ่นและเยอรมนี

ถ้าเทียบอัตราการเติบโตแล้วกลายเป็นว่า จีนเป็นประเทศที่อัตราการเติบโตในการยื่นจดสิทธิบัตรกับองค์การสากลแห่งนี้เพิ่มขึ้นสูงกว่าปีที่แล้ว 56.8% ตามมาด้วยเกาหลีใต้ที่จดสิทธิบัตรเพิ่มจากปีที่แล้วเพิ่มขึ้น 26.6% ส่งผลให้เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือเป็นประเทศที่มีอัตราเร่งในการจดสิทธิบัตรสูงที่สุดในโลกไปแล้ว

"การยื่นขอจดสิทธิบัตรในปี 2549 มีจำนวนสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 145,300 คำร้อง คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 6.4% การขยายตัวอย่างสำคัญนี้มาจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ และนับเป็นปีที่สามติดต่อกันแล้วสำหรับประเทศในภูมิภาคนี้ โดยมีสัดส่วนการยื่นขอจดสิทธิบัตรสูงถึง 25.3% ของทั่วโลก" แถลงการณ์ขององค์การไวโป ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงเจนีวาระบุ

โรวินา ปากิโอ จากไวโปกล่าวว่า เฉพาะสิ่งประดิษฐ์ของโลกมีอัตราเติบโตในสัดส่วน 4.7% ซึ่งมีเพียงบางประเทศเท่านั้นที่ประสบความสำเร็จจากการจดสิทธิบัตร เช่น บราซิล เม็กซิโก อินเดีย เกาหลีใต้ ที่สามารถส่งสินค้าออกขายยังทั่วโลกได้

แต่การจดสิทธิบัตรยังมีการกระจุกตัวอยู่ประมาณ 20 ประเทศขนาดใหญ่เท่านั้น เช่น อเมริกา เกาหลีใต้ ยุโรป ญี่ปุ่น ที่มีการจดสิทธิบัตรอย่างจริงจัง หรือประมาณ 75% เนื่องจากสถาบันที่รองรับการจดสิทธิบัตรยังมีอยู่น้อย หรือเพียง 20% ทั่วโลก ทำให้ยังมีช่องว่างในการลอกเลียนแบบอยู่อีกมาก ไวโปจึงต้องรับหน้าที่วางกรอบหรือมาตรฐานเพื่อคุ้มครองสิ่งประดิษฐ์โดยผ่านการจดสิทธิบัตรและส่งเสริมการประดิษฐ์ รวมทั้งผลักดันและสนับสนุนการคิดค้นนวัตกรรมต่างๆ

เส้นทางนวัตกรรมไทย
พันเอกเพทาย อัตเศรณีย์ นายกสมาคมการประดิษฐ์ไทย หยิบประสบการณ์มาเล่าสู่กันฟังว่า การประดิษฐ์คิดค้นสำหรับคนไทยมีมาช้านานในรูปแบบของนวัตกรรมเพื่อการเกษตร และมีการพัฒนาเรื่อยมาจนถึงระดับเกษตรอุตสาหกรรม จนกระทั่งก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมการแปรรูปเพื่อการส่งออกตามระบอบระบบแห่งการพัฒนาของโลก
เขายอมรับว่า สิ่งที่คนไทยกำลังพัฒนาอยู่ในขณะนี้หนีไม่พ้นการประดิษฐ์คิดค้นเครื่องจักรเครื่องกลประเภทช่วยผ่อนแรงจากท้องไร่ ท้องนาเสียเป็นส่วนใหญ่ ทั้งในระดับชุมชน สังคม หรือใหญ่ไปถึงระดับประเทศชาติเองก็ตาม

"ไม่ว่านวัตกรรมที่ออกมาจะอยู่ในรูปแบบของเกษตรกรรมหรืออุตสาหกรรมก็ตาม หัวใจสำคัญที่จะทำให้งานประดิษฐ์หรือนวัตกรรมออกมาประสบผลสำเร็จที่สุดคือ ความคิดสร้างสรรค์และมีความอดทน พยายามพัฒนาสิ่งประดิษฐ์จนประสบความสำเร็จในระดับพาณิชย์ได้ดี" นายกสมาคมการประดิษฐ์ไทย กล่าว

สมาคมนักประดิษฐ์ไทยเป็นแหล่งรวบรวมนักประดิษฐ์คิดค้นไว้ทุกระดับ รวมถึงผู้สนับสนุนการประดิษฐ์ ผู้ที่รักการประดิษฐ์ และผู้สนใจการประดิษฐ์ ร่วมแรงร่วมใจกันผลักดันให้เกิดการประดิษฐ์ที่มีการนำไปใช้ประโยชน์เพื่อสังคมให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเด็กนักเรียนนักศึกษา ตลอดจนให้เกิดกระบวนการเรียนรู้และกระบวนการความคิดที่จะสรรค์สร้างสิ่งประดิษฐ์ออกมามีคุณภาพมากที่สุด
นอกจากนี้ สมาคมการประดิษฐ์ไทย ยังดำเนินการในเรื่องของการตลาด โดยนำสิ่งประดิษฐ์ที่สมบูรณ์แล้วของสมาชิกทุกคนออกเผยแพร่ในเชิงพาณิชย์ เพื่อมุ่งช่วยแก้ปัญหาในสังคมได้ไม่มากก็น้อย ทั้งยังส่งเสริมการพัฒนาตัวต้นแบบให้มีความสมบูรณ์ทั้งในด้านวัสดุ โครงสร้าง หรือกระบวนการประดิษฐ์ เพื่อนำไปต่อยอดสู่ขั้นตอนการผลิตในเชิงพาณิชย์ต่อไป

"หากประเทศยังมีสิ่งประดิษฐ์น้อยก็คงไม่พ้นต้องไหลเข้าสู่กระแสการบริโภค หรือการเป็นผู้ซื้อ หรือถูกตีตราว่าเป็นประเทศไม่พัฒนาก็เป็นได้ ในทางตรงกันข้ามประเทศใดมีสิ่งประดิษฐ์มากก็จะถูกทั่วโลกสรรเสริญว่าเป็นประเทศมหาอำนาจที่ทั่วโลกยอมรับนั่นเอง เราจึงควรหันมาหยิบสิ่งประดิษฐ์ไทยปัดฝุ่นลงจากหิ้งและสนับสนุนให้เข้าห้างกันเสียวันนี้ก่อนที่จะสายเกินไป" นายกสมาคมการประดิษฐ์ไทย เสนอ

ทั้งนี้ บทบาทหนึ่งของสมาคมการประดิษฐ์ไทย คือ สร้างความสัมพันธ์ระหว่างนักธุรกิจกับนักประดิษฐ์ โดยเป็นสื่อในการพบเจอกันเพื่อการเจรจาต่อรองที่นำไปสู่การค้าเชิงอุตสาหกรรม

คุณภาพต้องมาก่อน
รศ.ดร.ปลื้มจิตต์ โรจนพันธุ์ นายกสมาคมนักประดิษฐ์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ส่งเสริมนักประดิษฐ์ กล่าวว่า การพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรมแบบสากล ตัวนักประดิษฐ์ต้องมีคุณภาพเสียก่อน และต้องมั่นใจว่าสิ่งประดิษฐ์ของตนมีศักยภาพด้วย โดยอาศัยการพัฒนาปลูกฝังมาตั้งแต่วัยเด็กให้เป็นนักคิดตั้งแต่ยังน้อย ให้มีความคิดที่เป็นเหตุเป็นผล มีความกล้าแสดงออก มีความคิดสร้างสรรค์

"การสนับสนุนให้เด็กเป็นนักคิดนักประดิษฐ์ทำได้หลายวิธีมาก ทั้งการจัดชุมนุมนักประดิษฐ์คิดค้นขึ้นในโรงเรียนเพื่อให้เด็กได้ทำกิจกรรมร่วมกัน และฝึกให้เป็นคนที่กล้าแสดงออก รวมถึงการจัดเวทีประกวดแนวคิดสิ่งประดิษฐ์เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เยาวชนมีความคิดสร้างสรรค์ที่เป็นประโยชน์" รศ.ดร.ปลื้มจิตต์ แสดงความเห็น

ดร.สุรินทร์ พงศ์ศุภสมิทธิ์ ผู้อำนวยการ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และเคยได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับดีเยี่ยม ประจำปี 2543 จากสภาวิจัยแห่งชาติ จากผลงาน รถไถเดินตามจุฬา รุ่นเอสพีเจเอส-60 ชี้ว่า สิ่งสำคัญของการนำสิ่งประดิษฐ์ไปใช้งานเชิงธุรกิจคือ ต้องคิดให้รอบด้าน เพราะสิ่งประดิษฐ์ทางการเกษตรขยายสู่ตลาดได้ยาก เพราะการทำเกษตรในแต่ละประเทศและระหว่างภูมิภาคมีความแตกต่างกันในสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และประเภทของพืช

"นอกจากต้องดูความแตกต่างของปัจจัยเหล่านี้แล้ว นักประดิษฐ์ยังต้องดูอนาคตให้ออก เพราะงานคิดค้นบางครั้งใช้เวลานาน แต่ช่วงเวลาเพียง 3 หรือ 5 ปีอาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลง สิ่งที่เราจะต้องคิดถึงคือ ความต้องการของตลาดยังจะมีอยู่หรือไม่ เทคโนโลยีใหม่ๆ จะเข้ามาหรือไม่ เป็นความท้าทายที่นักประดิษฐ์จำเป็นต้องตามและปรับตัวให้ทัน" ดร.สุรินทร์กล่าวและเสริมว่า นักประดิษฐ์ต้องดูว่า จะทำอะไร ในเวลาเท่าไร ซึ่งต้องไม่นานพอที่จะมีคนทำตัดหน้า ซึ่งหากทำได้ดีกว่าของเรา งานที่เราตั้งใจพัฒนาขึ้นมาก็จะขายไม่ออก

ดร.สุรินทร์ก็ยังแนะการนำสิ่งประดิษฐ์ไปใช้ประโยชน์ว่าต้องไม่หยุดเฉพาะเครื่องต้นแบบ แต่ต้องมี 4 ปัจจัยหลักคือ การออกแบบที่สำคัญมาก เพราะแค่แบบก็จะสามารถจดสิทธิบัตรได้ การสร้างต้นแบบที่พร้อมผลิตในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะทำให้ไม่เสียค่าใช้จ่าย 2 ครั้ง อาทิเช่น ค่าแบบพิมพ์สำหรับเครื่องต้นแบบและสำหรับผลิตจริง การตลาด ที่ต้องรู้ความต้องการของตลาด และการบริการหลังการขาย

ขณะที่ ดร.ทวีศักดิ์ ภู่หลำ กรรมการผู้จัดการบริษัท สวีทซีดส์ จำกัด ซึ่งได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับดีเยี่ยม ประจำปี 2543 จากสภาวิจัยแห่งชาติ โดยผลงาน เอทีเอส-2: พันธุ์ข้าวโพดหวานลูกผสมหรือฝักสดและอุตสาหกรรมแปรรูปกล่าวว่า ความกล้าบ้าบิ่นเป็นเรื่องจำเป็น ที่จะทำให้เรากลายเป็นผู้นำในธุรกิจนั้นๆ ไม่ใช่แค่ผู้ตาม

"ข้าวโพดหวานของไทยในช่วงปี 2535 นั้น ไม่มีคุณภาพเลย เนื้อเหนียว ไร้ความหวาน ซึ่งหากเทียบกับพันธุ์ต่างประเทศ ก็ไม่ต่างจากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จึงปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดหวานให้มีรสชาติดีขึ้น ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น แต่ปัญหาคือ ขนาดฝักเล็ก เพียงฝ่ามือ ในขณะที่พันธุ์เดิมจากต่างประเทศยาวเกือบ 1 ศอก" ดร.ทวีศักดิ์ เล่าประสบการณ์

ทว่า สิ่งที่ตามมาคือ ความไม่มั่นใจของเกษตรกรต่อพืชพันธุ์ นักปรับปรุงพันธุ์ข้าวโพดพันธุ์ใหม่จึงเลือกที่จะทำตลาดกับโรงงานแปรรูปข้าวโพดหวาน และทำการขายเมล็ดพร้อมรับซื้อคืนเต็มจำนวน เพื่อพิสูจน์ประสิทธิภาพของข้าวโพดหวานนี้ รวมถึงความกล้าในการเจาะตลาดด้วยผลิตภัณฑ์ใหม่จากการวิจัย คิดค้น

ถึงกระนั้น ปัญหาหนักอกสำหรับนักประดิษฐ์ไทยและเป็นปัญหาสากลคือ แหล่งเงินทุนสนับสนุนงานวิจัย หลายกรณีนักประดิษฐ์ได้พัฒนาอุปกรณ์ต้นแบบแล้ว แต่ไม่สามารถหาแหล่งทุนเพื่อผลิตในเชิงการค้าได้

น้ำเลี้ยงของนักประดิษฐ์
ธานี ทรัพย์สมบูรณ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ประเสริฐผลไม้ไทย จำกัด เจ้าของผลงาน ชุดอุปกรณ์เปิดผลมะพร้าวอ่อนที่ได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับดีเยี่ยม ประจำปี 2543 กล่าวว่า ปัญหาหลักของนักวิจัยในการต่อยอดงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ในเชิงพาณิชย์คือ เงินทุนในการพัฒนาสินค้าและขยายตลาด

"ชุดอุปกรณ์เปิดผลมะพร้าวอ่อน ก่อนหน้าที่จะได้รับรางวัลนั้น ได้ทำออกจำหน่ายในเชิงธุรกิจ แต่ก็มีปัญหาในการติดต่อกู้องค์กรทางการเงิน ซึ่งมองว่า สิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ เหล่านี้จะมีความเสี่ยงสูงเชิงการค้า เนื่องจากกว่าที่ลูกค้าจะซื้อไปทดลองใช้ ทดลองตลาดต้องใช้เวลานาน งานวิจัยชิ้นนี้จึงไม่ผ่านขั้นตอนการกู้ยืม" นายธานีกล่าวและเสริมว่า ปัญหาเช่นนี้คงเป็นเรื่องที่นักประดิษฐ์ทุกคนเผชิญ และเชื่อว่า เป็นสาเหตุที่นักประดิษฐ์หลายคนเลือกไม่ต่อยอดผลงานของตน และรับเงินเดือนต่อไป

นายธานีแนะว่า สิ่งที่จำเป็นคือ ควรมีองค์กรที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นแหล่งทุนสำหรับนักวิจัย นักประดิษฐ์ในการต่อยอดผลงานของตนในรูปของการกู้ยืม โดยมีเงื่อนไขที่เหมาะสม ไม่เข้มงวดในแง่ของรายได้มากนัก ซึ่งจะทำให้งานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ต่างๆ สามารถนำไปสร้างเป็นผลงานออกสู่ตลาดได้มากขึ้น

ด้าน ศ.ดร.อานนท์ บุณยะรัตเวช เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ในส่วนของสภาการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐก็เห็นความสำคัญของการสนับสนุนงานประดิษฐ์ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาคประชาชนทั่วไปก็ตาม โดยสนับสนุนทุนการวิจัยหรือประดิษฐ์จนกระทั่งสามารถต่อยอดในเชิงพาณิชย์เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เศรษฐกิจไทยเกิดการเจริญเติบโต

"โดยหน้าที่หลักของสภาวิจัยแห่งชาติคือ การวางแผนในด้านแนวทางการวิจัยเพื่อให้เกิดพลังปัญญาของนักประดิษฐ์ โดยเน้นว่านักประดิษฐ์ไทยทั้งหมดที่มีในหน่วยงานต่างๆ รวมถึงนักเรียนหรือประชาชนทั่วไป คือ พลังปัญญาของไทย และสามารถเนรมิตผลงานประดิษฐ์คิดค้นที่เอื้อประโยชน์แก่สังคม เพื่อสร้างความมั่นคงให้เศรษฐกิจชาติได้อย่างเข้มแข็งเช่นกัน" เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าว

ไม่นานมานี้ สภาการวิจัยแห่งชาติได้ปรับมาตรการสำหรับส่งเสริมงานประดิษฐ์คิดค้นให้คล่องตัวยิ่งขึ้น โดยเปิดกว้างสำหรับสิ่งประดิษฐ์ และไม่จำกัดเฉพาะว่าจะดำเนินการประดิษฐ์คิดค้นอยู่ในไทย ขอเพียงให้นำมาใช้ประโยชน์ได้จริง สภาการวิจัยแห่งชาติก็พร้อมส่งเสริมเป็นเงินทุนผลิตตัวต้นแบบออกมา

ถึงแม้ว่าการตลาดสิ่งประดิษฐ์จะเป็นเรื่องใหม่ในประเทศไทย และส่วนใหญ่จะประสบปัญหาในการติดต่อนักธุรกิจอุตสาหกรรมในด้านการนำสิ่งประดิษฐ์ไปผลิตเพื่อจำหน่าย แถมมีหน่วยงานที่รับจดทะเบียนคุ้มครองสิทธิทางด้านทรัพย์สินทางปัญญาอยู่เพียงไม่กี่แห่ง สภาการวิจัยแห่งชาติจึงยังอำนวยความสะดวกให้แก่นักวิจัยด้วยการรับจดสิทธิบัตรเสียเองเพื่อให้นักประดิษฐ์ไม่เกิดความท้อแท้ หรือเดินไม่ถึงปลายทาง

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com
Link: http://www.bangkokbiznews.com/2007/02/15/WW06_WW06_news.php?newsid=4833

1 comment:

kiant said...

ต้องระวังกันหน่อยคับ ผู้ส่งออกวุ้นมะพร้าว จ่ายเช็คเด้งกันเกลื่อน ผมเตือนหลายครั้งแล้ว อย่าหาว่าไม่เตือนนะ
ข้อมูลจากธนาคารเพื่อการส่งออกแจ้งมาคับ