‘เว็บบล็อก’…สื่อทางเลือกใหม่บนโลกธุรกิจออนไลน์
จากการเติบโตของจำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง (บอรดแบนด์) ในเมืองไทยมีอัตราสูงถึง 200 % ต่อปี เป็นหนึ่งในปัจจัยที่มากระตุ้นให้ผู้คนเข้ามาทำกิจกรรมบนโลกไซเบอร์มากขึ้น โดยอีเมลยังเป็นบริการที่ครองแชมป์ความนิยมในออนไลน์มากที่สุด แต่ทว่าขณะนี้ทั่วโลกกำลังจับตามองความนิยมใหม่ที่กำลังมาแรง และอาจจะมาแทนที่อีเมลได้ นั่นคือ เว็บบล็อก (Web Blog) หรือไดอารีออนไลน์ มาพร้อมกับคำเรียกขานผู้เขียนว่า “บล็อกเกอร์” (Blogger) ซึ่งนับวันมีแต่เพิ่มจำนวนมากขึ้น
ตามรายงานการวิจัยของไมโครซอฟท์ในหัวข้อ Blogging Thailand : A Windows Live Report ซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1 พันคน จากผู้เข้าใช้งานเว็บท่าเอ็มเอสเอ็นในประเทศไทย ระบุว่าผู้ใช้อินเตอร์เน็ตชาวไทยกว่า 20 % หรือประมาณ 1.7 ล้านราย จากจำนวนผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ต 8.4 ล้านคนทั่วประเทศ มีการใช้งานบล็อก
และแม้จะเป็นตัวเลขมีสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศที่มีการใช้งานอินเตอร์เน็ตสูง เช่น เกาหลีใต้ แต่ตัวเลขดังกล่าวก็บ่งชี้ให้เห็นถึงทิศทางการเติบโตของชุมชนออนไลน์เมืองไทยได้เป็นอย่างดี เพราะคาดว่าจะเป็นเป้าหมายใหม่ที่หลายๆ กลุ่มธุรกิจกำลังหมายตาไว้
แกรนท์ วัตส์ ผู้จัดการทั่วไป + และเอ็มเอสเอ็น ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า การใช้งานบล็อกในประเทศไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค แต่จากผลการวิจัย ประเทศไทยยังจัดว่าเป็นกลุ่มประเทศแนวหน้าของการใช้งานบล็อกเช่นเดียวกับประเทศอินเดียเมื่อเทียบกับตลาดอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ใช้ชาวไทยกว่า 65% จะใช้บล็อกเพื่อติดต่อสื่อสารกับคนใกล้ชิดและสนใจบล็อกที่เขียนโดยคนในครอบครัวและเพื่อฝูงมากที่สุด
“ครอบครัว” หัวใจของโลกแห่งบล็อก
จะเห็นว่าสถาบันครอบครัวไทย มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันให้เกิดการปรากฏการณ์ใช้งานบล็อก โดยพบว่าผู้ใช้บล็อกในประเทศไทยกว่า 58% เผยว่าเหตุจูงใจหลักของการใช้บล็อกคือการได้แบ่งปันบันทึกหรืออัลบั้มภาพ และประชากรชาวเน็ต (netizen) กว่า 41% ใช้บล็อกซึ่งนับเป็นสื่อที่กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นในการติดต่อกับคนที่รัก ผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตชาวไทยกว่า 35% เริ่มเขียนบล็อก โดยมีแรงจูงใจจากการที่เพื่อนหรือคนในครอบครัวได้ใช้มาก่อนหน้าแล้ว
ส่วนลักษณะของโลกแห่งบล็อก หรือบล็อกโกสเฟียร์ของไทยนั้น ส่วนใหญ่สอดคล้องกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน เช่น ฮ่องกง ที่ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นในครอบครัวมีความสำคัญต่อการใช้งานบล็อกเก้าในสิบของผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตในฮ่องกงหรือ 86% เห็นว่าบล็อกของผู้ที่ตนสนิทสนมที่สุดมีความน่าสนใจมากที่สุด
บล็อกช่วยพัฒนาทักษะในวิชาชีพ
ผบการศึกษาดังกล่าว ยังระบุเพิ่มเติมอีกว่า การใช้งานบล็อกในประเทศไทย ยังทำให้อีกด้านหนึ่งของธุรกิจเติบโตพร้อมๆ กัน ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าผู้ใช้งานชาวไทยมองว่าบล็อกโกสเฟียร์ถือว่าเป็นแหล่งของการพัฒนาทางด้านอาชีพที่มีความสำคัญอย่างหนึ่ง การเข้าไปอ่านบล็อกที่เขียนขึ้นโดยเพื่อนร่วมงานถือว่ามีความสำคัญรองจากบล็อกที่เพื่อนฝูงและคนในครอบครัวเขียนขึ้น โดยชาวเน็ตเกือบ 43% ระบุว่าตนเองสนใจอ่านงานของเพื่อนร่วมงานผ่านไดอารีออนไลน์ และอีก 30 % นิยมอ่านบล็อกที่เขียนขึ้นโดยผู้นำทางด้านธุรกิจ
นอกจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าผู้ใช้งานออนไลน์ชาวไทย 15% ตอบว่าบล็อกเป็นแหล่งสำคัญในการอัพเดทสิ่งใหม่ๆ ในด้านอาชีพการงาน ซึ่งผลการสำรวจดังกล่าวขัดแย้งกับผลการศึกษาในระดับภูมิภาค ที่ระบุว่าชาวเน็ตในเอเชียที่รู้จักบล็อกเพียง 34% มีความสนใจบล็อกที่เพื่อนร่วมงานเขียนขึ้นและมีเพียง 10% ทีใช้บล็อกเป็นแหล่งในการติดตามข่าวสารการพัฒนาทางด้านอาชีพ
ทั้งนี้ ผลการศึกษาส่วนใหญ่ของประเทศไทยเป็นไปในแนวทางเดียวกับผลการศึกษาของอินเดีย ที่สะท้อนให้เห็นว่ามีแนวโน้มความนิยมใช้บล็อกไปในการพัฒนาตนเองและเป็นเครื่องมือทางธุรกิจที่สูงมากกว่าตลาดอื่นๆ ในภูมิภาค
และสิ่งที่กำลังฮอตในบล็อกโกสเฟียร์ไทย คือ เนื้อหาหรือข้อมูลที่ผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตไทยนิยมอ่าน คือ บล็อกที่เขียนโดยศิลปิน นักร้องดัง และหัวข้อที่เป็นที่สนใจมากที่สุดในการเขียนบล็อก ได้แก่ เร่องเกี่ยวกับเทคโนโลยี การท่องเที่ยว การศึกษา และข่าวสาร ซึ่งถือว่าสอดคล้องกับผลการศึกษาของภูมิภาค
โฆษณาในโลกแห่งบล็อก
นอกจากนี้ กระแสการตื่นตัวด้านการใช้บล็อกในประเทศไทยยังบ่งชี้ถึงนัยสำคัญบางอย่างแก่วงการโฆษณา โดยผลการศึกษาวิจัยได้แสดงให้เห็นว่าแม้จะยังยู่ในช่วงเริ่มต้นแต่มีผู้ให้สัมภาษณ์ 2 ใน 3 ใช้เวลาประมาณ 1-5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ในการอ่านบล็อกหรืออัพเดทบล็อกตัวเอง ซึ่งนั่นก็แสดงให้เห็นว่าบล็อกเพิ่มเวลาการใช้งานออนไลน์มากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ รายงานการวิจัยนี้ยังได้ระบุอีกว่าโลกแห่งบล็อกถือเป็นสื่อสำคัญที่จะใช้เข้าถึงผู้บริโภควัยรุ่น โดยจำนวนผู้ใช้งานบล็อกมากกว่าครึ่งหรือ 57% มีอายุต่ำกว่า 25 ปี อีก 34% มีอายุระหว่าง 25-34 ปี และเพียง 9% มีอายุ 35 ปีขึ้นไป แต่เมื่อจำแนกตามเพศแล้วพบว่า 57% ของบล็อกในประเทศไทยเป็นผู้หญิง และเหลืออีก 43% เป็นผู้ชาย ตัวเลขดังกล่าวถือว่าสอดคล้องกับการแบ่งประเภทบล็อกเกอร์ในตลาดอื่นๆ ยกเว้นตลาดประเทศอินเดียที่มีจำนวนบล็อกเกอร์ชายมากกว่าผู้หญิง
“บล็อก เป็นอีกหนึ่งโอกาสทางการตลาดสำหรับนักโฆษณาในประเทศไทยจะเข้าถึงผู้บริโภค ด้วยการนำโฆษณาออนไลน์ผ่านทางบล็อกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญโฆษณาจะช่วยให้องค์กรต่างๆ ในประเทศไทยสร้างการรับรู้ของแบรนด์ได้เป็นอย่างดีในรูปแบบของการเริ่มต้นผูกความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์กับผู้บริโภคสมัยใหม่” ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ไมโครซอฟท์ วินโดวส์ ไลฟ์ และเอ็มเอสเอ็น ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าว
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเม็ดเงินค่าโฆษณาออนไลน์ในประเทศไทยยังมีสัดส่วนน้อยไม่ถึง 1% ของมูลค่าตลาดโฆษณาโดยรวม 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1 แสนล้านบาท แต่เชื่อว่าในอนาคตรูปแบบการโฆษณาออนไลน์จะได้รับความนิยมมากขึ้น ตามจำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ต รวมถึงการเพิ่มอัตราส่วนของจำนวนบล็อกด้วย
เร่งพัฒนาเทคโนโลยีรองรับ
และแม้ว่าบล็อกจะเข้ามาช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน แต่ขณะเดียวกันบล็อกเองก็ยังมีจุดอ่อนที่ทำให้ผู้ใช้งานไม่ชอบ นั่นคือ ข้อมูลไม่อัพเดท วิธีการเขียนและเนื้อหาที่น่าเบื่อ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้ไม่อยากเข้าไปในบล็อก
เป็นผลให้ไมโครซอฟท์พยายามพัฒนาสินค้าและบริการวินโดวส์ ไลฟ์ และวินโดวส์ ไลฟ์ สเปซ ซึ่งเป็นโปรแกรมบล็อก รวมเข้ากับโปรแกรมวินโวส์ ไลฟ์ แมสเซนเจอร์ ก็จะทำให้สามารถอัพเดตบล็อกของผู้ใช้งาน พร้อมกับแจ้งผู้ที่ติดต่อด้วยทางอินเตอร์เน็ตผ่านทางสิ่งที่เรียกว่า “กลีน” เพื่อให้ผู้ที่ติดต่อทราบว่ามีการเพิ่มเนื้อหาใหม่ๆ เข้ามาในบล็อก
ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ไมโครซอฟท์ วินโดวส์ ไลฟ์ และเอ็มเอสเอ็น ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า คุณสมบัติพิเศษของทั้ง 2 โปรแกรมดังกล่าว จะมาช่วยแก้ปัญหากวนใจ ทั้งการสร้างบล็อก และการอัพเดทข้อมูลบล็อกของนักอ่านบล็อกในประเทศไทย และทั่วทั้งภูมิภาคเอเชีย ว่า โดยบริษัทมีแผนจะเปิดบริการวินโวส์ ไลฟ์ แมสเซนเจอร์ ที่เป็นเมนูภาษาไทยครั้งแรก เพื่อทำให้ผู้ใช้งานสะดวกขึ้น
ทั้งนี้ จากผลการวิจัยดังกล่าว ไมโครซอฟท์เชื่อว่าการใช้เทคโนโลยีใหมม่ๆ เช่น วินโวส์ ไลฟ์ สเปซ หนึ่งในผู้บริการบล็อก จะมาเป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้เพิ่งเริ่มใช้งานบล็อก เพื่อนำเสนอเรื่องราวส่วนตัวไว้บนโลกไซเบอร์ และยังเป็นฐานตลาดที่สำคัญของไมโครซอฟท์ด้วยเช่นกัน
ที่มา: หนังสือพิม์โพสต์ TODAY
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment