Sunday, February 4, 2007

8 เทคโนโลยี

8 เทคโนโลยี กู้วิกฤตสิ่งแวดล้อม (1)

ปัญหาจากโลกร้อน มลพิษ การขาดแคลนพลังงาน การประมงเกินขนาด ได้ทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ และดูเหมือนว่าเทคโนโลยีมนุษย์ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นในปัจจุบันยังไม่สามารถบรรเทาความรุนแรงของผลกระทบจากปัญหาทั้งต่อระบบเศรษฐกิจและวิถีชีวิตของมนุษย์ได้อย่างจริงจัง แม้กระทั้งที่ประชุมเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม ยังได้หยิบยกเอาประเด็นเรื่องภาวะโลกร้อนขึ้นมาอภิปรายอย่างกว้างขวางในฐานะที่เป็นภัยคุกคามเศรษฐกิจโลก

นอกจากกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่ค้นคว้าวิจัยถึงที่มาที่ไป ตลอดจนผลกระทบของปัญหาสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมีนักวิทยาศาสตร์สมองใสและบริษัทเอกชนหลายแห่งที่ทุ่มความพยายามในการคิดค้นพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อทดแทนเทคโนโลยีเดิมที่ก่อกวนสภาพแวดล้อม หรืออย่างน้อยก็เพื่อไม่ทำให้สิ่งแวดล้อมย่ำแย่กว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับทิศทางของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสีเขียวจึงเป็นที่น่าจับตายิ่ง ในฐานะที่จะมีส่วนช่วยชะลอผลกระทบต่อเศรษฐกิจในอีกหลายทศวรรษข้างหน้า

นิตยสารบิสิเนส 2.0 ฉบับวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2550 ได้รวบรวมเอาสุดยอดเทคโนโลยี 8 ประเภท ซึ่งได้รับการคิดค้นและพัฒนาขึ้นเพื่อกรุยทางสู่อนาคตสีเขียว ทั้งที่มีแนวโมจะออกวางจำหน่ายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และยังอยู่ระหว่างการพัฒนา ประกอบด้วย เครื่องจ่ายพลังงานไฮโดรเจน เครือข่ายตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมแบบไร้สาย พืชดูดสารพิษ ระบบฟอกขยะนิวเคลียร์ หุ่นยนต์เฝ้าระวังใต้น้ำ ระบบทำความสะอาดน้ำด้วยคลื่นเสียง ระบบติดตามสัตว์หายากและวงจรหมุนเวียนพลังงานแบบอินเตอร์แอ็กทีฟไม่แน่ว่า หนึ่งในเทคโนโลยีเหล่านี้อาจได้รับการพัฒนาจนกลายเป็นธุรกิจที่ได้รับความนิยมในฐานะฮีโร่กู้วิกฤตสิ่งแวดล้อมโลกในที่สุด

• เครื่องจ่ายพลังงานไฮโดรเจน ซึ่งได้รับการพัฒนาโดยทีมนักวิทยาศาสตร์ในเมืองเมลเบิร์น ออสเตรเลีย เครื่องจ่ายพลังงานไฮโดรเจนต้นแบบนี้เดินเครื่องด้วยไฟฟ้าซึ่งผลิตได้จากแผงพลังงานแสงอาทิตย์ที่อยู่บนหลังคาของตู้ และคาดว่าจะสามารถผลิตไฮโดรเจนได้มากพอสำหรับการเดินทางระยะ 100 ไมล์ โดยไม่ต้องปล่อยก๊าซที่ทำให้โลกร้อนขึ้น แน่นอนว่าพลังงานที่ได้จากตู้ไฮโดรเจนนี้จะยังเป็นอุปสรรคสำหรับการเดินทางไกล จึงเหมาะสำหรับการเดินทางไกล
• หัวใจของเครื่องจ่ายไฮโดรเจนจะอยู่ที่กระบวนการแยกน้ำเป็นไฮโดรเจนและออกซิเจนโดยใช้กระแสไฟฟ้า ซึ่งได้จากแผงพลังงานแสงอาทิตย์ ไฮโดรเจนที่ได้จากกระบวนการนี้จะถูกกักเก็บไว้เพื่อพร้อมใช้งานสำหรับที่ใช้พลังงานฟูเอลเซลล์หรือรถไฮบริด โดยจะจ่ายไปยังเครื่องเปลี่ยนไฮโดรเจนให้เป็นก๊าซต่อไป

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคใหญ่ 2 ประการ ในการสานฝันโครงการนี้อยู่ที่ต้นทุนมหาศาลจากค่าใช้จ่ายพันล้านเหรียญสหรัฐในการสร้างเครือข่ายท่อส่งก๊าซและสถานีจ่ายก๊าซไฮโดรเจนเพื่อทดแทนปั๊มน้ำมันตามท้องถนน ส่วนอีกประการมาจากข้อเท็จจริงที่ว่า ไฮโดรเจนส่วนใหญ่ผลิตขึ้นจากการเผาผลาญพลังงานฟอสซิลซึ่งย่อมใช่กระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง

โครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างการเจรจากับบริษัทเอกชนเพื่อเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนธุรกิจ และการทดสอบจะมีขึ้นในช่วงต้นปีนี้ และจะเริ่มทดลองวางข่ายในอีก 2 ปีข้างหน้า ในราคาราว 500 เหรียญสหรัฐ (ราว 1.7 เหรียญ

• เครือข่ายตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมแบบไร้สาย ทั้งที่อยู่ในอากาศ ฝังอยู่ใต้พื้นดิน และอยู่ในมหาสมุทร ซึ่งจะทำหน้าที่เฝ้าระวังคุณภาพอากาศ น้ำ และดิน พร้อมระบุถึงปริมาณสารเคมี สิ่งปนเปื้อน และความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิและความกดอากาศได้อย่างแม่นยำและเที่ยงตรง

เครือข่ายนี้จะสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับปรากฏการณ์ต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม ทั้งการเปลี่ยนแปลงของอากาศ พายุเฮอริเคน มลพิษทางน้ำและอากาศแบบนาทีต่อนาที บรรดานักวิทยาศาสตร์ต่างกำลังใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีไร้สายและนานาเทคโนโลยีเพื่อสร้างเครือข่ายจับคุณภาพสิ่งแวดล้อมรูปแบบนี้ขึ้นมา

โจ หวัง นักวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย แห่งมลรัฐแอริโซนา ในสหรัฐ ได้เริ่มใช้เครือข่ายดังกล่าวแล้วในอ่าวซาน ดิเอโก และคลองเวนิซ เพื่อเฝ้าระวังระดับปริมาณโลหะหนักและการปนเปื้อนสารปรอท ขณะเดียวกัน ทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยบริติช โคลัมเบีย และมหาวิทยาลัยเบิร์กเลย์ ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ก็ได้ประดิษฐ์เซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งมีขนาดเล็กเท่าเหรียญ และสามารถจ่ายพลังงานให้กับตัวแปรสัญญาณเครือข่าย ซึ่งในอนาคตอาจได้รับการพัฒนาให้สามารถเฝ้าระวังคุณภาพน้ำในแม่น้ำ หรือไม่ก็ตรวจหารอยรั่วของท่อก๊าซได้

• พืชดูดสารพิษ การปลูกป่าเพื่อสร้างโรงอาหารสำหรับต่อลมหายใจของสิ่งแวดล้อม นับเป็นความคิดดีที่ไม่อาจปฏิเสธได้ และจะยิ่งดีขึ้นอีกหากว่าต้นไม้ที่นำมาปลูกยังสามารถช่วยดูดซับสารพิษจากโรงงานจากโรงงานอุตสาหกรรมได้ด้วย และนี่คือที่มาของเทคโนโลยีไฟโตรีมีดิเอชัน (Phytoremediation) หรือการใช้พืชมาช่วยบำบัดสิ่งแวดล้อมซึ่งคิดค้นขึ้นมานานแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่ามีประสิทธิภาพจริง

ทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยยอร์ก ในอังกฤษ ค้นพบว่า แบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในรากต้นไป่หยาง (Poplar) จะผลิตเอนไซม์ที่สามารถย่อยสลายกากของเหลือจากสารอาร์ดีเอ็กซ์ที่ได้จากแวดลงอุตสาหกรรม จึงได้พยายามหาวิธีการเพิ่มประสิทธิภาพของเอนไซม์ชนิดนี้ให้สามารถดูดซับของเสียได้มากยิ่งขึ้น ด้านนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยจอร์เจียได้ปลูกถ่ายพันธุกรรมจากแบคทีเรียในดอกไม้ที่ช่วยชะล้างการปนเปื้อนสารปรอท ฉะนั้นอย่าแปลกใจหากมีการซื้อขายต้นไป่หยางอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ควบคู่กับการผุดนิคมอุตสาหกรรมในอนาคต

โปรดติดตามสุดยอดเทคโนโลยีกู้วิกฤตสิ่งแวดล้อมโลกในอีก 5 ประเภท ที่เหลือในสัปดาห์หน้า

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ TODAY

No comments: