Tuesday, January 23, 2007

หอดูดาวแห่งชาติ


มั่นใจตั้ง “หอดูดาวแห่งชาติ” บน “ดอยอินทนนท์” ไม่สร้างมลพิษ

ผอ.สถาบันดาราศาสตร์เผยปลายปีนี้ได้ตั้งหอดูดาวแห่งชาติบน “ดอยอินทนนท์” ส่วนตัวกล้องต้องรออีก 30 เดือน ด้าน “ดร.ศรันย์” มั่นใจไม่กระทบสิ่งแวดล้อม เพราะใช้พื้นที่กว้างแค่ 9 เมตร ไม่ตัดต้นไม้ ไม่ปล่อยน้ำเสีย และไม่มีคนอาศัย เพียงใช้สัญญาณไร้สายส่งข้อมูลเพื่อทำวิจัย

รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) เปิดเผยขณะนำสื่อมวลชนดูงาน ณ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เมื่อวันที่ 19 ม.ค.ที่ผ่านมา ว่าบริเวณหน้าที่ทำการของอุทยานนั้นจะเป็นสถานที่ตั้งของหอดูดาวแห่งชาติ ซึ่งจะเป็น “แลนด์มาร์ก” ทางวิทยาศาสตร์ของประเทศ โดยการที่หอดูดาวได้มาตั้งที่จุดสูงสุดนั้นจะทำให้การใช้งานของกล้องดูดาวมีประสิทธิภาพสูงสุดและได้ทัศนียภาพที่ดีที่สุดด้วย

ทั้งนี้จะตั้งอาคารหอดูดาวได้ประมาณปลายปี 2550 นี้ ส่วนกล้องโทรทรรศน์แบบสะท้อนแสงเส้นผ่าศูนย์กลางเลนส์ขนาด 2.4 เมตรนั้นจะได้ติดตั้งในอีก 30 เดือน โดยขณะนี้ทั้งอาคารหอดูดาวและกล้องโทรทรรศน์กำลังอยู่ระหว่างการผลิต

“จุดนี้จะเป็นจุดสำคัญที่สุดที่จะมีการตั้งกล้องที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์ และจะมีการถ่ายทอดสัญญาณจากกล้องโทรทรรศน์เป็นสัญญาณคอมพิวเตอร์ถ่ายทอดไปให้ประชาชนได้เห็นข้อมูลจากยอดดอย และนักวิชาการทั้งจากทั่วประเทศและต่างประเทศก็จะมาทำวิจัย นอกจากนี้ตรงกิโลเมตรที่ 31 จะทำอาคารพิพิธภัณฑ์ดาราศาสตร์เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชน” รศ.บุญรักษากล่าว

ด้าน ดร.ศรันย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการ สดร. กล่าวเสริมว่า การตั้งหอดูดาวที่ดอยอินทนนท์ซึ่งมีความสูงจากระดับน้ำทะเล 2,550 เมตร ช่วยให้พ้นจากระยะ “ฟ้าหลัว” หรือที่ความสูงไม่เกิน 2,000 เมตร โดยในเมืองไทยในนั้นมีสถานที่ซึ่งสูงกว่า 2,000 เมตรเพียง 5 แห่ง แต่มีเพียงดอยอินทนนท์ที่ถนนขึ้นไปได้สะดวก ทำให้ไม่ต้องตัดต้นไม้เพื่อสร้างทางขึ้นสู่หอดูดาว

ทั้งนี้ ดร.ศรันย์ อธิบายว่าบริเวณที่เหมาะแก่การสร้างหอดูดาวที่สุดคือบริเวณที่อยู่ในละติจูด 30 องศาเหนือ-ใต้ ซึ่งเป็นบริเวณที่อากาศมีเสถียรภาพมากที่สุดทำให้เห็นภาพท้องฟ้าได้ชัดเจน แต่เมืองไทยอยู่ในตำแหน่ง 18 องศาเหนือซึ่งถือว่าดีที่สุดสำหรับไทยแล้ว และถือว่าดีที่สุดในเขตอาเซียน

ส่วนความกังวลว่าการตั้งหอดูดาวบนยอดดอยอินทนนท์จะกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนั้น ดร.ศรันย์ชี้แจงว่า ไม่รบกวนสิ่งแวดล้อมอย่างแน่นอนเพราะไม่มีการตัดต้นไม้ ไม่มีการปล่อยน้ำเสียและไม่มีฝุ่นละลอง เพราะใช้พื้นที่เล็กๆ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 9 เมตรและสูง 11 เมตร และไม่มีคนขึ้นมาที่หอดูดาวเยอะ ซึ่งคนที่จะใช้งานหอดูดาวเป็นหลักก็คือนักวิจัย และจะมีนักวิจัยขึ้นไปที่หอดูดาวจริงๆ เพียง 2-3 คน นอกนั้นอาศัยข้อมูลที่จะผ่านสัญญาณไร้สายไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์ของนักวิจัยแต่ละคน

“หอดูดาวขนาดใหญ่ในโลกนี้ก็ไม่มีคนไปอยู่ เขามักจะอาศัยข้อมูลผ่านการถ่ายทอดสัญญาณโดยใช้กล้องซีซีดี (CCD) หอดูดาวส่วนใหญ่จะทำงานด้วยระบบอัตโนมัติและอยู่ในที่ซึ่งเข้าถึงได้ลำบาก แต่ไม่รบกวนสิ่งแวดล้อม” ดร.ศรันย์ยืนยัน

อีกทั้งเพื่อรองรับการตั้งหอดูดาว ในปี 2549 ทาง สดร.ยังได้ติดตั้งกล้องดูดาวแบบสะท้อนแสงขนาด 14 นิ้ว บริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์และใกล้เคียงกับบริเวณที่ตั้งหอดูดาวแห่งชาติภายใต้โครงการทดสอบสภาพท้องฟ้า โดยมีเจ้าที่ประจำ 2 คนซึ่งทำหน้าที่เก็บข้อมูลเพื่อส่งไปวิเคราะห์สภาพของท้องฟ้า

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ 1 ในเจ้าที่สำรวจสถานที่ตั้งหอดาวแห่งชาติ เล่าถึงการทำงานว่าเขาและเพื่อนร่วมงานอีก 1 คนจะเข้าไปอยู่ในอาคารหอดูดาวที่ติดตั้งกล้องขนาด 14 นิ้ว ซึ่งมีพื้นที่พอดีสำหรับ 2 คนเข้าไปนอนได้ และทำงานในช่วงกลางคืนตั้งแต่ 20.00 น.- 6.00น. โดยทำหน้าที่เก็บข้อมูลทางด้านอุตุนิยมวิทยา อาทิ อุณหภูมิ ความชื้น ทิศทางลม ความเร็วลม ปริมาณรังสียูวี รวมถึงการเกิดแม่คะนิ้งซึ่งเห็นบริเวณยอดหญ้าใกล้ๆ กับหอดูดาวขนาดเล็กที่พวกเขาประจำอยู่

ทั้งนี้ข้างๆ ที่ทำงานของพวกเขานั้นจะมีอุปกรณ์สำหรับเก็บข้อมูลดังกล่าวเรียกว่าเป็น “สถานีตรวจวัดสภาพอากาศ” (Whether station) ซึ่งมีลักษณะเป็นเสาต้นเล็กๆ ที่ติดตั้งกังหันลมขนาดเล้กและอุปกรณ์ตรวจวัดอื่นๆ โดยใช้เซลล์แสงอาทิตย์ในการใช้พลังงาน

ที่มา: http://www.manager.co.th
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000008095

No comments: