Thursday, February 8, 2007

ท่อนำเลือดหัวใจ

"ท่อนำเลือดหัวใจ" ราคาประหยัด ผลงานนักวิจัย รพ.รามา8 February 2007

“โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ” เป็นโรคร้ายที่คนไทยเรามักเป็นกันมาก และเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนไทยในแต่ละปี สาเหตุหนึ่งมาจากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป อาหารการกินที่มีปริมาณไขมันและคอเลสเตอรอลสูง การใช้ชีวิตอย่างเคร่งเครียด ตลอดจนการสูบบุหรี่อย่างหนัก เป็นตัวการสำคัญที่ชักนำสู่การเกิดของอาการหัวใจขาดเลือดได้ในท้ายที่สุด

อาจารย์วิภาพร ภุมมางกูร 1 ใน 2 นักวิจัยคุณภาพจาก รพ.รามาธิบดี เจ้าของผลงานสิ่งประดิษฐ์คิดค้น “ท่อนำเลือดหล่อเลี้ยงหัวใจรามาธิบดี” ซึ่งได้วิจัยพัฒนาร่วมกับ ผศ.นพ.สุชาติ ไชย จนคว้ารางวัลชมเชยสิ่งประดิษฐ์คิดค้นสาขาการแพทย์และสาธารณสุข ประจำปี 2550 ของสภาวิจัยแห่งชาติมาครองได้ เล่าว่า ที่ผ่านมา การผ่าตัดเพื่อรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดทางเบี่ยง หรือ บายพาส (By-pass) ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 วิธีใหญ่ๆ ด้วยกัน

วิธีหนึ่งคือ การผ่าตัดโดยหยุดการทำงานของหัวใจ คือ ทำให้หัวใจหยุดเต้นแล้วต่อท่อดูดเลือดออกมาไว้ที่เครื่องปอดและหัวใจเทียม ก่อนที่จะผ่าตัดนำเส้นเลือดดำที่ต้นขามาใส่แทนที่หลอดเลือดหัวใจส่วนที่ตีบตัน โดยระหว่างการผ่าตัดยังต้องต่อท่อนำส่งยาลดอุณหภูมิร่างกายเพื่อรักษาไม่ให้อวัยวะอื่นๆ ของร่างกายบอบช้ำ จากนั้นเมื่อการผ่าตัดเสร็จสิ้นแล้วจึงถ่ายเลือดคืนให้แก่ร่างกายผ่านท่อถ่ายเลือดอีกเส้นหนึ่ง วิธีนี้จึงทำให้เกิดบาดแผลสำคัญอย่างน้อย 3 จุดใหญ่ๆ อีกทั้งผลของยาลดอุณหภูมิที่ตกค้าง และภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดระหว่างการผ่าตัดก็ยังส่งผลเสียต่อร่างกายผู้ป่วยมากยิ่งขึ้นด้วย

การรักษาข้างต้นจึงทำให้ร่างกายผู้ป่วยหลังการผ่าตัดฟื้นตัวได้ช้า คือ ต้องพักฟื้นเพื่อดูอาการจนแน่ใจในห้องไอซียูอย่างน้อยๆ 1 อาทิตย์ นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายในการใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียมยังเป็นบริการที่มีค่าใช้จ่ายสูง และระยะเวลาการพักฟื้นในห้องไอซียูหลายวันยังนำมาซึ่งค่าใช้จ่ายอีกหลายหมื่นบาท จึงแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้มีรายได้น้อยจะมีโอกาสเข้ารับการรักษาได้

ขณะที่การผ่าตัดบายพาสอีกวิธีหนึ่งคือ การผ่าตัดโดยไม่ต้องหยุดการทำงานของหัวใจ หนึ่งในวิธีนี้ที่ร่างกายผู้ป่วยจะบอบช้ำน้อยที่สุดคือ การใช้ท่อนำเลือดหัวใจสอดเข้าไปในเส้นเลือดหัวใจบริเวณที่มีปัญหา เพื่อให้ทำหน้าที่เป็นช่องทางการไหลเวียนของเลือดตามปกติ ทดแทนเส้นเลือดหัวใจที่ทำการผ่าตัดอยู่ ซึ่งจะลดปัญหาดังที่เกิดขึ้นจากการผ่าตัดแบบหยุดหัวใจได้มาก โดยผู้ป่วยจะใช้เวลาฟื้นตัวในห้องไอซียูเพียง 1- 2 วันก็กลับบ้านได้แล้ว

แต่ทว่า หลอดเลือดเทียมดังกล่าวยังเป็นเทคโนโลยีที่ต้องนำเข้าจากต่างชาติเรื่อยมา โดยมีราคาแพงเฉลี่ย 4,000-5,000 บาท/ชิ้น อีกทั้งยังมีขนาดที่ไม่สอดรับกับสรีระของคนไทย ตลอดจนมีความยืดหยุ่นต่ำ ส่งผลให้ผลการรักษาไม่น่าพอใจเท่าที่ควร

“ท่อนำเลือดหล่อเลี้ยงหัวใจรามาธิบดี” ที่ได้ประดิษฐ์คิดค้นขึ้น จึงถือเป็นสิ่งประดิษฐ์ความหวังใหม่สำหรับวงการแพทย์และสาธารณสุขไทย โดยเป็นการประดิษฐ์คิดค้นท่อนำเลือดที่มีขนาดเหมาะสมกับสรีระของผู้ป่วยคนไทย มีความยืดหยุ่นสูง ที่สำคัญคือมีราคาถูกมากคือเพียง 20 บาท/ชิ้น ด้วยการประยุกต์ของใช้ที่มีอยู่แล้วในห้องผ่าตัดมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด คือ ท่อยางซิลิโคน และไหมสำหรับการผ่าตัด

นอกจากนี้แล้ว อาจารย์วิภาพร ยังบอกด้วยว่า ท่อนำเลือดที่ประดิษฐ์ขึ้นนี้ยังได้พัฒนาให้มีคุณสมบัติพิเศษต่อการใช้งานอีกหลายประการ คือ มีความอ่อนนุ่ม โปร่งแสง ทนทาน หักงอและคืนรูปได้ มีขนาดสม่ำเสมอกันตลอดความยาวของท่อ อีกทั้งปลายท่อทั้งสองด้านยังมีรูปหน้าตัดเป็นวงกลม ซึ่งเหมาะสมและทำให้ร่างกายผู้ป่วยบาดเจ็บน้อยที่สุด โดยทีมวิจัยได้ออกแบบหลอดเลือดหัวใจให้มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางระหว่าง 1-2 ม.ม. จำนวน 4 ขนาด และความยาวต่างๆ กันอีก 3 ขนาด จึงรวมได้ทั้งหมด 12 ขนาดเพื่อใช้กับคนไข้แต่ละรายตามความเหมาะสม ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ผู้ชายและผู้หญิง

ส่วนผลการใช้งานจริง นักวิจัยเจ้าของรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติรายนี้ บอกอย่างภาคภูมิใจว่า ได้นำมาใช้กับการรักษาผู้ป่วยหลอดเลือดหัวใจตีบตั้งแต่ พ.ย.2546 รวมแล้วกว่า 600 ราย โดยได้ผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจ และเชื่อว่าท่อนำเลือดนี้ยังมีคุณภาพดีและไม่ด้อยกว่าของต่างประเทศเลย ที่สำคัญคือช่วยให้ผู้ป่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท/ราย เลยทีเดียว

และถึงแม้ว่าจะได้จดสิทธิบัตรแล้ว แต่ทีมวิจัยก็ไม่ได้หวงแหนเก็บไว้คนเดียว แต่ยินดีถ่ายทอดให้แก่สถานบริการสุขภาพทุกแห่งได้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อคนไข้ได้มากที่สุด

จึงเรียกได้ว่า “ท่อนำเลือดหล่อเลี้ยงหัวใจรามาธิบดี” ของ 2 นักวิจัย คือ ผศ.นพ.สุชาติ ไชยโรจน์ และอาจารย์วิภาพร ภุมมางกูร เป็นสิ่งประดิษฐ์เพื่อคนไทย และสอดรับกับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงได้ดีที่สุดชิ้นหนึ่งของประเทศเราในวันนี้ได้อย่างเต็มภาคภูมิจริงๆ

ที่มา: http://www.manager.co.th
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000013738

No comments: