Monday, February 12, 2007

เร่งปลูกป่าพื้นที่เสื่อมโทรม

เร่งปลูกป่าพื้นที่เสื่อมโทรม ดูดซับก๊าซเรือนกระจก...สู้วิกฤตโลกร้อน

การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลกในช่วงนี้ มิได้จำกัดอยู่ที่อุณหภูมิของโลกที่ร้อนขึ้นอย่างเห็นได้ชัด หากแต่ยังนำมาซึ่งความแปรปรวนของภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศ สภาพรอยต่อการเปลี่ยนฤดูเริ่มมีภาวะผิดปกติ ฤดูหนาวที่มาช้าผิดปกติ ช่วงเวลาฤดูร้อนยาวนานมากขึ้น รวมถึงอุบัติภัยทางธรรมชาติที่มีความถี่ขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น สึนามิ หรือพายุ นักวิทยาศาสตร์บางท่านตั้งข้อกังขาว่า ปรากฏการณ์อันแปรปรวนเหล่านี้ บ่งชี้ว่าภาวะโลกร้อนอันเนื่องมาจากปรากฏการณ์เรือนกระจกได้เกิดขึ้นแล้ว

น.ส.ศุภิกา วานิชชัง นักศึกษาโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) จากบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) กล่าวว่า ก๊าซเรือนกระจกที่เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ก๊าซไนตรัสออกไซด์ และก๊าซโอโซน เป็นต้น ในระบบนิเวศน์ ก๊าซที่ถูกปล่อยออกมานั้นจะมีแหล่งที่ดูดกลับก๊าซดังกล่าวไปใช้ ช่วยให้ก๊าซที่สะสมในบรรยากาศไม่มากเกินไป เรียกว่าเกิดสมดุลของการแลกเปลี่ยนก๊าซระหว่างแหล่งปลดปล่อยและดูดกลับ เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาจากกิจกกรมทางพลังงานจะถูกต้นไม้ดูดกลับโดยผ่านกระบวนการสังเคราะห์แสง เป็นต้น

ก๊าซมีเทน เป็นก๊าซเรือนกระจกอีกตัวหนึ่งที่มีปะปนอยู่มากในบรรยากาศ แหล่งปล่อยก๊าซมีเทนที่สำคัญมาจากแหล่งพลังงานฟอสซิล เช่น ก๊าซธรรมชาติ แหล่งทำการเกษตรที่สำคัญอย่างนาข้าว ปศุสัตว์ และระบบนิเวศน์ธรรมชาติ เช่น ป่าพรุ และพื้นที่ชุ่มน้ำต่างๆ ที่มีน้ำขังอยู่เป็นเวลานาน ดินที่มีน้ำท่วมอยู่ตลอดเวลานั้นจะเกิดสภาพไร้ออกซิเจน ทำให้เกิดปฏิกิริยาที่ให้ก๊าซมีเทน ก๊าซจากผิวดินจะถูกลำเลียงผ่านลำต้นของพืช หรือแพร่ผ่านผิวน้ำและถูกปล่อยสู่บรรยากาศ จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า กว่าร้อยละ 60 ของก๊าซมีเทนที่ปล่อยออกมาทั้งหมดในประเทศไทยมาจากนาข้าว

จากการศึกษาและทำการวิจัยด้านการปลดปล่อยและแลกเปลี่ยนก๊าซมีเทนระหว่างบรรยากาศและระบบนิเวศน์อย่างต่อเนื่องของน.ส.ศุภิกา ทำให้ทราบรายละเอียดของกลไกของการเกิดและปลดปล่อยก๊าซมีเทนในบรรยากาศ โดยป่าจะทำหน้าที่ในการดูแลกลับก๊าซมีเทนจากบรรยากาศผ่านกระบวนการออกซิไดช์ก๊าซมีเทนทางชีวภาพ (Biological methane oxidation) โดยในดินป่า ซึ่งมีการทับถมของเศษซากใบไม้ที่เป็นแหล่งอินทรีย์สารที่สมบูรณ์ จะมีแบคทีเรียอาศัยอยู่

“การศึกษาในพื้นที่ 3 แหล่ง คือ ป่าธรรมชาติ ป่าปลูกใหม่และแหล่งทำการเกษตร พบว่า พื้นที่ป่าธรรมชาติสามารถดูดกลับก๊าซมีเทนจากบรรยากาศได้มากที่สุด รองลงมาคือพื้นที่ป่าปลูกใหม่ ขณะที่ในแหล่งทำการเกษตรไม่พบการลดลงของปริมาณก๊าซมีเทน

อีกทั้งจากการเก็บตัวอย่างอินเพื่อทำการศึกษาสิ่งมีชีวิตในดินที่มีผลต่อการลดลงของก๊าซมีเทนด้วยวิธีการแยกดีเอ็นเอและเปรียบเทียบลำดับเบสของดีเอ็นเอ พบว่า แบคทีเรียที่มีความเข้มข้นสูงได้เท่านั้น ซึ่งโดยปกติก๊าซมีเทนในบรรยากาศ ต่างจากแบคทีเรียในดิน บริเวณพื้นที่การเกษตรที่จะดูดกลับก๊าซมีเทนที่มีความเข้มข้นสูงได้เท่านั้น ซึ่งโดยปกติก๊าซมีเทนในบรรยากาศจะมีความเข้มข้นน้อยหรือประมาณ 1.75 ส่วนของก๊าซมีเทนในล้านส่วนของอากาศ ดังนั้น แบคทีเรียในแหล่งทำการเกษตรจึงไม่มีความสามารถในการดูดซับก๊าซมีเทนที่ความเข้มข้นระดับบรรยากาศได้”

จากการศึกษาพบว่า แบคทีเรียที่อยู่ในดินเหล่านี้จะดูดซับก๊าซมีเทนจากบรรยากาศอยู่ตลอดเวลา โดยปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมันคือ ก๊าซออกซิเจนและก๊าซมีเทนจากบรรยากาศ แบคทีเรียจะไม่สามารถดูดซับก๊าซได้เลยถ้าอยู่ในสภาพไร้ออกซิเจน พื้นดินในป่าเป็นแหล่งที่เหมาะสมในการดำรงชีวิตและการดูดซับก๊าซของแบคทีเรียมาก เนื่องจากเศษใบไม้ที่ทับถมกันในป่าจะมีการย่อยสลายเป็นอินทรียสารตามธรรมชาติมีช่องว่างในการผ่านเข้าออกของออกซิเจนได้อย่างสะดวก แต่การทำการเกษตรที่ตองมีการรบกวนผิวดินอยู่เป็นประจำนั้น ทำให้ดินมีการอัดแน่นมากขึ้น ออกซิเจนแทรกเข้าไประหว่างอนุภาคของเม็ดดินได้ลำบาก อีกทั้งยังมีการใส่ปุ๋ย หรือสารเคมี ที่รบกวนการดำรงชีวิตของแบคทีเรีย ทำให้ศักยภาพในการดูดก๊าซมีเทนเปลี่ยนไป

ผลการศึกษาดังกล่าวจึงนับเป็นการยืนยันและแสดงให้เห็นว่า “ป่า” มีความสำคัญต่อการควบคุมระดับก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศมาก เพราะนอกจากต้นไม้ที่ทำหน้าที่ดูแลกลับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แล้วยังมีแบคทีเรียในดินในป่าที่ช่วยดูดกลับก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีความสำคัญอีกด้วย ดังนั้น หากมีการปลูกป่าขึ้นใหม่ในพื้นที่เสื่อมโทรม และลดการรบกวนพื้นดินบริเวณนั้น ความสามารถของดินในการเป็นแหล่งดูดกลับก๊าซมีเทนจะฟื้นคืนกลับมาได้ดังเดิม

ที่สำคัญผลวิจัยการปลดปล่อยและการดูดซับมีเทนในแต่ละพื้นที่นี้ยังนับเป็นองค์ความรู้พื้นฐานที่จะทำให้ทราบว่าป่าในประเทศไทยช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้ในปริมาณเท่าไหร่ เพื่อใช้เป็นข้อมูลยืนยันในการหักลบสัดส่วนการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย หรือเป็นข้อมูลประกอบในการพิจารณารับข้อเสนอการดำเนินการกลไกพัฒนาที่สะอาด (CDM-Clean Development Mechanism) ข้อตกลงร่วมกันในการดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกใต้พันธะกรณีของพิธีสารโตเกียวในอนาคต

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ TODAY

No comments: