ธัญบุรีเพิ่มค่าสิ่งทอทำวัสดุคลุมดิน
มทร.ธัญบุรีประยุกต์ใช้สิ่งทอพิเศษ ซึ่งเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมสิ่งทอและตัดเย็บเสื้อผ้า ทำเป็นวัสดุคลุมแปลงพืชอินทรีย์ ระบุระบายอากาศดี ต้นพืชโตเร็วและให้ผลผลิตสูง
กระบวนการผลิตพืชอินทรีย์จำเป็นต้องดูแลค่อนข้างมาก โดยเฉพาะขั้นตอนการคลุมดินเพื่อป้องกันวัชพืชและแมลงศัตรูพืช จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเลือกวัสดุคลุมดินให้เหมาะสมกับพืชอินทรีย์
วัสดุคลุมดินแบ่งได้หลายแบบ เช่น วัสดุจากธรรมชาติอย่างฟางข้าว หญ้าแห้ง ที่ใช้งานไปนานๆ จะขยายตัวออก ทำให้เมล็ดวัชพืชที่อยู่ด้านล่างเติบโตออกมาพ้นฟางหรือหญ้าแห้งอย่างรวดเร็ว วัสดุคลุมดินแบบพลาสติกดำเงิน ที่ทำให้ดินมีอุณหภูมิสูง ไม่สามารถถ่ายเทอากาศ เหมาะกับพืชอินทรีย์บางชนิด
ผศ.อังคณา ธนกัญญา อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี กล่าวว่า จากการทดลองนำสิ่งทอพิเศษชนิดที่เรียกว่า โพลิพรอพิลีนสีดำ ซึ่งมีความหนาขนาด 60 กรัมต่อตารางเมตร มาใช้เป็นวัสดุคลุมดิน ในแปลงปลูกพริกชี้ฟ้าอินทรีย์ ซึ่งเป็นพืชที่ได้ชื่อว่ามีระบบรากตื้น และมีความอ่อนไหวกับสภาพผิวดินง่ายที่สุด
จากการทดลองพบว่า โพลิพรอพิลีนสีดำที่นำมาใช้นี้ มีรูพรุนเล็กๆ เพื่อถ่ายเทอากาศ ทำให้ต้นพริกชี้ฟ้าเจริญเติบโตสูงกว่าวัสดุคลุมดินชนิดอื่นๆ ที่เกษตรกรเคยใช้ และให้ผลผลิตสูง คุ้มค่ากว่าการใช้แรงงานคนในการถอนวัชพืชหลายเท่า
"ข้อจำกัดของสิ่งทอพิเศษที่นำมาทำวัสดุคลุมดินคือ มีความคงทนต่อรังสียูวีได้ประมาณ 75 วัน เกษตรกรจะต้องลงทุนเปลี่ยนใหม่ทุกๆ 75 วัน" ผศ.อังคณา กล่าว
อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดข้างต้นจึงเกิดแนวคิดต่อยอดงานวิจัย โดยเสนอไว้สองแนวทางคือ เมื่อเกษตรกรให้การยอมรับ หันมาใช้โพลิพรอพิลีนสีดำเป็นวัสดุคลุมดินเป็นอันดับหนึ่งแล้ว น่าจะมีการพัฒนาโดยเติมสารป้องกันรังสียูวี และแนวทางที่สองคือ ศึกษาค้นคว้าหาวัสดุคลุมตระกูลสิ่งทอพิเศษในประเภทอื่น ที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกันมาใช้เป็นวัสดุคลุมดิน ซึ่งพบว่ามีโพลีเอสเตอร์บางชนิดมีคุณสมบัติ ที่สามารถนำมาพัฒนาใช้ได้
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
Thursday, February 1, 2007
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment