Thursday, February 22, 2007

มฤตยูโลกร้อน

มฤตยูโลกร้อน

มหันตภัยยิ่งใหญ่ของโลกที่อาจล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ ไม่ใช่สึนามิ เฮอร์ริเคน ภูเขาไฟระเบิด หรือแผ่นดินไหว แต่เป็นมฤตยูร้ายที่แฝงเร้นมาในรูปของเชื้อโรคที่วิวัฒนาการไปพร้อมกับภาวะโลกร้อน การระบาดของโรคครั้งใหม่อาจสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจ และส่งผลให้ประชากรโลกล้มตายราวใบไม้ร่วง

นักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกยืนยันหนักแน่นมากกว่าครั้งไหนๆ ว่า ภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นเป็นเงื้อมมือของมนุษย์ ไม่ได้เป็นกลไกที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ" ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายวิเคราะห์วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (START) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวยืนยันหลังจากเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส เมื่อไม่นานมานี้

จากผลการวิเคราะห์ข้อมูลย้อนหลังที่ค่อนข้างยาวและละเอียดยิบ ดร.อานนท์ กล่าวอธิบายให้เห็นชัดเจนว่า ระดับอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องอย่างมีความหมายกับปัจจัยที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์มากกว่าผลที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ เช่น การระเบิดของภูเขาไฟ มุมเอียงของโลก จุดดับบนดวงอาทิตย์ รังสีจากนอกโลก

ก่อนหน้านี้ นักวิทยาศาสตร์โลกเห็นพ้องตรงกันว่า อุณหภูมิในประเทศแถบยุโรปได้เพิ่มสูงขึ้นราว 0.8 องศาเซลเซียสในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา ขณะที่คาดว่าอุณหภูมิโลกจะเพิ่มสูงขึ้นอีก 3.5 องศาเซลเซียสภายในปี ค.ศ. 2100

จากการสำรวจล่าสุดยังพบระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น 1-2 มิลลิเมตรต่อปี อากาศที่ร้อนขึ้นเพียงแค่ 0.025 องศาเซลเซียส มีผลให้โมเลกุลของน้ำขยายตัวเพิ่มขึ้น

ตามหลักสมุทรศาสตร์ น้ำทะเลแบ่งออกเป็นชั้น โดยระดับน้ำอุ่นเป็นระดับน้ำที่ลึกจากผิวน้ำราว 200-300 เมตร และลึกลงไปจากระดับดังกล่าวเป็นชั้นน้ำเย็น และมันจะแยกกันชัดเจน ทว่า อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นได้แผ่ความร้อนลงไปถึงระดับชั้นนำเย็นของมหาสมุทรแล้ว

"นักวิทยาศาสตร์ศึกษาพบหลักฐานยืนยันว่า ความร้อนที่อยู่ในบรรยากาศสามารถแพร่ลงไปลึกเฉลี่ยทั้งโลกราว 700 เมตรแล้ว และบางจุดของมหาสมุทรแอตแลนติกตอนเหนือน้ำอุ่นแพร่ลงไปถึง 1,000 เมตรด้วย ผลกระทบที่เห็นชัดเจนคือการกัดเซาะชายฝั่งและเกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว หากระดับน้ำยังอุ่นต่อเนื่องไปอีก 30-40 ปี โดยเฉพาะแถบมัลดีฟส์ ปากแม่น้ำบังกลาเทศ รวมทั้งไทย" ดร.อานนท์ กล่าว

โรคระบาด: หายนะจากโลกร้อน
การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิโลกไม่ได้ส่งผลเฉพาะความผันผวนทางด้านอากาศและระบบนิเวศเท่านั้น หากกระทบลึกลงไปถึงการเปลี่ยนแปลงของวัฏจักรการเติบโตของเชื้อโรค ทั้งแบคทีเรียและไวรัส โดยเฉพาะไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคไข้สมองอักเสบ ไข้หวัดนก หรือแม้กระทั่งไข้หวัดใหญ่ ดังนั้นผลของโลกร้อนที่น่าเป็นห่วง คือ โรคอุบัติใหม่ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงภาวะอากาศ

ศ.นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศูนย์ปฏิบัติการโรคทางสมอง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เล่าถึงความชาญฉลาดของเชื้อไวรัส ที่สามารถปรับตัวตามธรรมชาติได้ดีอย่างยิ่งว่า ลักษณะเฉพาะตัวของเชื้อไวรัสสามารถถ่ายทอดจากสัตว์สู่คน และสามารถหลบหลีกให้มีชีวิตอยู่ได้แม้ว่าจะอยู่ในภาวะที่แห้งแล้งก็ตาม เพราะว่าในช่วงที่แห้งแล้งไวรัสสามารถที่จะมีชีวิตอยู่ได้จากสัตว์ที่นำโรคประเภทต่างๆ สัตว์บินได้ เช่น นกและค้างคาว และสัตว์บกก็มีตั้งแต่กระรอก กระแต สัตว์ที่ขุดรูอยู่ เช่น หนู เพื่อรอเวลาที่อากาศเหมาะสมก่อนที่จะออกมาแพร่กระจายได้ใหม่อีกครั้ง

"ไวรัสเขาสามารถรอได้ เพราะฉะนั้นจึงมีเชื้อไวรัสที่เรียกว่า สงบแต่ไม่หายขาด มีการซ่อนตัวอยู่ เวลาที่เอื้ออำนวยเขาจะโผล่ออกมาใหม่" ศ.นายแพทย์ธีระวัฒน์ กล่าว

ปกติแล้ว ธรรมชาติได้สร้างความสมดุลกำหนดระยะห่างระหว่างสัตว์เหล่านั้นไม่ให้ใกล้ชิดกับคน แต่เมื่อเกิดสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลง อากาศที่แปรปรวน ฝนตก น้ำท่วม ส่งผลให้วัฏจักรตามธรรมชาติของเชื้อไวรัสเปลี่ยนแปลงไป

"การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมได้ร่นระยะห่างจากสัตว์เหล่านี้เข้ามาสู่คนได้ง่ายขึ้น การย่นระยะห่างของสัตว์ที่มีไวรัสซ่อนอยู่ถูกปรับเปลี่ยนด้วยมนุษย์ที่เข้าไปรุกล้ำเองด้วย" ศ.นายแพทย์ธีระวัฒน์ กล่าว

นักวิทยาศาสตร์จากศูนย์โรคปฏิบัติการทางสมอง เชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้เป็นหายนะที่มนุษย์ทำให้ธรรมชาติเสียหาย การรุกล้ำทำลายป่า การบุกรุกเข้าไปในพื้นที่อยู่อาศัยของสัตว์ที่เป็นพาหะของเชื้อไวรัส ทำให้สัตว์เหล่านี้เข้ามาใกล้คนมากยิ่งขึ้น

"โดยธรรมชาติ ไวรัสที่ซ่อนอยู่ในสัตว์เหล่านี้ ไม่สามารถที่จะแพร่มาติดคนโดยตรง แต่จะแพร่ไปยังพาหะที่สามารถแพร่ติดต่อมาที่คนได้ สมมติว่ามาจากนก อาจจะต้องลงมาที่ยุง มาปล่อยที่หมูพร้อมแพร่เชื้อในกระแสเลือด เมื่อยุงกัดหมูมากัดคนซ้ำก็เกิดโรค ลักษณะวงจรแบบนี้เกิดจากมนุษย์เอาตัวไปใกล้ไวรัสเพิ่มมากขึ้น" ศ.นายแพทย์ธีระวัฒน์ กล่าว

สิ่งที่น่ากลัว คือการปรับตัวของสัตว์นำโรคที่เพิ่มจำนวนขึ้นจากอุณหภูมิโลก อากาศที่ร้อนขึ้นส่งผลให้ยุงเพิ่มประชากรมากขึ้น และมีถิ่นที่อยู่อาศัยมากขึ้นกว่าเดิม ดังนั้น ร้อนนี้อย่าแปลกใจหากพบยุงดูดเลือดเพิ่มจำนวนมากขึ้น จนกระทั่งกลายเป็นกองทัพยุง

"เมื่อธรรมชาติเสียสมดุล สัตว์ที่แพร่เชื้อก็เพิ่มมากขึ้น ยุงมีจำนวนมากขึ้น หมูก็มีมากขึ้น เมื่อยุงกัดหมูก็ไปเพาะไวรัสในหมู และนักวิทยาศาสตร์พบว่าเชื้อไวรัสในหมูส่งผลให้ระบบประสาทของยุงผิดปกติ และยุงจะวิ่งเข้าหาคนมากกว่าปกติ เพราะว่ายุงจะมีระบบประสาทที่มีตัวรับคาร์บอนไดออกไซด์ เพราะฉะนั้นต่อไปยุงจะไม่กลัวคน แต่จะวิ่งเข้าไปกัดมากขึ้น" ศ.นายแพทย์ธีระวัฒน์ กล่าว
ปัญหาที่เกิดทั้งหมดทั้งปวงล้วนเกิดจากการเข้าไปปรับเปลี่ยนไปสร้างความไม่สมดุลระหว่างสัตว์ที่เป็นแหล่งซ่องสุมไวรัส และสัตว์เพาะโรค และตัวนำโรค ทำให้กลไกการทำงานทั้งหมดเปลี่ยนแปลงประสานงานกันมากขึ้นและเข้าใกล้คนมากขึ้น

"ถ้าสัตว์ทั้งสามชนิดสามารถประสานงานกันมากขึ้น จะลงไปสู่คนได้ง่ายขึ้น คนจะเป็นโรคมากขึ้น ที่สำคัญคือเมื่อไวรัสพัฒนาการมากขึ้น เมื่อติดคนที่ถือเป็นอันดับสุดท้าย ซึ่งเมื่อติดคนแล้วถ้าไม่หายก็คือ ตาย และปกติคนจะไม่มีศักยภาพในการแพร่โรคให้กับคนอื่นต่อไป แต่ขณะนี้พบไวรัสหลายตัวเริ่มปรับให้คนเป็นแหล่งเพาะโรค เช่นเดียวกับหมู เมื่อยุงมากัดคนก็สามารถแพร่เชื้อได้เมื่อไปกัดคนอื่นต่อไปอีก" ศ.นายแพทย์ธีระวัฒน์ กล่าว

มฤตยู "รีเทิร์น"
เมื่อกลไกของการแพร่เชื้อถูกเปลี่ยนไปจากอาการที่เรียกว่า ธรรมชาติเสียสมดุล สิ่งที่ตามมาคือ การพัฒนาของเชื้อโรคที่ต้องจับตามอง ผศ.ดร.กำพล รุจิวิชชญ์ อาจารย์คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เล่าถึงโครงการศึกษายีนก่อโรคและรูปแบบดีเอ็นเอของเชื้ออหิวาตกโรค (Vibrio cholerae O1, O139) สายพันธุ์ที่ทำให้ก่อโรคอหิวาตกโรคในคน ว่าเป็นผลที่เกิดจากภาวะโลกร้อน

ทีมวิจัยได้ลงไปศึกษาบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำบางปะกง มีระยะเวลาในการติดตามในช่วงปี 2548-2551 พบว่า อุบัติการณ์ของเชื้อโรคเปลี่ยนไปจากเดิมที่มักระบาดในช่วงหน้าร้อน เนื่องจากหน้าแล้งน้ำน้อยจะมีความเข้มข้นของสิ่งสกปรกเยอะและถ้าไม่สะอาดจะทำให้เชื้อก่อโรคได้ง่าย

"เบื้องต้นพบประเด็นที่น่าสนใจว่าแม้เชื้ออหิวาต์ในแม่น้ำทั้งในไทยและอินเดียไม่ใช่เชื้อที่ก่อให้เกิดโรคได้ แต่พบว่าหากอุณหภูมิของน้ำสูงขึ้นเพียง 0.5 องศาเซลเซียส อาจจะมีผลทำให้เชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่ไม่ก่อโรค กลายพันธุ์เป็นเชื้อที่ก่อโรคได้" ผศ.ดร.กำพล กล่าว

ผศ.ดร.กำพล บอกว่าถ้าอุณหภูมิเฉลี่ยโลกสูงขึ้น มีผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยของน้ำสูงขึ้น และเป็นสาเหตุให้เกิดเชื้อไวรัสที่ทำให้อหิวาตกโรคระบาดได้ตลอดปีได้ อย่างไรก็ตาม เพื่อความชัดเจนอาจจะต้องศึกษารายละเอียดมากขึ้น เพราะรายงานการวิจัยยังไม่มีความสมบูรณ์มากนัก โดยการศึกษาต้องตอบสมมติฐานเรื่องความสัมพันธ์ของภาวะโลกร้อนว่าจะส่งผลให้เกิดโรคอุบัติใหม่ในเมืองไทยหรือไม่ ปัจจุบัน การศึกษาเรื่องโรคอุบัติใหม่จากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศในเมืองไทยยังมีน้อยมาก

นอกจากนี้ คณะสหเวชศาสตร์ ยังให้ความสนใจเรื่องการระบาดของโรคไข้เลือดออกด้วย ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาพบว่ามีคนเสียชีวิตและเป็นไข้เลือดออกมากขึ้น โดยเฉพาะในกทม. ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยที่ยืนยันจากต่างประเทศ

ปัจจัยหนึ่งเกิดจากระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในน้ำที่เพิ่มขึ้น ทำให้วงจรการฟักตัวของไข่ยุงเร็วขึ้นจนประชากรยุงลายมีมาก และส่งผลให้การระบาดของไข้เลือดออกโดยเฉพาะในกทม. ซึ่งมีระดับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าพื้นที่อื่น
พันธุ์หมาบ้า

ขณะเดียวกัน ศ.นายแพทย์ธีระวัฒน์ ระบุว่า โรคพิษสุนัขบ้าที่เกิดขึ้นซ้ำซากกำลังจะกลับมาใหม่เพราะประชากรสุนัขงอกงามมากขึ้นอีก เดิมเชื่อกันว่า โรคพิษสุนัขบ้าจะแพร่เชื้อเฉพาะฤดูร้อนนั้น เป็นเรื่องเข้าใจผิด เพราะเมื่อถึงฤดูติดสัดสุนัขจะกัดกันเองทำให้แพร่เชื้อไวรัส สุนัขบางตัวมีอาการ บางตัวไม่มีอาการ และระยะฟักตัวของเชื้อในสุนัขไม่เท่ากัน ดังนั้น สุนัขจึงเป็นตัวแพร่เชื้อได้โดยไม่จำกัดว่าจะเป็นฤดูร้อนเท่านั้น นอกจากนี้ ยังพบว่าค้างคาวไทยสามารถนำเชื้อพิษสุนัขบ้าสายพันธุ์ใหม่ได้เช่นกัน

"อัตราการเกิดโรคพิษสุนัขที่มีไวรัสในน้ำลายอยู่ที่ร้อยละ 50 เพราะฉะนั้นเมื่อรับเชื้อจะเกิดโรคได้ในระยะเวลาต่างๆ กัน เกิดขึ้นได้ทั้งปีไม่ใช่เฉพาะหน้าร้อน" ศ.นายแพทย์ธีระวัฒน์ กล่าว

นอกจากโรคพิษสุนัขบ้าที่มีแนวโน้มระบาดรอบใหม่แล้ว ยังมีโรคไข้สมองอักเสบที่พบอัตราการเจ็บป่วยปีละ 800-1,000 คน ซึ่งเชื่อว่าน่าจะมีผู้ป่วยมากกว่านี้ เนื่องจาก เฉพาะผู้ป่วยที่โรงพยาบาลจุฬาฯ เองมีประมาณ 260 คน แต่ระบบการตรวจสอบข้อมูลที่เกิดโรคอาจจะไม่ดีนักทำให้รวบรวมตัวเลขผู้ติดเชื้อได้ไม่ดี

เมื่อแนวโน้มการเกิดโรคเพิ่มมากขึ้น ศ.นายแพทย์ธีระวัฒน์ ชี้ว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือ การป้องกันโรค และต้องปิดช่องโหว่ทั้งหมดที่นำโรค "คนมีช่องทางรับเชื้อโรคได้หลายทาง ไม่ว่าจะทางปากจากการรับประทานอาหาร จมูกจากการหายใจ อวัยวะสืบพันธุ์ ผิวหนังที่มีแผลจากยุงกัด แมลงกัด เพราะฉะนั้น เมื่อพื้นฐานการป้องกัน คือหน้าที่ของทุกคน การรักษาสุขภาพไม่ใช่ของรัฐ ไม่ใช่หน้าที่กระทรวงสาธารณสุข แต่ทุกคนมีหน้าที่รักษาสุขภาพของตัวเอง"

"การรักษาสุขภาพของคนทั่วไปคือ การกินของสุก ประเทศไทยต้องกินของสด ผักสดต้องล้างสะอาด เปลี่ยนค่านิยม ต้องใช้ช้อนกลาง ป้องกันอย่าให้ยุงกัด เราจะมานั่งรอให้ กทม. หน่วยงานรัฐมาพ่นหมอกควัน เป็นวิธีการกำจัดยุงลายที่เป็นเพียงแค่มาตรการปลอบใจ เพราะว่ายุงลายอยู่ในบ้าน การพ่นหมอกควันไม่สามารถแก้ปัญหาได้ แต่ต้องกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงที่ขังน้ำสะอาดในบ้านต้องคว่ำให้หมด" ศ.นายแพทย์ธีระวัฒน์ กล่าว

ส่วนหน้าที่ของรัฐจะต้องสร้างมาตรฐานผลิตภัณฑ์ เช่น การกำหนดมาตรฐานยากันยุง ซึ่งเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พร้อมทั้งทำแผนก้าวหน้าเชิงรุกซึ่งสำคัญที่สุดคือ การประสานงานระหว่างหน่วยงานนำข้อมูลมาแชร์กันเพื่อร่วมกันป้องกัน

ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com/
Link: http://www.bangkokbiznews.com/2007/02/22/WW06_WW06_news.php?newsid=55726

No comments: