Thursday, February 15, 2007

โจ๋ไอที

'โจ๋ไอที'จับแม่น้ำปิงขึ้นเน็ตเฝ้าหน้าคอมพ์เตือนน้ำท่วม

ม.ฟาร์อิสเทอร์น หนุนนักศึกษา ออกแบบอุปกรณ์เฝ้าระวังน้ำท่วม สามารถส่งข้อมูลเตือนภัยทันทีที่ระดับน้ำสูงเกินกำหนด เผยอาศัยอินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางรับข้อมูล ทำให้เจ้าหน้าที่ติดตามระดับน้ำได้จากหน้าจอคอมพ์ได้ตลอดเวลา

ทีมนักศึกษาคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยฟาร์อิสเทอร์น จ.เชียงใหม่ ร่วมกันออกแบบและพัฒนาระบบเตือนภัยน้ำท่วมที่สามารถส่งข้อมูลแจ้งการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำไปยังเวบเซอร์วิส รวมถึงส่งต่อข้อมูลให้โทรศัพท์มือถือที่ผ่านระบบจีพีอาร์เอส เพื่อให้บุคคลทั่วไปที่ต้องการทราบข้อมูล สามารถรับรู้เหตุการณ์ได้ทันที

"ตอนที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมเมืองเชียงใหม่ครั้งที่ผ่านมา ยังไม่มีระบบแจ้งเตือนที่ทันท่วงที ทำให้เกิดความเสียหายอย่างมาก ทีมวิจัยจึงคิดระบบแจ้งเตือนที่อาศัยเทคโนโลยีไอทีผนวกกับเวบเซอร์วิสมาช่วย เพื่อให้การเตือนภัยน้ำท่วมในครั้งต่อไปทำได้ดียิ่งขึ้น" นายอดุลย์ นุพงษ์ สมาชิกในทีมวิจัย กล่าว

เวบเซอร์วิส หรืองานบริการบนเครืองข่ายเวบ เป็นพัฒนาการล่าสุดของอินเทอร์เน็ต จากเดิมที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทำได้เพียงเปิดอีเมล ชมคลิปไฟล์วิดีโอและเพลง แต่ในระยะหลังผู้ใช้สามารถใช้ช่องทางอินเทอร์เน็ตสำหรับสื่อสารในรูปแบบอื่น เช่น การสนทนาแบบทันที (แชท) บริการดาวน์โหลดเพลง เสียงเรียกเข้าโทรศัพท์และรูปภาพ การเปิดประมูลโครงการภาครัฐผ่านเวบไซต์ (อีออคชั่น) และการเรียกดูข้อมูลแบบเรียลไทม์ เป็นต้น

โครงการวิจัยนี้เริ่มต้นจากการออกแบบอุปกรณ์ตรวจวัดชนิดต่างๆ เช่น อุปกรณ์วัดความชื้นในอากาศ วัดปริมาณน้ำฝน และอุปกรณ์วัดระดับน้ำในแม่น้ำ ที่อาศัยการทำงานของเซ็นเซอร์ตรวจจับ เช่น เซ็นเซอร์แสงตรวจจับระดับน้ำ เซ็นเซอร์ตรวจวัดอุณหภูมิ และเซ็นเซอร์ตรวจวัดความชื้นสัมพัทธ์ ทั้งหมดถูกออกแบบให้ติดตั้งง่าย ราคาประหยัดและเตือนภัยได้จริงจากการควบคุมด้วยสมองกล (ไมโครคอนโทรเลอร์)

“ทีมงานนำอุปกรณ์ที่พัฒนาขึ้นทั้งหมดไปทดลองติดตั้งบริเวณริมแม่น้ำปิง จ.เชียงใหม่ เพื่อทดสอบประสิทธิภาพในสถานที่จริง พบว่าเมื่อเซ็นเซอร์ตรวจจับความเปลี่ยนแปลงของน้ำในจุดที่กำหนด หรือระดับน้ำสูงเกิน 70 เปอร์เซ็นต์ของระดับน้ำในแม่น้ำ ข้อมูลจะแจ้งเตือนเข้าเวบเซอร์วิสทันที” เจ้าของผลงาน กล่าว

ข้อมูลที่มีการเปลี่ยนแปลงจะส่งเข้าเวบเซอร์วิสทุก 1 นาที และพร้อมที่จะส่งต่อข้อมูลให้ผู้ที่ต้องการ ส่วนขั้นตอนการพัฒนาต่อไป จะเชื่อมต่อข้อมูลเพื่อส่งเข้าโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์พกพา แต่จะต้องประสานงานกับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือต่อไป

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

No comments: