Friday, February 23, 2007

ดาวเทียมไทยคม


รู้จักดาวเทียมไทยคม

ขณะที่สถานการณ์ตรวจสอบเพื่อนำดาวเทียมไทยคมกลับคืนสู่อ้อมกอดคนไทยกำลังดุเดือด กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เดินเครื่องขอร่วมตรวจสอบการถือครองหุ้นของบริษัท ชินแซท เทลไลท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SATTEL เจ้าของสัมปทานดาวเทียม ว่าต่างชาติถือครองหุ้นมากกว่า 49% หรือไม่
ถ้าใช่ ! จะได้ยึดสัมปทานคืนทันที เพราะกระทำผิดกฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว คาดจะใช้เวลา 1 เดือน

แต่ถ้าการถือครองหุ้นโปร่งใส กระทรวง ไอซีทีพร้อมดำเนินการซื้อสัมปทานดาวเทียมคืน ราคาประเมินไว้ไม่เกิน 1 หมื่นล้านบาท

นายสิทธิชัย โภไคยอุดม รมว.ไอซีที กล่าวว่า ดาวเทียมเป็นสิ่งชั่วคราว แต่ตำแหน่งของการจอดพักดาวเทียม ซึ่งไทยเจรจากับสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) ถือเป็นสมบัติของชาติ ซึ่งเทคโนโลยีปัจจุบันทำให้มีดาวเทียมจอดอยู่ได้ 4-5 ดวง ในจุดเดียวกัน แต่ในอดีตเทคโนโลยีดาวเทียมทำให้ดาวเทียมจอดได้เพียง 1 ดวง/1 จุด โดยดาวเทียมก็ถือเป็นสมบัติของรัฐบาลไทยตามสัญญาสัมปทานด้วย

ขณะที่กระแสการทวงคืนดาวเทียมกำลังระอุ เรามาทำความรู้จักกับดาวเทียมแต่ละดวงพอสังเขปดังนี้ เริ่มจากชื่อ “ไทยคม” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานนามดาวเทียมของโครงการอย่างเป็นทางการว่า “ไทยคม” (THAICOM) เพื่อเป็นสัญลักษณ์เชื่อมโยงประเทศไทยกับเทคโนโลยีสื่อสารใหม่ ซึ่งบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) (SATTEL) ได้รับสัมปทานโครงการดาวเทียมสื่อสารแห่งชาติจากกระทรวงคมนาคม (ปัจจุบันอำนาจการดูแลสัญญานี้ได้ถูกโอนไปอยู่ภายใต้กระทรวงไอซีที) เป็นระยะเวลา 30 ปี สิ้นสุดสัญญาในปี 2564 หรืออีก 14 ปี

ดาวเทียมไทยคม 1 ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2536 ก่อนย้ายตำแหน่งวงโคจรจาก 78.5 องศาตะวันออก ไปที่ตำแหน่งวงโคจร 120 องศาตะวันออก เมื่อเดือนพฤษภาคม 2540 และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ดาวเทียมไทยคม 1A ดาวเทียมไทยคม 1 เริ่มเปิดใช้งานเมื่อเดือนมกราคม 2537 ส่วนดาวเทียมไทยคม 1A เริ่มเปิดใช้งานเมื่อเมื่อเดือนมิถุนายน 2540

ดาวเทียมไทยคม 2 ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2537 เริ่มให้บริการในเดือนธันวาคม 2537 อยู่ที่ตำแหน่งวงโคจร 78.5 องศาตะวันออก

ดาวเทียมไทยคม 1 และดาวเทียมไทยคม 2 เป็นดาวเทียมรุ่นแรกของโครงการดาวเทียมไทยคม มีอายุการใช้งาน 15 ปี โดยเป็นดาวเทียมรุ่น HS-376 ผลิตโดย บริษัท ฮิวจ์ แอร์คราฟท์ ประเทศสหรัฐอเมริกาหรือบริษัทโบอิ้งในปัจจุบัน พื้นที่การให้บริการครอบคลุมประเทศไทย ลาว กัมพูชา เมียนมาร์ เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เกาหลี ญี่ปุ่น และชายฝั่งตะวันออกของประเทศจีน ใช้เป็นดาวเทียมเพื่อการแพร่ภาพและกระจายเสียง

ดูจากข้อมูลข้างต้น ดาวเทียมไทยคม 1 และดาวเทียมไทยคม 2 เหลืออายุการทำงานอีก 2 ปี

ส่วน ดาวเทียมไทยคม 3 เป็นดาวเทียมรุ่น 3 แกน ผลิตโดย บริษัท อัลคาเทล สเปซ ซิสเต็ม ปัจจุบันดาวเทียมไทยคม 3 เลิกใช้งานแล้ว เพราะประสบปัญหาระบบพลังงานขัดข้องบางส่วน ส่งผลให้ไทยคม 3 ให้บริการได้ไม่เต็มที่ บริษัทจึงย้ายลูกค้าไปยังไทยคม 1A-2

สำหรับดาวเทียมไทยคม 4 หรือดาวเทียมไอพีสตาร์ (IPStar-1 หรือ Thaicom-4) เป็นดาวเทียมสื่อสารเชิงพาณิชย์ เพื่อการสื่อสาร 2 ทาง หรือเรียกว่า ดาวเทียมโทรคมนาคมที่ใหญ่และมีน้ำหนักมากที่สุด 6,505 กิโลกรัม ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2548 มีพื้นที่บริการของดาวเทียมครอบคลุมภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกทั้งหมด สามารถให้บริการแก่ประชากรในพื้นที่ดังกล่าวกว่า 2 พันล้านคน

และดาวเทียมดวงล่าสุดไทยคม 5 เป็นดาวเทียมเพื่อการแพร่ภาพและกระจายเสียง ยิงสู่วงโคจร เมื่อวันที่ 27 พ.ค.49 ดาวเทียมไทยคม 5 มียูบีซีเป็นลูกค้ารายใหญ่ ในฐานะพันธมิตรด้านกลยุทธ์ที่ย้ายการใช้งานจากดาวเทียมไทยคม 3 มีระยะเวลาสัญญา 13 ปี

ดร.อนุภาพ ถิรลาภ นักวิชาการด้านการสื่อสารและสารสนเทศ กล่าวว่า ดาวเทียมส่วนใหญ่เมื่อหมดอายุการใช้งานจะถูกดีดออกจากวงโคจร เพื่อนำดาวเทียมดวงใหม่เข้าประจำที่แทน และกลายเป็นขยะอวกาศ เนื่องจากเป็นวิธีกำจัดที่มีภาระน้อย โดยอีกวิธีในการปลดระวางดาวเทียมแต่ไม่เป็นที่นิยม คือ การส่งดาวเทียมเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก ดาวเทียมจะเกิดการเผาไหม้ ซึ่งต้องเล็งระยะการตกไม่ให้ตรงแหล่งชุมชน

ส่วนกรณีซื้อดาวเทียมคืนซึ่งเป็นกระแสครึกโครม ดร.อนุภาพ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่จะซื้อดาวเทียมคืน เนื่องจากไม่คุ้ม ทั้งเรื่องวัตถุประสงค์การใช้งาน เนื่องจากดาวเทียมไทยคม 4 เป็นดาวเทียมเกี่ยวกับการสื่อสาร 2 ทาง ซึ่งเป็นเชิงพาณิชย์ ถ้าจะนำมาใช้ในทางทหาร คิดว่าน่าจะทำดาวเทียมเพื่อรองรับการใช้งานทางทหารโดยเฉพาะจะคุ้มกว่า

ที่มา: http://www.dailynews.co.th
Link: http://www.dailynews.co.th/dailynews/pages/front_th/popup_news/Default.aspx?Newsid=118557&NewsType=1&Template=2

No comments: