ญี่ปุ่นพัฒนาใช้คลื่นวิทยุหาระเบิด
นักวิทยาศาสตร์แดนซามูไรพัฒนาเทคนิคใหม่ตรวจหาดินระเบิดด้วยคลื่นวิทยุ สามารถใช้ตรวจหาได้ตั้งแต่กับระเบิดไปจนถึงวัตถุอันตรายที่ซุกซ่อนอยู่ในกระเป๋าสัมภาระต่างๆ มีประสิทธิภาพดีกว่ารังสีเอกซเรย์
ศ.ฮิเดโอะ อิโตซากิ จากมหาวิทยาลัยโอซากา หนึ่งในทีมวิจัย กล่าวว่า เทคนิคการค้นหาระเบิดแบบใหม่นี้มีประสิทธิภาพดีกว่าแบบเดิม สามารถแยกแยะผงสีขาวได้ว่าเป็นแป้งหรือเกลือ เทคนิคใหม่ยังสามารถใช้ค้นหากับระเบิดได้มีประสิทธิภาพมากกว่าเครื่องตรวจโลหะที่ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นเศษโลหะที่อยู่ใต้ดินหรือเป็นกับระเบิดจริงๆ
"การค้นหาวัตถุระเบิดพิเศษบางชนิดทำได้ยาก อย่างเช่น ทีเอ็นที เพราะเป็นระเบิดที่ประกอบด้วยอะตอมของไนโตรเจน ซึ่งแค่เจอคลื่นความถี่ต่ำก็พร้อมจะสะท้อนกลับแล้ว ดังนั้น การตรวจหาอะตอมที่อยู่ในรูปโมเลกุลจึงไม่ใช่เรื่องง่าย การระบุชนิดของโมเลกุล หรือสารพลอยยากไปด้วย" ศ.อิโตซากิ กล่าว และเสริมว่า เพื่อที่จะแก้ปัญหานี้ นักวิทยาศาสตร์จึงหันไปใช้คลื่นวิทยุตรวจหาตำแหน่งของอะตอมไนโตรเจน
ยกตัวอย่างอะตอมไนโตรเจนที่จับอยู่กับอะตอมคาร์บอนจะสะท้อนคลื่นกลับต่างจากอะตอมไนโตรเจนที่จับกับอะตอมออกซิเจน ทั้งนี้เนื่องมาจากโครงสร้างของโมเลกุลในระเบิดแต่ละชนิดนั้น มีรูปแบบการสะท้อนกลับของคลื่นความถี่แตกต่างกัน
จากนั้น ทีมวิจัยจึงพัฒนาเครื่องมือที่สามารถแยกรูปแบบการสะท้อนกลับที่ต่างกันขึ้นมา มีเส้นผ่าศูนย์กลางยาวเซนติเมตร ทำงานได้ในอุณหภูมิลบ 196 องศาเซลเซียส โดยใช้ไนโตรเจนเหลวทำให้เย็นจัด
ข้อดีของเครื่องตรวจวัตถุระเบิดชนิดนี้คือ สามารถนำไปใช้ในสนามบินได้ไม่เป็นปัญหา เนื่องจากไนโตรเจนเหลวควบคุมดูแลได้ง่าย และใช้กันในโรงพยาบาลและห้องปฏิบัติการกันอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตาม อุปสรรคเพียงอย่างเดียวในตอนนี้ คือ การตรวจสอบ ที่ต้องใช้เวลาหลายนาที และตอนนี้ทีมนักวิทยาศาสตร์ก็กำลังพัฒนาปรับปรุงเพื่อแก้ข้อด้อยนี้
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
Thursday, February 1, 2007
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment