ไทยเจ้าภาพประชุมนาโนเทค 07
การประชุมนาโนเทคโนโลยี 2007 เริ่มแล้ววันนี้วันแรก ชี้ทิศทางนาโนเทคโนโลยีรุ่นใหม่มุ่งวิจัยเชิงวิศวกรรมระดับไมครอนและนาโนเมตร โดยประยุกต์ความรู้จากศาสตร์ต่างๆ มาพัฒนาเป็นเซ็นเซอร์ และมอเตอร์จิ๋ว เพื่อใช้งานด้านการแพทย์และสาขาทั่วไป
ศ.ดร.วิวัฒน์ ตัณฑะพานิชกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) กล่าวว่า ศาสตร์ด้านนาโนเทคโนโลยีเริ่มต้นประมาณ 5-6 ปี ที่ผ่านมา โดยที่ผ่านมาเป็นการศึกษาเพื่อสร้างวัสดุใหม่ เช่น สารชนิดใหม่ ระบบนำส่งยา ระบบอิเล็กทรอนิกส์ และการศึกษาควอนตัมดอท เป็นหลัก แต่สำหรับก้าวต่อไปงานวิจัยด้านนาโนเทคโนโลยีของโลกจะมุ่งศึกษาระบบโมเลกุลของวิศวกรรมไมโครและนาโนเมตร หรือ เนมส์ (NEMS: Nano/Micro Engineered and Molecular Systems) ซึ่งปัจจุบัน เริ่มมีงานวิจัยด้านนี้ให้เห็นมากขึ้น
"งานวิจัยนาโนเทคโนโลยีเบื้องต้นเน้นการพัฒนาวัสดุ เช่น เสื้อนาโนที่เกิดจากการพัฒนาสิ่งทอให้มีคุณสมบัติพิเศษเพื่อกันเชื้อโรค แต่ก้าวต่อไปของการพัฒนาเสื้อนาโนคือการพัฒนา เซ็นเซอร์ตรวจจับคลื่นหัวใจที่ติดอยู่กับเสื้อเพื่อตรวจจับและสื่อสารไปยังโรงพยาบาล โดยเป็นเทคโนโลยีที่มีความใกล้เคียงกับเนมส์มากขึ้น" ผอ.ศูนย์นาโนเทค กล่าว
ปัจจุบันมีงานวิจัยด้านวิศวกรรมระดับนาโนและโมเลกุลมากขึ้นจนผลักดันให้สถาบันอิเล็กทรอนิกส์และวิศวกรรมไฟฟ้าร่วมกับสภาเทคโนโลยีนาโนจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติด้านนาโนเทคโนโลยีเพื่อแลกเปลี่ยนความก้าวหน้าด้านงานวิจัยในหมู่นักวิชาการ โดยการประชุมครั้งแรกเมื่อปีที่แล้วได้จัดขึ้นที่จีน ขณะที่ในปีนี้ไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมขึ้นที่กรุงเทพฯระหว่างวันที่ 17-19 มกราคมนี้ ที่โรงแรมอิมพีเรียลควีนปาร์ค (สุขุมวิท 22)
"จีนตื่นตัวด้านการวิจัยนาโนเทคโนโลยีมากแต่ไม่ได้รับการเผยแพร่ การจัดประชุมจึงเปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญด้านนาโนเทคโนโลยีทั่วโลกกว่า 300 คน ได้แลกเปลี่ยนความรู้และถ่ายทอดผลงานวิจัยระหว่างนักวิจัยที่สนใจในเรื่องเดียวกัน"
งานประชุมครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.ดอน ไอเกลอ ผู้เชี่ยวชาญนาโนเทคโนโลยีคนแรกที่นำเอาอะตอมมาเรียงเป็นตัวอักษร ไอบีเอ็ม และภปร. และดร.เมย่า เมยาพัน จากองค์การนาซา บรรยายเรื่องคาร์บอนนาโนทิวป์ และลำแสงโฟโตนิกส์ ตลอดจน ศ.ดร.อัลเบิร์ต พิซาโน่ จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียแห่งเบิร์กเลย์ ที่บรรยายเรื่องงานวิจัยนาโนเทคโนโลยีและการพัฒนาด้านยานยนต์
"การประชุมครั้งนี้ นักวิชาการไทยเตรียมนำเสนอผลงาน 43 เรื่อง อาทิเช่น งานวิจัยและพัฒนาระบบนำส่งยาจากสารสกัดรำข้าว โดย ดร.อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย นักวิจัยศูนย์นาโนเทค และผลงานการพัฒนาขั้วอิเล็กโตรดสำหรับใช้งานกับเซลล์เชื้อเพลิงชนิดโซลิกออกไซด์สำหรับรถยนต์ สามารถทนความร้อนที่อุณภูมิสูงถึง 600-900 องซาเซลเซียส" ศ.ดร.วิวัฒน์
ส่วนหนึ่งของการประชุมจะเป็นการหารือเพื่อกำหนดกรอบนโยบายการทำงาน 5 ปี ถัดไปของศูนย์นาโนเทคโนโลยี ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญด้านนาโนเทคโนโลยี 9 คน จากประเทศต่างๆ เป็นคณะกรรมการระดับนานาชาติ เพื่อปรับทิศทางการดำเนินการให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com
Link: http://www.bangkokbiznews.com/viewNews.jsp?newsid=148151
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment