Monday, February 12, 2007

ทศวรรษแห่งการสำรวจดวงจันทร์

ทศวรรษแห่งการสำรวจดวงจันทร์ (ตอนจบ)

2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้เล่าถึงโครงการสำรวจดวงจันทร์ด้วยยานอวกาศของประเทศเอเชีย 3 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น อินเดีย และจีน สัปดาห์นี้ผมขอปิดท้ายด้วยโครงการสำรวจดวงจันทร์ของสองชาติอดีตคู่แข่งในวงการอวกาศโลกเมื่อยุคสงครามเย็น นั่นคือ รัสเซียและสหรัฐอเมริกา

รัสเซีย
แม้ว่าปัจจุบันดูเหมือนรัสเซียจะไม่ค่อยมีข่าวคราวในแวดวงอวกาศออกมาให้ได้ยินบ่อยนัก ซึ่งอาจจะเป็นผลต่อเนื่องหลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลายไปพร้อมๆ กับสงครามเย็น การยุติภารกิจของสถานีอวกาศมีร์เมื่อปี 2544 ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ รวมไปถึงการก้าวขึ้นมาอย่างรวดเร็วของประเทศจีน แต่รัสเซียก็ยังคงมีส่วนร่วมในสถานีอวกาศนานาชาติและวางแผนที่จะส่งยานอวกาศไปสำรวจดวงจันทร์อีกครั้ง

ในช่วง 30-50 ปีที่แล้ว รัสเซียได้ส่งยานอวกาศไร้มนุษย์ไปที่ดวงจันทร์หลายต่อหลายครั้ง นับรวมได้ราวๆ 60 ลำ เกินกว่าครึ่งล้มเหลว แต่ที่เหลือก็ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม และสามารถเก็บตัวอย่างดินบนพื้นดวงจันทร์กลับมายังโลกได้โดยไม่ต้องใช้มนุษย์

ปี 2502 รัสเซียมียานอวกาศลำแรกที่โคจรผ่านใกล้ดวงจันทร์ ปีต่อมาประสบความสำเร็จในการถ่ายภาพด้านไกลของดวงจันทร์ ยานอวกาศไปลงจอดบนพื้นผิวดวงจันทร์อย่างนุ่มนวลได้เมื่อปี 2509 นำตัวอย่างดินดวงจันทร์กลับมายังโลกได้ในปี 2513, 2515 และ 2519 และมีรถสำรวจไปแล่นบนดวงจันทร์ในปี 2513 และ 2516

จากนั้นรัสเซียให้ความสนใจกับดาวศุกร์เป็นพิเศษ โดยสามารถส่งยานอวกาศไปจอดบนดาวศุกร์ได้สำเร็จ แต่โครงการสำรวจดาวอังคารได้ไม่ไกล เนื่องจากประสบปัญหากับโครงการมาร์ส 96 จรวดที่นำยานขึ้นไปในอวกาศไม่แยกตัวตามกำหนดทำให้ยานถูกทำลายในชั้นบรรยากาศโลก

ครั้งสุดท้ายที่รัสเซียส่งยานอวกาศไปสำรวจดวงจันทร์คือเมื่อเดือน สิงหาคม 2519 เดือนเดียวกันนี้ในอีก 30 ปีต่อมา เจ้าหน้าที่ระดับสูงขององค์การอวกาศรัสเซียประกาศว่าจะให้ความสำคัญกับการส่งยานอวกาศชื่อลูนา-กลอบ (Luna-Glob) ไปสำรวจดวงจันทร์และมีรายงานเมื่อเดือนธันวาคมว่า ยานลำนี้จะถูกส่งออกไปในปี พ.ศ.2555 ก่อนหน้านั้นรัสเซียกับจีนได้จัดประชุมสุดยอดด้านกิจการอวกาศ และลงนามความร่วมมือระหว่างกันเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่เพียงแต่จีน รัสเซียยังได้เข้าร่วมประชุมในโครงการสำรวจดวงจันทร์กับอินเดียด้วย ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม 2549

ตามแผนที่เปิดเผยออกมาถึงขณะนี้คาดว่ายานลูนา-กลอบ จะลงจอดบนดวงจันทร์บริเวณขั้วใต้เพื่อค้นหาน้ำแข็งในหลุมอุกกาบาต และก่อนการลงจอดน่าจะมีการยิงใส่พื้นผิวดวงจันทร์ด้วยแท่งเจาะลงไปที่บริเวณจุดลงจอดของยานอะพอลโล 11 และอะพอลโล 12 ซึ่งมีเครื่องวัดแผ่นดินไหวติดตั้งอยู่ จุดประสงค์คือวิเคราะห์หาองค์ประกอบของชั้นหินใต้ผิวดินของดวงจันทร์แบบเดียวกับภารกิจยานลูนาร์-เอ ของญี่ปุ่น (อ่านในบทความตอนที่ 1 )

สหรัฐ
หลังจาก จอร์จ ดับเบิลยู บุซ แถลงถึงเป้าหมายในอนาคตขององค์การนาซา ซึ่งยืนยันชัดเจนว่าสหรัฐต้องการส่งมนุษย์กลับไปสำรวจดวงจันทร์และแผ้วถางหนทางเพื่อก้าวไปสู่ดาวอังคาร

โครงการสำรวจดวงจันทร์ของสหรัฐอเมริกาในทศวรรษ 2550 จะเริ่มขึ้นในปลายปีหน้า โดยมีกำหนดส่งยาน
ลูนาร์รีคอนเนสเซนส์ออร์บิเตอร์ในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม 2551 เป้าหมายของยานลำนี้คือ ค้นหาน้ำแข็ง ซึ่งหวังว่าในอนาคตมันจะเป็นแหล่งเชื้อเพลิงอากาศสำหรับดำรงชีวิต และน้ำสำหรับปลูกพืช โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณใกล้ขั้วใต้ของดวงจันทร์

อุปกรณ์ที่ติดตั้งบนยานลูนาร์รีคอนเนสเซนส์ออร์บิเตอร์ใช้สำหรับถ่ายภาพ ทำแผนที่ทางกายภาพ ศึกษาสภาพแวดล้อมด้านรังสี และทำแผนที่แร่ธาตุบนพื้นดวงจันทร์ โดยคาดว่ายานจะมีอายุการใช้งานประมาณ 2 ปี การสำรวจดวงจันทร์หลังปี 2551 จะเข้มข้นมากขึ้น และนำไปสู่โครงการคอนสเตลเลชัน (Constellation) ที่มีจุดมุ่งหมายส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์โดยอาศัยจรวด ยานอวกาศและฮาร์ดแวร์ที่ออกแบบใหม่

แม้ว่าหนทางยังอีกยาวไกลกว่าเราจะได้เห็นมนุษย์บนดวงจันทร์อีกครั้งหนึ่ง หรือแม้แต่มนุษย์บนดาวอังคารที่คาดว่าจะเกิดขึ้นก่อนปี 2573 แต่ถ้าโลกของเรายังมีสันติภาพและความสงบสุข เชื่อว่ามันก็คงไม่เป็นเพียงแค่จินตนาการหรือเรื่องราวในนิยายวิทยาศาสตร์

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ TODAY

No comments: