Monday, January 29, 2007
แยกยาก “เสื้อนาโน” แท้-เทียม
แยกยาก “เสื้อนาโน” แท้-เทียม วานผู้บริโภคพึ่งตัวเองก่อนมีมาตรฐานชี้
หลายคนคงเคยไปเลือกซื้อเสื้อผ้า แล้วพบ “เสื้อนาโน” ที่ราคาแพงกว่าเสื้อผ้าธรรมดาถึง 2-3 เท่าตัว แต่ลำพังสำรวจด้วยตา-สัมผัสด้วยมือก็ยากที่จะพิสูจน์ว่าเสื้อที่เห็นนั้นใช้เทคโนโลยีจิ๋วๆ สอดแทรกเข้าไปในเส้นใยผ้าจริง แล้วนาโนเทคโนโลยีจะทำให้ชุดธรรมดาๆ มีสมบัติพิเศษสมดังคำกล่าวอ้างของแม่ค้าหรือไม่ จึงเกิดคำถามว่าทำอย่างไรจึงจะพิสูจน์ได้ว่าเป็นของแท้หรือของปลอม
ท่ามกลางกระแสนาโนเทคโนโลยีซึ่งหลั่งไหลเข้ามาให้สังคมไทยช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา “เสื้อนาโน” คือความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมมากที่สุดในเมืองไทย ภายหลัง “ความฮือฮา” แรกของปรากฏการณ์นาโนเทคโนโลยีในเครื่องสำอาง “ขมิ้นชัน” ที่ได้รับการเทียบชั้นเครื่องสำอางระดับโลก ก็มาถึงความสำเร็จในการพัฒนาเสื้อนาโนของนักวิจัยไทยจนต่อยอดสู่การค้า และมีแนวโน้มพัฒนาต่อยอดเมื่อศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ตั้งเป้าส่งเสริมอุตสาหกรรมสิ่งทอในเมืองไทยด้วยนาโนเทคโนโลยี
วางขายทั้งที่อาจเป็น “นาโนปลอม”
ความสำเร็จที่ออกมาจากห้องปฏิบัติการสู่ตลาดแต่ไม่ได้มาพร้อมไม้บรรทัดวัดมาตรฐานนั้น เป็นโอกาสให้พ่อค้าหัวใสฉกฉวยจังหวะที่ลูกค้ากำลังงงๆ กับเทคโนโลยีใหม่กล่าวอ้างว่าสินค้าที่ขายนั้นคือ “เสื้อนาโน” ซึ่งกันยับ ไร้กลิ่น สิ้นเชื้อโรค แต่ยากที่ลูกค้าจะพิสูจน์ เช่นเดียวกับกรณีหลงซื้อต้นมะขามหวานไปปลูกแต่กว่าจะรู้ว่าคือมะขามเปรี้ยวก็ผ่านไปหลายปี
“กรณีเสื้อเหลืองก็มีคนเอาไปขายแบกะดินหน้าวังสวนจิตรฯ แล้วบอกว่าเป็นเสื้อนาโน ทั้งที่ไม่รู้ว่านาโนจริงหรือไม่” คำพูดโอดครวญของ นายพิชัย อุตมาภินันท์ ผู้ประกอบการซึ่งผลิตเสื้อฉลองครองราชย์ ๖๐ ปี ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภายใต้แบรนด์ I-TEX และเป็นผู้ประกอบการรายเดียวที่รับช่วงเทคโนโลยีการพัฒนาเสื้อนาโนมาจากนักวิจัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“นาโนมาร์ก” มาตรฐานเสื้อนาโนที่ต้องรออีก 6 เดือน
หลังจากที่ปล่อยให้มีการอวดอ้างกันเกลอแผงเสื้อผ้า ทางนาโนเทคก็ได้หลักที่จะสร้างมาตรฐานให้กับเสื้อนาโนด้วย “นาโนมาร์ก” (Nano Mark) ซึ่งผู้ผลิตที่ใช้นาโนเทคโนโลยีจริงเท่านั้นจึงจะได้การรับรองดังกล่าว แต่กระบวนการก็ยังอยู่ในขั้นตอนจัดตั้งคณะกรรมการและเพิ่งผ่านการหารือกับผู้ประกอบการสิ่งทอในการจัดทำมาตรฐานได้ไม่นาน โดยคาดว่าไม่เกิน 6 เดือนนี้จะได้มาตรฐานออกมา
ระหว่างนี้ทางนาโนเทคก็ได้จัดทำคู่มือเล่มเล็กๆ ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับเสื้อนาโน โดยอธิบายว่าเป็นเสื้อที่ใช้เทคโนโลยีระดับนาโนเมตรเพื่อไปเพิ่มประสิทธิภาพเสื้อผ้าให้มีสมบัติพิเศษ อาทิ กันน้ำ กันรังสียูวี กันเชื้อแบคทีเรีย โดยการเพิ่มสารบางชนิดลงไป ส่วนจะทราบได้อย่างไรว่าเสื้อที่สวมใส่นั้นเป็นเสื้อนาโนก็มีคำแนะนำแนบในหน้าสุดท้าย ด้วยเนื้อหาสั้นๆ ที่ให้ทดสอบด้วยตัวเองว่าเสื้อผ้าที่ซื้อหามานั้นมีคุณสมบัติดังคำโฆษณาหรือไม่ แต่จะตรวจสอบเพื่อให้มั่นใจต้องใช้อุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์และการทดลองในห้องปฏิบัติการ อาทิ เครื่องดีแอลเอส (Dynamic Light Scattering: DLS) และกล้องเอสทีเอ็ม (Scanning Tunneling Microscope: STM) เป็นต้น
“ของแท้-ของปลอม” มีแค่จุฬา-นาโนเทคที่พิสูจน์ได้
“ดูยากนะ” ดร.ณัฐพันธุ์ ศุภกา นักวิชาการนาโนเทคให้ความเห็นต่อคำถามว่าผู้บริโภคทั่วไปจะแยกแยะได้อย่างไรว่าเป็นเสื้อนาโน โดยวิธีที่ง่ายที่สุดคือต้องมีฉลาก พร้อมทั้งอธิบายอีกว่าการทดสอบต้องใช้อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ที่ไม่ได้มีอยู่ทั่วไป อาทิ กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน กล้องเอเอฟเอ็ม (Atomic Force Microscope: AFM) หรือกล้องเอสอีเอ็ม (Scanning Electron Microscope: SEM) เป็นต้น โดยปัจจุบันมีเพียงห้องปฏิบัติการของนาโนเทคและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเท่านั้นที่ทดสอบได้ว่าเป็นเสื้อนาโนจริงหรือไม่
“ผู้บริโภคทั่วไปก็พิจารณาคุณสมบัติตามที่เขาโฆษณา ดูว่ากันน้ำ กันยับจริงไหม แต่ถ้ากันแบคทีเรียก็ดูยากหน่อย ต้องส่งเข้าห้องแล็บดูว่าเชื้อเจริญเติบโตแค่ไหน หรืออาจจะซื้อไปใส่แล้วดูว่ามีกลิ่นอับไหม” ดร.ณัฐพันธุ์อธิบาย พร้อมให้นิยามเสื้อนาโน 6 ข้อคือ 1.ต้องผลิต ออกแบบหรือสังเคราะห์เส้นใยหรืออนุภาคที่ใช้เคลือบเส้นใยที่ความเล็กระดับนาโนเมตร 2.เข้าถึงหน่วยย่อยที่สุดของเสื้อผ้าคือโมเลกุลน้ำตาลของผ้าฝ้ายและมอนอเมอร์ของใยสังเคราะห์ 3.อนุภาคที่เคลือบเส้นใยต้องจัดเรียงเป็นระเบียบและสม่ำเสมอ 4.เกิดคุณสมบัติใหม่ในสารที่ใช้เคลือบและเป็นคุณสมบัติที่เกิดเฉพาะในความเล็กระดับนาโนเมตรเท่านั้น 5.เกิดคุณสมบัติใหม่ในเสื้อผ้าที่ใช้นาโนเทคโนโลยี 6.ลักษณะของผ้าต้องไม่ต่างไปจากเดิม
สำหรับเสื้อนาโนที่มีขายในปัจจุบันนั้นเป็นเสื้อที่มีคุณสมบัติดังนี้ 1.กันเปื้อนซึ่งรวมคุณสมบัติกันน้ำเข้าไปด้วย 2.กันเชื้อโรค 3.กันรังสียูวี และ 4.ทำความสะอาดตัวเองได้ ทั้งนี้นอกจากมาตรการนาโนมาร์กที่จะประทับความมั่นใจให้กับผู้บริโภคแล้ว เราก็ยังไม่มีกฎหมายใดที่จะเอาผิดผู้ประกอบการที่หลอกลวงผู้บริโภคเกี่ยวกับการอวดอ้างคุณสมบัติด้วยนาโนเทคโนโลยี ยกเว้นกฎหมายเกี่ยวกับตราฉลากเท่านั้น
งัดกฎหมาย “ฉลาก” เอาผิดคนคิดปลอมเสื้อนาโน
ประกาศของคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก เรื่องลักษณะของฉลากสินค้าที่ควบคุมฉลาก พ.ศ.2541 ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2541 เป็นกฎหมายเดียวที่จะเอาผิดผู้ประกอบการที่เอาเปรียบผู้บริโภคจากกระแสศรัทธานาโนเทคโนโลยีได้ในขณะนี้ ซึ่งผู้ประกอบการที่ระบุข้อความบนสินค้าว่าเป็นนาโนเทคโนโลยีโดยเป็นเท็จจะได้รับโทษตามประกาศ รวมถึงผู้หลอกลวงผู้บริโภคอื่นๆ ที่เข้าข่ายด้วย
ตัวอย่างบทลงโทษที่พอจะทำให้ผู้คิดทำผิดต้องร้อนๆ หนาวๆ เช่น โทษจำคุก 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับผู้ที่เจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ ปริมาณหรือสาระสำคัญประการอื่นอันเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการไม่ว่าจะเป็นของตนเองหรือผู้อื่น รวมทั้งผู้ที่โฆษณาหรือใช้ฉลากที่มีข้อความอันเป็นเท็จและก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระ หรือโทษจำคุก 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับผู้ผลิตเพื่อขายสินค้าโดยไม่มีฉลากหรือมีฉลากที่แสดงไม่ถูกต้อง เป็นต้น
“แม้เราไม่มีแล็บตรวจสอบ แต่เราก็สามารถส่งไปตรวจยังห้องแล็บที่ตรวจสอบได้ หากสินค้าใดไม่ใช่สินค้านาโนเทคโนโลยีตามที่กล่าวอ้างก็จะได้รับโทษตามกฎหมาย และอนาคตถ้ามีการร้องเรียนเรื่องเสื้อนาโน ภาระการพิสูจน์จะอยู่ที่ผู้ประกอบธุรกิจ” คำชี้แจงอันแข็งกร้าวของ นางสาวทรงศิริ จุมพล เจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ถึงการอวดอ้างคุณสมบัติของสินค้าด้วยนาโนเทคโนโลยีโดยที่ไม่ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวจริง
สิ่งทอแบรนด์ดังขอเวลาศึกษาความชัดเจน
ในมุมของผู้ประกอบการเองแม้จะยังเห็นภาพไม่ชัดเจนว่านาโนเทคโนโลยีคืออะไรและจะเข้ามาส่งเสริมธุรกิจสิ่งทอได้อย่างไร แต่ก็มีรายหลายที่แสดงความสนใจที่จะกระโดดมาร่วมวงของธุรกิจใหม่นี้ ซึ่งนางสาวนฤมล รัชต์บริรักษ์ ผู้อำนวยการผู้จัดการ บริษัท นันยางการทออุตสาหกรรม จำกัด กล่าวว่ามีความสนใจที่จะนำนาโนเทคโนโลยีมาใช้กับสิ่งทอของบริษัท เพื่อหนีการแย่งชิงตลาดระดับล่างของจีนและเวียดนามที่เข้ามาแทนที่ไทย และเป็นโอกาสที่จะดึงศักยภาพของนักวิจัยไทยออกมา
“ผู้บริหารเห็นว่านี่คืออนาคตของประเทศและเป็นการยกระดับองค์กร แต่นาโนก็เป็นแค่ช่องทางหนึ่งเท่านั้น ซึ่งเราอาจใช้เทคโนโลยีอื่นก็ได้มายกระดับสินค้า” นางสาวนฤมลกล่าว พร้อมทั้งเผยถึงศักยภาพของบริษัทว่ามีทั้งโรงปั่น โรงทอ โรงฟอกย้อม และโรงงานตัดเย็บจึงง่ายที่ปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีในการผลิต โดยมีตลาดต่างประเทศเป็นเป้าหมายหลัก อีกทั้งการใช้นาโนเทคโนโลยีกับสิ่งทอของบริษัทจะช่วยยกระดับความรู้ของคนในประเทศด้วย ซึ่งเธอมองว่านักวิจัยไทยก็มีผลงานดีๆ แต่ไม่มีโอกาสได้นำไปใช้ ขณะที่ผู้ประกอบการก็มีโอกาสให้นักวิจัย ทั้งนี้ภาครัฐก็ต้องให้ความร่วมมือด้วย เพื่อให้นักวิจัยและผู้ประกอบการได้ทำงานร่วมกัน
ขณะที่ นางกัลยาณี ศิริบุญยัง ผู้ช่วยผู้จัดการส่วนจัดซื้อ บริษัท ประชาอาภรณ์ จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบการที่ผลิตสิ่งทอและเสื้อผ้าให้กับแบรนด์ดังๆ อาทิ Lacoste, Arrow, Alle และ BSC เป็นต้น เผยว่าขณะนี้กำลังศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับนาโนเทคโนโลยีอยู่ และยอมรับว่าขณะนี้กระแสนาโนเทคโนโลยีมาแรงมาก ทำให้ทุกคนรู้จักแต่ก็ยังไม่รู้ความหมาย และตลาดเมืองไทยก็ไปตามกระแส อย่างไรก็ดีในฐานะผู้ประกอบการที่มีแบรนด์ต้องการความชัดเจนมากกว่านี้ โดยต้องดูนโยบายของประเทศและผลตอบรับด้วย จึงจะเริ่มนำนาโนเทคโนโลยีมาใช้ แม้จะช้ากว่าตลาดล่างก็ตามเพราะหากเกิดปัญหาขึ้นมาจะส่งผลกระทบต่อแบรนด์ในอนาคต
ส่วนกรณีที่มีมาตรฐานนาโนมาร์กสำหรับเสื้อนาโนออกมา นางกัลยาณีกล่าวว่าเห็นด้วยที่จะมีมาตรฐานดังกล่าว เพราะต้องมีความชัดเจน เนื่องจากตลาดมีความเสรีในการผลิตสินค้าออกมามาก ไม่เช่นนั้นหากเกิดปัญหาขึ้นจะทำให้ตลาดของสินค้านาโนเทคโนโลยีพัง
ด้าน ดร.ขัติยา ไกรกาญจน์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่าหากนำนาโนเทคโนโลยีมาใช้กับอุตสาหกรรมทางด้านสิ่งทอ อาหารและยา จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าได้เยอะ เมื่อเปรียบเทียบไทยกับไต้หวันแล้วถือว่ามีเทคโนโลยีที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งการประยุกต์นาโนเทคโนโลยีเข้ากับอุตสาหกรรมสิ่งทอก็เพียงแค่ต่อยอดเทคโนโลยีเดิมที่มีอยู่แล้ว ซึ่งเชื่อว่าสิ่งทอนาโนมีอนาคตที่ดี แต่ไทยคงไม่มีความสามารถด้านนาโนอิเล็กทรอนิกส์เพราะไม่มีฐานการผลิตอยู่ในเมืองไทย
สุดท้ายผู้บริโภคต้องช่วยตัวเอง
อย่างไรก็ตามข้อมูลที่ผู้บริโภคควรจะต้องทราบเกี่ยวเสื้อนาโนในเมืองไทยคือ ปัจจุบันเรามีเสื้อนาโนจากผู้ประกอบการไทยเพียง 2 รายเท่านั้นที่นำนาโนเทคโนโลยีมาใช้กับเสื้อผ้าโดยความร่วมมืออย่างเป็นทางการกับหน่วยงานและนักวิจัยไทยคือ เสื้อฉลองครองราชย์ ๖๐ ปี ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภายใต้แบรนด์ I-TEX และเสื้อกีฬาภายใต้แบรนด์ "แกรนด์นาโน" (Grand Nano) ของแกรนด์สปอร์ต
ส่วนเสื้อผ้าอื่นๆ ที่มีการกล่าวอ้างว่าใช้นาโนเทคโนโลยีนั้นผู้บริโภคคงต้องพิจารณาตนเองว่าเป็นเสื้อนาโนจริงหรือไม่ และจำเป็นแค่ไหนที่เราจะต้องใช้เสื้อซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษตามที่คนขายกล่าวอ้าง เนื่องจากเรายังไม่มีมาตรฐานและกฎหมายโดยตรงที่จะคุ้มครองผู้บริโภคจากกรณีนี้
คุณสมบัติพิเศษของ “เสื้อนาโน”
คุณสมบัติ สารที่ใช้ หลักการ
กันน้ำ สารไม่ชอบน้ำ (Hydrophobic) ออกแบบพื้นผิวเสื้อผ้าให้ขรุขระและเคลือบสารไม่ชอบน้ำซึ่งเป็นการเลียนแบบปรากฏการณ์ “น้ำกลิ้งบนใบบัว” ที่ผิวใบบัวจะขรุขระและมีสารเคลือบคล้ายขี้ผึ้ง
กันรังสียูวี ซิงค์ออกไซด์/ไททาเนียมไดออกไซด์ สารทั้ง 2 ชนิดมีคุณสมบัติในการสะท้อนรังสียูวีเอและยูวีบี เมื่อเคลือบบนเส้นใยผ้าจะช่วยป้องกันผิวจากรังสียูวีและช่วยชะลอสีซีดจางในเสื้อผ้า
กันแบคทีเรีย ซิงค์ออกไซด์/ไททาเนียมไดออกไซด์ /นาโนซิลเวอร์ อนุภาคเงินระดับนาโนเมตรหรือนาโนซิลเวอร์ช่วยกำจัดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราได้ โดยจะทำปฏิกิริยาที่เยื่อเซลล์และขัดขวางการแบ่งตัวของดีเอ็นเอ ส่วนซิงค์ออกไซด์และไททาเนียมไดออกไซด์เป็นสาร “โฟโตคะละลิสต์” ที่ฆ่าเชื้อแบคทีเรียและกำจัดกลิ่นได้เมื่อมีแสง
กันไฟฟ้าสถิตย์ ซิงค์ออกไซด์/ไททาเนียมไดออกไซด์ /แอนติโมนีตินออกไซด์ ช่วยป้องกันการเกิดแรงดึงดูดระหว่างผิวหนังกับเสื้อผ้าที่ทำให้เสียบุคลิกในการสวมใส่ และป้องกันการเสียดสีจนเกิดประกายไฟ เหมาะสำหรับเมืองหนาวที่อากาศแห้ง แต่เมืองไทยมีอากาศร้อนชื้นจึงมักไม่ประสบกับปัญหาดังกล่าว
กันยับ ไททาเนียมไดออกไซด์ /นาโนซิลิกา ใช้ไททาเนียมไดออกไซด์กับผ้าฝ้ายเพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อระหว่างเส้นใยเซลลูโลสในผ้าฝ้าย และใช้นาโนซิลิกาในผ้าไหมเพื่อกันยับในเนื้อผ้า
ที่มา: http://www.manager.co.th
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000010939
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment