Tuesday, February 13, 2007

8 เทคโนโลยีกู้วิกฤตสิ่งแวดล้อม

8 เทคโนโลยีกู้วิกฤตสิ่งแวดล้อม (จบ)

สัปดาห์ที่แล้ว ได้มีการนำเสนอเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาในต่างประเทศ 3 ประเภท จากทั้งหมด 8 ประเภท จากนิตยสารบิซิเนส 2.0 ฉบับวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2550 ประกอบด้วย เครื่องจ่ายพลังงานไฮโดรเจน เครือข่ายตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมแบบไร้สาย พืชดูดสารพิษ สำหรับเทคโนโลยีที่จะเป็นเสมือนผู้พิทักษ์โลกแห่งอนาคตที่เหลืออีก 5 ประเภท มีดังนี้

ระบบฟอกขยะนิวเคลียร์ พลังงานนิวเคลียร์นับเป็นทางเลือกใหม่ที่มาแรงในปัจจุบัน เพราะสามารถตอบโจทย์ในแง่ที่ปลอดก๊าซที่ก่อภาวะโลกร้อน แต่ก็ต้องติดขัดกับอุปสรรคที่ว่า จะจัดการอย่างไรกับกากกัมมันตภาพรังสีเหลือทิ้งซึ่งใช้เวลาเป็นร้อยเป็นพันปีในการย่อยสลาย ทางออกจึงมาอยู่ที่การรีไซเคิล โดย อากอร์ เนชันเนล แล็บของรัฐบาลสหรัฐ ในนครชิคาโก ได้พัฒนาเทคโนโลยีเคมีที่เรียกว่า ยูเร็ก+ ซึ่งสามารถสกัดแร่ยูเรเนียมที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้ และแยกธาตุซีเซียม

ผลที่ได้คือ สามารถอัดกากนิวงเคลียร์เพื่อนำไปฝังใต้ดินได้มากกว่าเดิมถึง 4 เท่า เทคโนโลยีนี้จะช่วยสานฝันให้โรงนิวเคลียร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกลายเป็นจริงขึ้นมาได้ในที่สุด

หุ่นเฝ้าระวังใต้น้ำ ไม่เพียงสิ่งแวดล้อมบนบกเท่านั้นที่กำลังเป็นปัญหา แต่ยังรวมถึงระบบนิเวศใต้ผิวน้ำด้วยที่ย่ำแย่ ทั้งจากปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยน ปลาลดจำนวน และปะการังฟอกขาว การสำรวจพื้นที่ปราศจากอากาศที่ครอบคลุมถึง 1 ใน 3 ของพื้นผิว โลกควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของหุ่นยนต์ ทว่า เครื่องกลที่สำรวจท้องน้ำในปัจจุบันมีขนาดใหญ่ งุ่มง่าม และราคาสูง และต้องผูกติดกับเรือซึ่งควบคุมการทำงานโดยมนุษย์ แต่ไม่ใช่สำหรับหุ่นยนต์ที่ชื่อ สตาร์บัก ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาสมรรถนะในออสเตรเลีย สตาร์บักเป็นหุ่นยนต์สูง 4 ฟุต ทำงานด้วยระบบอัตโนมัติ มีสมรรถนะในการทดสอบหลักดีเยี่ยม

แมทธิว ดันบาบิน ผู้ออกแบบหุ่น ได้สร้างให้สตาร์บักมีคุณสมบัติในการตรวจสอบคุณภาพน้ำ ระบุถิ่นอาศัยของสัตว์น้ำ และสำรวจแหล่งปะการังที่ถูกทำลาย นอกจากนี้ยังสามารถใช้ตรวจสอบการลดจำนวนประชากรของสัตว์น้ำและช่วยในการสำรวจแหล่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันได้ด้วย

หากต้องการใช้บริการสตาร์บัก จะต้องควักกระเป๋าราว 2.4 หมื่นเหรียญสหรัฐ (ราว 8.2 แสนบาท) ทีมงานของดันบาบินกำลังสร้างสตาร์บักรุ่นถัดไป และคาดว่าจะเปิดสายการผลิตได้ภายในท้ายปีนี้

ระบบทำความสะอาดน้ำด้วยคลื่นเสียง คือเทคโนโลยีล่าสุดที่จะช่วยผ่าทางตันปัญหาขาดแคลนน้ำสะอาดของประชากรกว่า 1.1 ล้านคน ด้วยการยิงลำแสงคลื่นอัลตราซาวด์เข้าสู่น้ำสกปรก เพื่อทำลายสิ่งปนเปื้อนที่มีคาร์บอนเป็นองคืประกอบ ผลลัพธ์ที่ได้คือ น้ำสะอาด

เทคโนโลยีนี้จะสามารถช่วยบำบัดน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยวิลลาโนววา ในสหรัฐ กำลังศึกษาถึงวิธีการที่จะใช้คลื่นเสียงช่วยแยกตัวสารเคมีให้มีองค์ประกอบให้มีอันตรายน้องลง

ระบบติดตามสัตว์หายาก ปัจจุบันมีสัตว์และพืชหายากมากถึง 1.6 หมื่นสปีชีส์ และมีแนวโน้มจะลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ นักอนุรักษ์จึงพยายามหาทางติดตามสัตว์ใกล้สูญพันธุ์เหล่านั้น โดยใช้ระบบคลื่นวิทยุและระบบเซ็นเซอร์จีพีอาร์เอส แล้วใช้โปรแกรมเว็บ 2.0 ในการร่างถิ่นที่อยู่ที่ระบุชนิดและพฤติกรรมของสัตว์เหล่านั้น โดยมีจุดมุ้งหมายเพื่อกำหนดและออกแบบแผนอนุรักษ์สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ ในอินเดีย ได้มีการจัดตั้งศูนย์อนุรักษ์สเปิร์มและดีเอ็นเอของเสือเบงกอล และสัตว์ประเภทอื่นๆ ซึ่งจะได้รับการโคลนในที่สุด

วงจรหมุนเวียนพลังงานแบบอินเตอร์แอ็กทีฟ บริษัท แคลิอร์เนีย ยูทิลิตี แปวิฟิก แอนด์ อิเล็กทริก กำลังพัฒนา
ระบบผลิตไฟฟ้าครบวงจรสำหรับอนาคต ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับอินเทอร์เน็ตในแง่ที่มีคุณสมบัติอินเตอร์แอ็กทีฟและสามารถป้อนไฟฟ้าได้เรื่อยๆ โดยไม่มีวันหมด เพื่อทดแทนระบบเครือข่ายพลังงานทางเดียวอย่างที่ใช้กันในปัจจุบัน

วงจรพลังงานดังกล่าวจะรวมถึงโรงผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ ซึ่งใช้เทคโนโลยีน้ำพุร้อน จะดำเนินการในแคลิฟอร์เนียใต้และทะเลทรายเซาท์เวสต์ โดยจะมีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ตามพื้นที่ส่วนต่างๆ ของอาคาร ทั้งด้านบนหลังคา กำแพง หน้าต่าง บ้าน และตามสำนักงาน ซึ่งจะกลายเป็นสถานีพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อป้อนกลับสู่ระบบ

นอกจากนี้ ยังมีโรงพลังงานลมที่ได้จากการหมุนกังหัน ซึ่งบริษัท เวฟ พาวเวอร์ พีจีแอนด์อี กำลังเล็งสร้างโรงผลิตพลังงานในพื้นที่ชายฝั่งแคลิฟอร์เนียตอนเหลือ ด้านบริษัท คาร์ พาวเวอร์ พีจีแอนด์อี กำลังพัฒนาเทคโนโลยีที่จะช่วยให้ไม่เพียงช่วยให้รีชาร์จแบตเตอรี่เข้าสู่รถยนต์ไฮบริดได้เท่านั้น แต่ยังสามารถป้อนกระแสไฟฟ้ากลับสู่ระบบได้อีกด้วย ปิดท้ายด้วยโรงพลังงานสะอาดจากถ่านหิน ซึ่งมีระบบดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ก่อนที่จะปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศ

คงต้องภาวนาให้เทคโนโลยีอัจฉริยะเหล่านี้ได้รับการสานฝันในเร็ววันที่สุด ก่อนที่สิ่งแวดล้อมสดใสจะกลายเป็นเพียงภาพในตำราหรือจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์เท่านั้น

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ TODAY

No comments: