Friday, January 26, 2007

เตรียมเดินเครื่อง “ธีออส”

เตรียมเดินเครื่อง “ธีออส” สิ้นปีนี้ เพิ่มภารกิจสอดส่องปัญหาไฟใต้

กระทรวงวิทย์ขานรับใช้ภาพถ่ายดาวเทียมธีออสตรวจดูความไม่สงบในภาคใต้ หลังการก่อสร้างเป็นไปตามแผนทุกประการและใกล้จะแล้วเสร็จ ชี้เตรียมส่งขึ้นสู่วงโคจร ต.ค.นี้ ณ ประเทศคาซัคสถาน

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) จัดงานแถลงข่าวดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติดวงแรกของประเทศไทย หรือ ดาวเทียมธีออส ขึ้นเมื่อวันที่ 26 ม.ค. ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล โดยมี ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รมว.วิทยาศาสตร์ฯ เป็นประธาน

ศ.ดร.ยงยุทธ กล่าวถึงกำหนดการปล่อยดาวเทียมธีออส ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างแบบการค้าต่างตอบแทนพืชผลการเกษตรของไทยกับประเทศฝรั่งเศส โดยมีกำหนดปล่อยขึ้นสู่วงโคจรในราวเดือน ต.ค.50 ว่า ได้เลือกสถานที่ปล่อยดาวเทียมแล้ว ณ เมืองไบโคนัวร์ ประเทศคาซัคสถาน โดยดาวเทียมดังกล่าวจะมีอายุการใช้งานขั้นต่ำสุด 5 ปี เช่นเดียวกับดาวเทียมในลักษณะเดียวกันดวงอื่นๆ แต่ก็เชื่อว่าจะยืดอายุการใช้งานให้นานถึง 10 ปีหรือมากกว่านั้นได้ ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาหลังการใช้งาน 5 ปีเพิ่มขึ้นบ้างแต่ไม่มากนัก

ด้านความคุ้มค่าของการลงทุนกว่า 6,000 ล้านบาท ศ.ดร.ยงยุทธ ชี้ว่า เป็นประเด็นที่สำคัญมาก เนื่องจากอายุการใช้งานที่สั้นมาก โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะใช้ประโยชน์จากดาวเทียมธีอออสในด้านการสำรวจทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ อาทิ ป่าไม้ น้ำ พื้นที่การเกษตร และการประมง ซึ่งจะต้องร่วมมือกับกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย โดยจัดทำระบบและซอฟต์แวร์การใช้งานขึ้น โดยเชื่อว่าซอฟต์แวร์ดังกล่าวจะสามารถนำไปปรับใช้กับการบริหารงานภาพถ่ายดาวเทียมดวงอื่นๆ ของโลกได้ด้วย รวมไปถึงการใช้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมธีออสไปประกอบกับภาพถ่ายภาคพื้นดินเพื่อใช้บริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้มีความสะดวกและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น

ส่วนการนำภาพถ่ายดาวเทียมธีออสเพื่อกิจการความมั่นคงของประเทศนั้น ศ.ดร.ยงยุทธ ตอบรับว่า สามารถนำไปใช้ได้อย่างแน่นอน และเป็นเรื่องที่ พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ใช้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะการตรวจดูทางท้องทะเล ซึ่งเมื่อนำภาพถ่ายดาวทียมมาประกอบกับข้อมูลภาคพื้นน้ำแล้วจะทำให้เห็นท้องทะเลและเรือต่างๆ ได้ชัดเจนมาก เช่น เรือที่มีพฤติกรรมไม่ชอบมาพากลว่ามีความเคลื่อนไหวอย่างไร รวมทั้งเรือโจรสลัด หรือแม้แต่เรือประมงหาปลาที่ไปหาปลาในบริเวณที่ไม่เหมาะสม

ทั้งนี้ทั้งนั้น รมว.วิทยาศาสตร์ฯ เผยด้วยว่า เนื่องจากเทคโนโลยีอวกาศได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ประเทศไทยจะต้องพิจารณาการสร้างดาวเทียมดวงต่อๆ ไปด้วย โดยทีมวิศวกรไทยทั้ง 21 คนที่ได้รับการอบรมด้านเทคโนโลยีอวกาศจากประเทศฝรั่งเศสจะสามารถให้คำแนะนำในการออกแบบและก่อสร้างดาวเทียมดวงต่อไปของประเทศไทยได้ ซึ่งมีเป้าหมายชัดเจนแล้วว่าจะต้องสร้างดาวเทียมดวงใหม่ที่เป็นการทำงานของคนไทยเองมากกว่าครึ่งหรือมากกว่านั้น

ด้าน ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวเสริมถึงการใช้ประโยชน์จากภาพถ่ายดาวเทียมด้วยว่า เวลานี้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ยังได้ประสานไปยังกระทรวงที่เกี่ยวข้องแล้ว อาทิ กระทรวงกลาโหม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม และโดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้นำภาพถ่ายดาวเทียมดังกล่าวไปใช้ประโยชน์

ทั้งนี้ โดยการเชิญเข้าร่วมฝึกอบรมและพัฒนาซอฟต์แวร์ภาพถ่ายดาวเทียม และการจัดทำโครงการนำร่องใช้ภาพถ่ายดาวเทียมในสาขาต่างๆ เช่น ด้านการเกษตร ป่าไม้ แหล่งน้ำ และการทำแผนที่ ตลอดจนถึงการประสานไปยังองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ช่วยเผยแพร่ศักยภาพและการใช้ประโยชน์ภาพถ่ายดาวเทียมของประเทศไทย โดยเฉพาะข้อมูลในด้านบุคลากรของไทยที่มีขีดความสามารถขั้นสูงสู่สังคมทุกระดับ ตั้งแต่เยาวชนจนถึงประชาชนทั่วไป

“รัฐบาลยังได้มอบหมายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้บูรณาการแผนที่และจัดทำฐานข้อมูลที่พร้อมรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น ปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง และสึนามิด้วย โดยไม่เพียงแต่หน่วยงานราชการไทยเท่านั้นที่จะได้ใช้ประโยชน์ แต่ยังรวมถึงภาคเอกชน และประเทศเพื่อนบ้านของไทยในภูมิอาเซียนที่มีความร่วมมือกันด้วย” ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าว

ขณะที่ พล.ท.ดร.วิชิต สารทรานนท์ ประธานกรรมการบริหารสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทอภ. เจ้าของโครงการดาวเทียมธีออส กล่าวถึงความคืบหน้าล่าสุดของโครงการว่าเป็นไปตามแผนทุกประการ งานก่อสร้างต่างๆ ได้ดำเนินการใกล้เสร็จสิ้นแล้วทั้งสถานีรับสัญญาณดาวเทียม เขตลาดกระบัง และสถานีควบคุมดาวเทียม อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี โดยในส่วนของตัวดาวเทียมนั้นเหลือเพียงการทดสอบเชิงกลศาสตร์เท่านั้น เช่น การทดสอบแรงเสียดทาน ความร้อน และแรงกดดัน เป็นต้น

ทั้งนี้ ประธานกรรมการบริหาร สทอภ.ยังบอกด้วยว่า หลังจากปล่อยดาวเทียมธีออสขึ้นสู่วงโคจรแล้ว จะใช้เวลาตรวจดูความเรียบร้อยต่างๆ ประมาณ 3 เดือน จึงจะเริ่มปฏิบัติงานได้เต็มประสิทธิภาพ หรือภายในสิ้นปี 50 นี้ โดยบริษัทคู่สัญญาของไทยคือ อีเอดีเอส แอสเตรียม (EADS Astrium) ในชื่อใหม่คือ แอสเตรียม เอส.เอ.เอส. (Astrium S.A.S.) จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการปล่อยยานทั้งหมด 600 ล้านบาท โดยใช้จรวด “เน็ปเปอร์” (DNEPR) ของประเทศยูเครน เป็นจรวดนำส่ง

ที่มา: http://www.manager.co.th
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000010272

No comments: