Thursday, January 25, 2007

‘วิทยาศาสตร์อาเซียน’

ไทยเจ้าภาพจัดเวที ‘วิทยาศาสตร์อาเซียน’
สร้างเครือข่ายแลกนักวิจัยทำงานข้ามแล็บ


ไทยเจ้าภาพจัดเวทีวิทยาศาสตร์อาเซียน 10 ประเทศสมาชิก ตั้งเป้าสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์จัดส่งนักวิจัยไปร่วมทำงานในห้องปฏิบัติการต่างประเทศ

ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า คณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมอบหมายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นเจ้าภาพการประชุมการสร้างเครือข่ายศูนย์เฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (The First Forum on Network of Asean S&T centers) ที่กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 25-26 มกราคม นี้ ที่อุทยานวิทยาศาสตร์แห่งชาติ เนื่องจากไทยมีความเชี่ยวชาญและความพร้อมในด้านวิทยาศาสตร์ฯ

ในการประชุมครั้งนี้ นักวิจัยจาก 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย บรูไน กัมพูชา ลาว และพม่า จะได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อมูลและงานวิจัยระหว่างสมาชิก รวมถึงการวางแนวทางในการสร้างศูนย์เครือข่ายความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผลสรุปที่ได้จากเวทีนี้จะนำไปถกกันในเวทีการประชุมอาเซียนว่าด้วยหัวข้อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีครั้งที่ 52 (COST) ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เดือนเมษายนนี้ เพื่อเป็นแนวทางหารือร่วมกันที่จะแลกเปลี่ยนนักวิจัยข้ามประเทศในอนาคต

เนื้อหาการประชุมจะครอบคลุมด้านไบโอเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์การอาหาร พลังงานทดแทน รวมถึงความร่วมมือด้านวัสดุศาสตร์เทคโนโลยีอวกาศและสื่ออิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ เนื่องจากเอเชียมีจุดเด่นด้านเกษตรกรรมและการผลิตอาหาร ทั้งยังเป็นแหล่งทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ จึงควรสร้างความร่วมมือระหว่างกันในการนำทรัพยากรดังกล่าวมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการเป็นเจ้าภาพในการประชุมครั้งนี้ คือ การพบปะหารือและแลกเปลี่ยนนักวิจัยที่มีจำกัดระหว่างประเทศต่อไปในอนาคต เช่น นักวิจัยด้านไข้หวัดนก พลังงานชีวมวลหรือพลังงานทดแทนอื่นๆ ที่หลายประเทศกำลังสนใจ เป็นต้น ตลอดจนนำไปสู่ความร่วมมือในหารวิจัย เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการวิจัยในบางสาขา

ตามแผนปฏิบัติการว่าด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของอาเซียน (APAST) ระบุถึงความสำคัญในการจัดตั้งสำนักงานและศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งอาจตั้งอยู่ในประเทศ หรือในประเทศสมาชิกจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างศูนย์ ไม่เฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ และการนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และยังเป็นฐานที่ช่วยให้เกิดการวิจัยพัฒนาร่วมกันตลอดจนส่งนักวิทยาศาสตร์แลกเปลี่ยนการทำงานในศูนย์วิจัยของแต่ละประเทศด้วย

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

No comments: