"ทส."ส่งเครื่องบินสำรวจ พะยูน-ทรัพยากรทะเลหายาก
นางนิศากร โฆษิตรัตน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และ พล.ท.วินิต ศรฤทธิ์ชิงชัย เลขานุการมูลนิธิอนุรักษ์และพัฒนาอากาศยานไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ แถลงความร่วมมือ "โครงการบินสำรวจทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง" ระหว่างศูนย์ปฏิบัติการบินอาสา อนุรักษ์และกู้ภัยสิริภาจุฑาภรณ์ และมูลนิธิอนุรักษ์และพัฒนาอากาศยานไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นความร่วมมือครั้งแรก โดยจะสำรวจติดตามพฤติกรรมความเป็นอยู่ของสัตว์ทะเลหายาก โดยเฉพาะพะยูนที่มีจำนวนลดลงและแนวหญ้าทะเล ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของความหลากหลายทางชีวภาพในทะเล ในระหว่างวันที่ 19-28 ก.พ.นี้โดยใช้อากาศยานปีกตรึง ซึ่งมีสมรรถนะออกห่างจากชายฝั่งได้ไกล เครื่องยนต์มีเสียงเบา สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงต่ำและปลอดภัย สามารถบินสำรวจทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ทั่วถึงและมีประสิทธิภาพสูง
ภารกิจร่วมครั้งนี้จะทำการบินสำรวจบริเวณชายฝั่งทะเล อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ถึง จ.ตราด ระยะทางประมาณ 350 กิโลเมตร ตลอดแนวชายฝั่ง ขณะบินสำรวจจะบันทึกภาพวีดิทัศน์ตลอดระยะทางและภาพนิ่งควบคู่ไปกับการบันทึกข้อมูลจากระบบจีพีเอส เพื่อให้รู้ตำแหน่งที่อยู่ของสัตว์ทะเลหายากและมีการบันทึกเสียง รวมทั้งเก็บข้อมูลจำนวนและลักษณะของสัตว์ทะเลหายากที่พบ รวมทั้งแนวหญ้าทะเลจากการสำรวจทางอากาศ
ทั้งนี้ ปัจจุบันพะยูนที่พบทั่วประเทศไทยมีไม่ถึง 200 ตัว พบมากในชายฝั่งทะเลอันดามัน โดยจังหวัดที่พบมากที่สุด คือ จ.ตรัง กว่า 120 ตัว เพราะมีความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งหญ้าทะเล ขณะที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก จ.ชลบุรี ระยอง และตราด มีไม่ถึง 40 ตัว เพราะแหล่งหญ้าทะเลไม่ได้มีตลอดปีทำให้พะยูนต้องออกไปหาอาหารในฝั่งทะเลของประเทศเพื่อนบ้าน
ที่มา: http://www.matichon.co.th
Link: http://www.matichon.co.th/khaosod/khaosod_detail.php?s_tag=03tec01150250&day=2007/02/15§ionid=0326
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment