ม.เกษตรแปรถั่วเขียวเป็นไบโอพลาสติก
นักวิจัยแปรสภาพโมเลกุลแป้งมันและแป้งถั่วเขียวเป็นไบโอพลาสติก ผลคุณสมบัติใกล้เคียงพลาสติกปิโตรเคมี ทั้งความยืดหยุ่น แข็งแรงและทนร้อน เผยขึ้นรูปเป็นฟิล์มใสสำหรับทดสอบคุณสมบัติ
ผศ.ดร.น้ำฝน ลำดับวงศ์ อาจารย์สาขาวิชาเทคโนโลยีทางกระบวนการทางเคมีและฟิสิกส์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประสบความสำเร็จในการคิดค้นเทคโนโลยีการแปรสภาพแป้งมันสำปะหลังและแป้งถั่วเขียว ให้เป็นพลาสติกชีวฐาน (biobased plastic)ที่มีความยืดหยุ่นสูง แข็งแรง ทนความร้อนและแรงเฉือนได้สูงเป็นพิเศษและช่วยลดปัญหามลภาวะเนื่องจากลดปริมาณการใช้ตัวทำละลายอินทรีย์และโลหะหนักที่ใช้ในการผลิตพลาสติกแบบเดิม ทั้งยังลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะ เพราะเป็นวัสดุธรรมชาติสามารถย่อยสลายได้ภายในระยะเวลาไม่นาน
สำหรับการศึกษาและคัดเลือกแป้งพืชหลายชนิด ใช้เวลาประมาณ 1 ปีเศษ กระทั่งพบว่าแป้งมันสำปะหลังและแป้งถั่วเขียว มีโมเลกุลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมสำหรับผลิตเป็นไบโอพลาสติก
ผศ.ดร.วาณี ชนเห็นชอบ อาจารย์ภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุ หนึ่งในคณะวิจัย กล่าวว่า ไบโอพลาสติก คือพลาสติกเทียมที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับพลาสติกเทียมที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับพลาสติกจริงมาก ปัจจุบันนี้กลุ่มประเทศตะวันตกเริ่มผลิตไบโอพลาสติกจากพอลิแลคติก หรือพีแอลเอ (PLA) เซลลูโลส และโปรตีนสำหรับประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่มีทรัพยากรด้านการเกษตรที่อุดมสมบูรณ์จึงเป็นโอกาสดีถ้าจะนำผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตไบโอพลาสติก ซึ่งแป้งมันสำปะหลังและแป้งถั่วเขียวเป็นวัตถุดิบที่มีศักยภาพนำมาผลิตไบโอพลาสติก
ดร.ปาริฉัตร หงสประภาส รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะอุตสาหกรรมเกษตร เพิ่มเติมว่า งานวิจัยนี้เป็นนวัตกรรมที่พัฒนามาจากองค์ความรู้พื้นฐานด้านการออกแบบโครงสร้างโมเลกุล จากการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตเมื่อแป้งถูกนำมาแปรสภาพโดยกระบวนการวิจัยในห้องปฏิบัติการและได้ผลการทดลองออกมาเป็นแผ่นฟิล์มใสแต่ยังไม่สามารถนำไปใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ เพราะจะต้องนำไปทดสอบปรับคุณสมบัติตามสูตร
การทดลองเบื้องต้น หากฟิล์มที่ได้มีความคงทนแข็งแรง สามารถย่อยสลายได้ตามเวลาที่กำหนด และอยู่ในระดับมาตรฐาน สามารถทนต่อความร้อนหรือความเย็น จึงจะนำไปใช้งานจริง โดยมหาวิทยาลัยพร้อมให้การสนับสนุน เพื่อขยายผลในระดับอุตสาหกรรม
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
Friday, January 12, 2007
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment