Wednesday, February 21, 2007

แบนหลอดไส้

ออสเตรเลียสั่งแบนหลอดไส้ หวังเลิกใช้ภายใน 3 ปี

เอพี/เอเจนซี/เอเอฟพี – ออสเตรเลียประกาศแผนออกกฎยกเลิกการใช้หลอดไฟฟ้าแบบไส้ หันมาใช้พลังงานแบบพอเพียง เพิ่มปริมาณการใช้หลอดฟูออเรสเซ็นต์เข้าแทนที่ เพื่อควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซปฏิกิริยากระจก หวังช่วยชะลอปัญหาโลกร้อน

มัลคอล์ม เทิร์นบูล (Malcolm Turnbull) รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม ออสเตรเลีย ออกมาเปิดเผยเมื่อวันที่ 20 ก.พ. ว่า ทางรัฐบาลออสเตรเลียจะออกกฎหมายจำกัดการขายหลอดไส้ และเชื่อว่าการใช้หลอดไส้น่าจะหมดไปได้ภายใน 3 ปี ส่วนหลอดคอมแพคฟลูออเรสเซนต์น่าจะสามารถเข้ามามีบทบาทมากขึ้นภายในปี 2009

อย่างไรก็ดี มีข้อมูลบ่งชี้ว่าออสเตรเลียปล่อยก๊าซก่อสภาวะเรือนกระจกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศถึง 565 ล้านตันในปี 2004 โดยเทิร์นบูล เชื่อว่าหากเลิกใช้หลอดไส้แล้วออสเตรเลียจะสามารถลดการปลดปล่อยเรือนกระจกได้ถึง 4 ล้านตันภายในปี 2010 และจะช่วยลดค่าไฟฟ้าในแต่ละครัวเรือนได้มากถึง 66% ด้วย

แม้ว่าออสเตรเลียถือเป็นประเทศแรกในโลกที่มีการออกกฎลักษณะดังกล่าว ทว่าเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมารัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ ได้ออกกฎหมายห้ามใช้หลอดไส้ไปแล้ว และในรัฐนิวเจอร์ซีย์ก็เริ่มมีการเรียกร้องให้เลิกใช้หลอดไส้ภายใน 3 ปี

ขณะที่ฟิเดล คาสโตร (Fidel Castro) ประธานาธิบดีแห่งคิวบา ริเริ่มโครงการลักษณะเดียวกันนี้ตั้งแต่ 2 ปีก่อนแล้ว โดยส่งกลุ่มเยาวชนเข้าไปเปลี่ยนหลอดไฟกันถึงตามบ้าน โดยต้องการให้ใช้ไฟฟ้ากันอย่างประหยัด แก่ปัญหาไฟตกบนเกาะ

ไม่กี่เดือนถัดมามิตรรักของคาสโตรอย่างประธานาธิบดีฮิวโก ชาเวส (Hugo Cha) ของเวเนซูเอลา ก็เห็นดีเห็นงามกับแนวคิดดังกล่าว จึงประกาศโครงการประหยัดพลังงานด้วยตัวเอง ทำให้ขณะนี้เวเนซูเอลาและประเทศเพื่อนบ้านใช้หลอดฟลูออเรสเซนต์กันอย่างแพร่หลาย

ปัจจุบันแม้ว่าหลอดฟลูออเรสเซนต์จะราคาแพงมากกว่าหลอดไส้มาก แต่ฟลูออเรสเซนต์ใช้พลังงานความร้อนเพียงแค่ 20% ของหลอดไส้ และหลอดไส้ขนาด 75 วัตต์จะมีอายุใช้งานประมาณ 750 ชั่วโมง ขณะที่หลอดคอมแพคฟลูออเรสเซนต์ขนาด 20 วัตต์จะมีอายุใช้งานนานถึง 10,000 ชั่วโมง

แม้นักสิ่งแวดล้อมจะชื่นชมกับรัฐบาลออสเตรเลียที่ออกนโยบายนี้ แต่ก็อดจะติงไม่ได้ว่า แหล่งทีก่อภาวะเรือนกระจกแหล่งใหญ่ของออสเตรเลียนั้นคือภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งแหล่งที่ใช้พลังงานจากถ่านหิน แต่ก็นับว่านโยบายดังกล่าถือเป็นก้าวเล็กๆ ที่ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย

ที่มา: http://www.manager.co.th
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000021270

No comments: