Wednesday, January 31, 2007
จีน-ออสซี่ขาดแคลนน้ำ
"โลกร้อน" จะทำคนอดอยากหลายร้อยล้าน จีน-ออสซี่ขาดแคลนน้ำถึงขั้นวิกฤต
เอเจนซี/เอเอฟพี - อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นจะทำให้ผู้คนอีกหลายร้อยล้านหิวโหย ภายในปี 2080 และเป็นสาเหตุให้เกิดการขาดแคลนน้ำถึงขั้นวิกฤตในจีนและออสเตรเลีย รวมไปถึงบางส่วนของยุโรปและสหรัฐฯ นักวิทยาศาสตร์เตือนไว้ในรายงานสภาพภูมิอากาศโลกฉบับใหม่ที่รั่วออกมา
ยังไม่ทันที่ตัวรายงานของคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ (IPCC) จะประกาศออกมาอย่างเป็นทางการ ซึ่งเหล่านักวิทยาศาสตร์กำลังแก้ไข แต่ข้อมูลบางส่วนที่เกี่ยวกับร่างรายงานดังกล่าวก็ได้รั่วไหลออกมา โดยระบุว่า ภายในสิ้นศตวรรษนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้ผู้คนประมาณ 1,100 ล้าน ถึง 3,200 ล้านคน ขาดแคลนน้ำ ขณะที่อุณหภูมิจะเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 2-3 องศาเซลเซียส
รายงานส่วนที่สองดังกล่าว ซึ่งมีกำหนดจะเผยแพร่ในเดือนเมษายน แต่ นสพ.ดิเอจ (The Age) ของออสเตรเลีย นำรายละเอียดมาตีพิมพ์ก่อน ระบุว่า คนทั่วโลกอีก 200 ถึง 600 ล้านคน จะขาดแคลนอาหารในอีก 70 ปีข้างหน้า และน้ำท่วมชายฝั่งจะทำลายบ้านเรือนอีก 7 ล้านหลัง
"ข่าวสารที่ได้ออกมาก็คือ ทุกภูมิภาคของโลกจะได้รับผลกระทบ" ดร.แกรม เพียร์แมน ซึ่งเป็นผู้ช่วยร่างรายงานชิ้นนี้ กล่าว
"ถ้าลองดูที่จีน เช่นเดียวกับออสเตรเลีย ปริมาณน้ำฝนในพื้นที่เกษตรกรรมของพวกเขาจะขาดหายไปเป็นจำนวนมาก" เพียร์แมน อดีต ผอ.ด้านสภาพภูมิอากาศขององค์การศึกษาวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมของออสเตรเลีย เผย
ทวีปแอฟริกาและประเทศยากจน เช่น บังกลาเทศ จะเป็นที่ซึ่งได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะพวกเขามีความพร้อมจะรับมือกับภัยตามชายฝั่งและความแห้งแล้งที่ทวีความรุนแรงขึ้นน้อยที่สุด เพียร์แมนกล่าว
ไอพีซีซี ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญระดับท็อปด้านภูมิอากาศจากทั่วโลก กำหนดจะเผยแพร่ส่วนแรกของรายงานฉบับนี้ในวันศุกร์ที่ 2 ก.พ.ที่กรุงปารีส โดยจากเนื้อหาซึ่งรั่วออกมาแล้วเช่นกัน ไอพีซีซีคาดไว้ในเนื้อหาของส่วนแรกนี้ว่า ภายในปี 2100 อุณหภูมิโลกจะเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 2 ถึง 4.5 องศาเซลเซียส จากระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม โดยมีการ "ประมาณแบบเจาะจงที่สุด" อยู่ที่ 3 องศา
รายงานส่วนแรกนี้ มุ่งสรุปรวบรวมหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ล่าสุดที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ส่วนรายงานส่วนที่สองของเดือนเม.ย. จะกล่าวถึงรายละเอียดผลกระทบของภาวะโลกร้อนและทางเลือกต่างๆสำหรับการปรับตัวรับมือ
ตามข่าวของดิเอจ ร่างรายงานส่วนที่สอง มีบทหนึ่งที่กล่าวถึงออสเตรเลียทั้งบท โดยเวลานี้แดนจิงโจ้ก็กำลังเผชิญกับภัยแล้งรุนแรงที่สุดนับแต่มีการบันทึกมา รายงานเตือนว่า ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวในแนวปะการัง Great Barrier Reef อาจกลายเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทุกปี ภายในปี 2030 เป็นอย่างเร็ว เนื่องจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น และเป็นกรดมากยิ่งขึ้น ทั้งยังเตือนด้วยว่า แนวปะการังดังกล่าว อาจ "สูญพันธุ์" ลงได้
นอกจากนี้ หิมะจะหายไปจากเทือกเขาฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของออสเตรเลีย ขณะที่ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าไปยังลุ่มแม่น้ำเมอร์เรย์-ดาร์ลิง ซึ่งเป็นเขตเพาะปลูกสำคัญของประเทศ จะลดลงประมาณ 10 ถึง 25% ภายในปี 2050
สำหรับในยุโรป ธารน้ำแข็งจะหายไปจากเทือกเขาแอลป์ตอนกลาง ส่วนประเทศที่เป็นเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกจะถูกเล่นงานอย่างหนักจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นและพายุโซนร้อนที่จะเกิดบ่อยขึ้น
นอกจากรายงานของไอพีซีซีแล้ว เมื่อวันที่ 29 ม.ค. ก็มีรายงานข้อมูลโดยโครงการสิ่งแวดล้อมของยูเอ็น (UNEP) ระบุว่า ธารน้ำแข็งทั่วโลกกำลังละลายเพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็เป็นสัญญาณเด่นชัดว่า ปรากฏการณ์สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงใหญ่ ได้เริ่มก่อตัวขึ้นแล้ว
ธารน้ำแข็งที่อ้างในรายงานจำนวน 30 แห่ง ซึ่งหน่วยงาน World Glacier Monitoring Service เป็นผู้เฝ้าติดตาม มีความหนาลดลงโดยเฉลี่ยประมาณ 66 ซม. ในปี 2005
"ข้อมูลชิ้นใหม่นี้ ยืนยันแนวโน้มการละลายที่รวดเร็วขึ้นในช่วง 2 ทศวรรษครึ่งที่ผ่านมา" คำแถลงของUNEP ระบุ
การก่อตัวของธารน้ำแข็งทั่วโลกลดลงโดยเฉลี่ยประมาณ 10.5 เมตร ตั้งแต่ปี 1980 ในทศวรรษนี้ ธารน้ำแข็งดังกล่าว ละลายโดยเฉลี่ยแต่ละปีเร็วกว่าในช่วงทศวรรษ 90 ประมาณ 1.6 เท่า และละลายเร็วกว่า ในทศวรรษ 80 ประมาณ 6 เท่า
ที่มา: http://www.manager.co.th
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000012340
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment