Friday, February 23, 2007
เชียร์ “ธีออส”
5 มหา'ลัยภูมิภาคใช้ภาพดาวเทียมทำวิจัยท้องถิ่น เชียร์ “ธีออส” ขึ้นฟ้าปลายปีนี้
นักวิจัยเผย 5 มหาวิทยาลัยภูมิภาคชื่อดังร่วมใช้ภาพถ่ายดาวเทียมแก้ปัญหาท้องถิ่น อาทิ การสำรวจที่ดินเพื่อการเพาะปลูก การทำแผนที่ภาษีไร่นา การจำลองภาพ 3 มิติกรุงเก่า และการติดตามพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม เชื่อหากปล่อยดาวเทียมธีออสขึ้นฟ้าเมื่อใด นักวิจัยไทยจะยิ่งได้ใช้ประโยชน์จากภาพถ่ายดาวเทียมมากขึ้นเท่านั้น
ในงานการประชุมคณะอนุกรรมการว่าด้วยวิทยาศาสตร์และวิชาการครั้งที่ 44 ระหว่างวันที่ 12- 23 ก.พ. ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ได้มีการจัดชุดนิทรรศการเทคโนโลยีอวกาศของไทยยังห้องโถงศูนย์ประชุมเพื่อแสดงความก้าวหน้าของไทยให้นานาชาติได้รับรู้ โดยหนึ่งในชุดนิทรรศการที่นำมาจัดแสดงคือ การใช้ประโยชน์จากภาพถ่ายดาวเทียมในงานวิจัยท้องถิ่น
อาจารย์สถาพร ไพบูลย์ศักดิ์ ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า การใช้ประโยชน์จากภาพถ่ายดาวเทียมในงานวิจัยท้องถิ่นดังกล่าวเป็นโครงการวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนภาพถ่ายดาวเทียมราคาถูกหรือให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทอภ. โดยมีมหาวิทยาลัยในเขตภูมิภาค 5 แห่งทั่วประเทศร่วมใช้ประโยชน์จากภาพถ่ายดาวเทียม
มหาวิทยาลัยในเครือข่ายทั้ง 5 ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งมหาวิทยาลัยแต่จะแห่งจะได้สำรวจปัญหาของท้องถิ่นตัวเองแล้วนำภาพถ่ายดาวเทียมไปใช้ในงานวิจัยแก้ปัญหานั้นๆ อย่างเหมาะสม จากนั้นจึงถ่ายทอดองค์ความรู้และผลงานที่ได้ให้แก่ท้องถิ่นได้ใช้ประโยชน์ต่อไป
ตัวอย่างผลงานความก้าวหน้าการใช้ภาพถ่ายดาวเทียมข้างต้น ได้แก่ การใช้ภาพถ่ายดาวเทียมของมหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อสำรวจพื้นที่การปลูกข้าว อ้อย ยางพารา และมันสำปะหลัง ตลอดจนการบุกรุกป่าไม้ และกิจกรรมการใช้ที่ดินของลุ่มน้ำชี และจะขยายต่อไปถึงลุ่มน้ำมูลและแม่น้ำโขงตามลำดับ โดยการเปรียบเทียบภาพใหม่กับภาพเก่าในอดีต
การใช้ภาพถ่ายดาวเทียมของมหาวิทยาลัยนเรศวรเพื่อจัดทำแผนที่ภาษีการเพาะปลูก พร้อมจัดทำและฝึกอบรมการใช้ซอฟต์แวร์ใช้ประโยชน์ให้แก่ผู้นำท้องถิ่น รวมถึงการใช้ภาพถ่ายดาวเทียมจัดทำซอฟต์แวร์ภาพจำลอง 3 มิติของกรุงศรีสัชนาลัย ซึ่งเป็นแหล่งมรดกโลก
การใช้ภาพถ่ายดาวเทียมของมหาวิทยาลัยบูรพาเพื่อการสำรวจอาคาร สิ่งก่อสร้างและการจัดทำระบบที่ดินใน จ.อ่างทอง ระยอง และชลบุรี และการใช้ภาพถ่ายดาวเทียมของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เพื่อตรวจดูขอบเขตน้ำท่วมจากความเสี่ยงของการเกิดลมมรสุมในพื้นที่ภาคใต้
ทั้งนี้ อาจารย์สถาพร กล่าวว่า การใช้ภาพถ่ายดาวเทียมดังกล่าวถือว่ามีประโยชน์มากมาย คือเปลี่ยนจากในอดีตที่ต้องใช้ภาพถ่ายทางอากาศ ซึ่งข้อมูลที่ได้มักไม่ทันต่อเหตุการณ์ ขณะที่ภาพถ่ายดาวเทียมจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ได้ และทำให้เราได้ข้อมูลที่ตรงกับความเป็นจริง จึงส่งผลต่อการทำวิจัยที่อิงกับความต้องการของพื้นที่มากขึ้น
“โดยเฉพาะในช่วงปลายปีนี้ ประเทศไทยเราจะปล่อยดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติดวงแรก คือ ดาวเทียมธีออส ขึ้นสู่วงโคจรแล้ว คิดว่าจะมีประโยชน์มากเพราะธีออสจะโคจรกลับมายังที่เดิมทุกๆ 14 วัน ทำให้เราได้ภาพใหม่ๆ อยู่เสมอ อีกทั้งยังช่วยลดการนำเข้าภาพถ่ายดาวเทียมจากดาวเทียมดวงอื่นๆ ได้ด้วย” นักวิจัยกล่าวทิ้งท้าย
ที่มา: http://www.manager.co.th
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000021298
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment