Friday, February 16, 2007

วิจัยพลาสติกชั้นสูง

ศูนย์นาโนเทคหนุนวิจัยพลาสติกชั้นสูง
ขานรับอุตสาหกรรมคิดค้นวัสดุใหม่เพิ่มค่าผลิตภัณฑ์

ศูนย์นาโนเทคชี้แนวโน้มอุตสาหกรรมมุ่งวิจัยเพิ่มคุณสมบัติพลาสติกด้วยนาโนเทคโนโลยี ขณะที่งานวิจัยวัสดุไทยทุนน้อย มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีเคลือบผิวด้วยสารนาโน เน้นต้นทุนต่ำและไม่ต้องอาศัยเทคโนโลยีราคาแพง

ดร.วิวัฒน์ ตัณฑพานิชกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) กล่าวว่า อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ อาทิเช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์ไฟฟ้า ต่างต้องการวัสดุชนิดใหม่เพื่อเพิ่มมูลค่าและขีดความสามารถในการแข่งขันและนาโนเทคโนโลยีเป็นเทคโนโลยีคลื่นลูกใหม่ที่ช่วยภาคอุตสาหกรรมพัฒนาวัสดุที่มีคุณสมบัติตามที่ตลาดต้องการได้

ผลสำรวจตลาดทั่วโลกพบแนวโน้มการเติบโตของผลิตภัณฑ์นาโนเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าตัว คิดเป็นมูลค่า 75 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2551 หรือราว 250 ล้านบาท โดยเฉพาะพลาสติกที่ใช้กับอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ จากยอดการลงทุนวิจัยนาโนเทคโนโลยีทั่วโลกอยู่ที่ 4.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ

“นาโนเทคโนโลยีเข้าไปมีส่วนในการพัฒนาคุณสมบัติสินค้าในหลายด้าน โดยเฉพาะการเพิ่มคุณสมบัติของพลาสติกในระดับควอนตัมนาโน จนได้พลาสติกที่มีคุณสมบัติตามที่ต้องการ หลายประเทศวิจัยและพัฒนาอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็น ประเทศญี่ปุ่น เกาหลี และสหรัฐอเมริกา” ดร.วิวัฒน์ กล่าวระหว่างงานสัมมนาอินเตอร์พลาส ฟอรัม ครั้งที่ 3 ภายใต้แนวคิด “ติดปีกการแข่งขันอุตสาหกรรมพลาสติกไทยด้วยสุดยอดนวัตกรรมนาโนเทคโนโลยี”

ผู้อำนวยการนาโนเทค กล่าวว่า พลาสติกที่ต้องการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ พลาสติกเกรดเอ โดยพัฒนาให้มีคุณสมบัติดีขึ้นโดยไม่เปราะหรือแตกง่าย และพลาสติกทั่วไปที่มีราคาถูก แต่มีการผสมสารนาโนเพื่อเพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น

“หากมองถึงนาโนเทคโนโลยีที่เหมาะสมในบ้านเรา น่าจะเป็นเทคโนโลยีเคลือบผิวด้วยสารนาโนซึ่งมีต้นทุนต่ำและไม่ต้องอาศัยเทคโนโลยีราคาแพงมาก อาทิเช่น สิ่งทอกันแบคทีเรีย แว่นตากันแสงสะท้อนและกระจกโซลาร์เซลล์ เป็นต้น” ดร.วิวัฒน์ กล่าว

พลาสติกที่ผ่านการปรับปรุงคุณสมบัติทางนาเทคโนโลยีมีการใช้งานอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ จากการวิจัยและพัฒนาให้พลาสติกมีคุณสมบัติพิเศษ อาทิเช่น เมื่อผสมพลาสติกกับ นาโนเคลย์ หรือ Zeolite ที่ได้จากธรรมชาติ ช่วยให้พลาสติกมีคุณสมบัติกันการแพร่ผ่านของแก๊สได้ดีขึ้น ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาถังแก๊สพลาสติกที่ป้องกันการรั่วไหลและมีน้ำหนักเบา เมื่อเทียบกับถังเหล็ก

นอกจากนี้ยังมีเทคนิคเคลือบพลาสติกด้วยเส้นใยนาโน เพื่อกันออกซิเจนผ่านเข้าออก โดยนำไปใช้กับบรรจุภัณฑ์สำหรับผักสดเพื่อยืดอายุของผักผลไม้ได้นานขึ้น 10 วัน เหมาะสำหรับการขนส่ง

ในต่างประเทศผู้ผลิตยานยนต์อย่าบริษัท จีเอ็ม เริ่มใช้ชิ้นส่วนยานยนต์ที่ปรับปรุงคุณสมบัติด้วยนาโนเทคโนโลยีในรถยนต์บางรุ่น โดยวัสดุที่ผ่านการปรับปรุงคุณสมบัติสามารถทนความร้อนในอุณหภูมิสูง ลดการกรัดกร่อนทางเคมี หรือให้เป็นวัสดุกั้นการวิ่งผ่านของโมเลกุลแก๊สให้ช้าลงให้ได้เห็นบ้างแล้ว

สำหรับงานวิจัยนาโนเทคโนโลยีในไทยยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น โดยจำกัดอยู่ในสถาบันวิจัยและบริษัทเอกชนรายใหญ่ที่มีความสามารถในการลงทุนเทคโนโลยีเครื่องจักรชั้นสูงในการวิจัย

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

No comments: