ก.วิทย์ตั้งวงเสวนาสร้างสังคมเรียนรู้ทำวิทยาศาสตร์ให้เป็นเรื่องง่ายประชาชนเข้าถึง
กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จัดเวทีเสวนา "คุยกันฉันวิทย์" สร้างสังคมเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ดึงนักวิทยาศาสตร์ถ่ายทอดความรู้ในประเด็นที่สังคมสนใจ ทำวิทยาศาสตร์ให้เป็นเรื่องใกล้ตัว ทดลองจริงให้เห็นกับตา
ศ.ดร.ประมวล ตั้งบริบูรณ์รัตน์ รักษาการเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า กระทรวงจะจัดกิจกรรมเสวนา “คุยกัน...ฉันวิทย์” ขึ้นทุกวันศุกร์ หรืออย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้ง ต่อเนื่องตลอดปี โดยหยิบยกประเด็นทางวิทยาศาสตร์ที่อยู่ในความสนใจของสังคม มาเป็นหัวข้อเสวนาแลกเปลี่ยนระหว่างนักวิทยาศาสตร์กับแขกรับเชิญที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่สาธารณชน
กิจกรรมดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องจากความสำเร็จที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้จัดกิจกรรม "ถนนคนเดินเส้นทางสายวิทยาศาสตร์" ไปเมื่อสัปดาห์วันเด็กแห่งชาติ ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดี ส่วนกิจกรรมเสวนาครั้งนี้มุ่งเชิญครูและสื่อมวลชนมารับฟัง เพื่อนำไปถ่ายทอดหรือเผยแพร่สู่นักเรียนและประชาชนในวงกว้างต่อไป
เวทีเสวนาคุยกันฉันวิทย์รอบแรกจัดไปแล้วเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยเชิญ ศ.ดร.ภิญโญ พานิชพันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมและพัฒนากระบวนการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล มาบรรยายในหัวข้อนวัตกรรมการเรียนการสอนเคมี และ ผศ.ดร.เทียนทอง ทองพันชั่ง ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มาสาธิตการทดลองทางวิทยาศาสตร์เคมี ส่วนครั้งต่อไปกำหนดจัดวันที่ 2 มีนาคม หัวข้อเกี่ยวกับดาราศาสตร์ เสวนาโดยนักวิจัยจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์
ศ.ดร.ประมวล กล่าวอีกว่า กระทรวงวิทย์ยังมีโครงการอื่นๆ อีกเช่น จะเชิญนักวิทยาศาสตร์ทั้งรุ่นเก่าและใหม่มาเสวนาให้ความรู้แก่ประชาชนและเยาวชนในช่วงสงกรานต์ กิจกรรมโครงการจัดทำห้องสมุดผู้ปกครองและมุมเยาวชนไว้ด้วยกัน
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมสานต่อนโยบายปลูกฝังปัญญาเยาว์บำรุงเฝ้าปัญญายืน ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ ที่แบ่งเป็น 5 กิจกรรม ได้แก่ ห้องสมุดเพื่อเสริมสร้างจินตนาการเด็ก, สื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อส่งเสริมให้เด็กใช้อินเทอร์เน็ต, รายการทีวีวิทยาศาสตร์ เช่น เมก้าเคลฟเวอร์ฉลาดสุดสุด, ของเล่นส่งเสริมการเรียนรู้และสื่อการสอนให้ครูวิทยาศาสตร์
ที่ผ่านมามีหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อาทิ ปรากฏการณ์วุ้นประหลาด และพบมนุษย์ต่างดาวกลางทุ่งนา สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนจำเป็นต้องใช้เหตุและผลทางวิทยาศาสตร์เพื่อพิสูจน์ความจริง
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
Tuesday, February 13, 2007
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment