Monday, January 22, 2007
ยิงดาวเทียมค้างฟ้า
ยิงดาวเทียมค้างฟ้า สร้างอันตรายบนอวกาศ
เนเจอร์/ยูซีเอส – การยิงทำลายดาวเทียมหมดอายุกลางอวกาศของจีนสร้างความตึงเครียดต่อสถานการณ์ระหว่างประเทศในโลก และยังสร้างอันตรายต่อสภาพแวดล้อมนอกโลก เพราะการจะยิงอะไรบนอวกาศนั้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่ผลแห่งการทำลายไม่อาจประเมินได้ว่าเศษเสี้ยวจะกระเด็นกระจายไปกระทบดาวเทียมหรือยานอวกาศในวงโคจรหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอนาคตที่เศษวัตถุเหล่านี้ยังคงลอยคว้างอยู่
หวาดวิตกกันไปทั่วโลกหลังจากกระแสข่าวจีนได้ทดสอบยิงขีปนาวุธทำลายดาวเทียมพยากรณ์อากาศ “เฟิงหยุน 1 ซี” (Feng Yun 1C) เมื่อวันที่ 11 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยเป็นดาวเทียมที่หมดอายุการใช้งานหลังจากขึ้นสู่วงโคจรตั้งแต่ปี 2542 นั่นทำให้จีนกลายเป็นประเทศที่สามของโลก ถัดจากสหรัฐฯ และอดีตสหภาพโซเวียต ที่สามารถยิงอาวุธในอวกาศได้
เดวิด ไรท์ (David Wright) ผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธอวกาศ ในฐานะผู้อำนวยการร่วมโครงการความมั่นคงแห่งโลก ของสหภาพนักวิทยาศาสตร์ที่มีจิตสำนึกทางสังคม (Union of Concerned Scientists : UCS) ให้สัมภาษณ์ผ่านวารสารเนเจอร์และเผยแพร่ข้อมูลผ่านเว็บไซต์ยูซีเอส ถึงรายละเอียดต่างๆ ในการทดลองใช้ "เอแซต" ระบบต่อต้านดาวเทียม (anti-satellite : ASAT) โดยใช้เทคนิคง่ายๆ ใน 2 รูปแบบ
"รูปแบบแรกคือการสร้างดาวเทียมส่งขึ้นสู่วงโคจร ให้เข้าใกล้ดาวเทียมที่ต้องการทำลายมากที่สุด จากนั้นก็ปลดปล่อยละอองอนุภาคเพื่อให้ดาวเทียมแตกออก"
ส่วนรูปแบบที่สองคือการปล่อยดาวเทียมขนาดเล็กด้วยจรวด เมื่อส่งถึงวงโคจร ให้ดาวเทียมใช้พลังงานจลน์เข้าไปชนกับดาวเทียมเป้าหมายขณะที่โคจรผ่านกัน เมื่อเกิดการปะทะดาวเทียมทั้งคู่ก็จะพัง เศษซากกระจัดกระจาย” ไรท์กล่าวและชี้ว่าจีนเลือกใช้วิธีที่สอง และนับว่าเป็นกลยุทธ์แบบเก่า เพราะเหมือนกับการเอาก้อนหินไปปาใส่ใครสักคน
การจะกระแทกดาวเทียมนั้นไม่ยากเลย ไรท์อธิบายว่า เพียงแค่อาศัยขีปนาวุธพิสัยกลางอย่าง DF-21 ของจีนเป็นตัวนำส่งดาวเทียมที่มีน้ำหนักประมาณ 50 กิโลกรัม และต้องการอุปกรณ์จับภาพที่ดีกว่าของกล้องดิจิตอลที่ใช้กันอยู่เล็กน้อย เพื่อให้ดาวเทียมจับตำแหน่งและส่งสัญญาณ ซึ่งการใช้ดาวเทียมขนาดเล็กและเบาจะทำให้ตามล่าหาเป้าหมายได้อย่างสะดวก
ทว่าปัญหาที่สำคัญของการทำลายดาวเทียมด้วยวิธีนี้คือซากปรักหักพังที่เกิดขึ้นถึง 750 กิโลกรัม โดยชิ้นส่วนของดาวเทียมที่ถูกทำลายจะลอยได้เร็วถึง 7.5 กิโลเมตรต่อวินาที หรือประมาณ 30 เท่าของเครื่องบินจัมโบเจ็ท และเศษที่มีขนาดวัดได้เป็นเซนติเมตรล้วนเป็นอันตรายต่อดาวเทียมที่โคจรอยู่ในระยะใกล้เคียง ซึ่งไรท์ประมาณว่าดาวเทียมที่จีนยิงทำลายครั้งนี้จะทำให้เกิดอนุภาคเป็นล้านๆ เหล่านี้เป็นอนุภาคขนาดเล็กจิ๋วอย่างน้อย 2 ล้านชิ้น ขนาด 1-10 ซม.ประมาณ 400 ชิ้น และอีก 800 ชิ้นน่าจะใหญ่กว่า 10 ซม.
ส่วนโอกาสที่ซากปรักหักพังของดาวเทียมจะกระเด็นไปทำลายดาวเทียมดวงอื่นหรือไม่นั้น ไรท์เผยว่า ตำแหน่งที่เฟิงหยุน 1ซีโคจรอยู่นั้นเป็นแหล่งชุกชุมของดาวเทียมเลยทีเดียว ทั้งดาวเทียมทหารและเอกชน ซึ่งเศษหักบางส่วนที่ใหญ่กว่า 1 ซม.จะบินโคจรรอบโลกค้างอยู่นานนับสิบปี ขณะที่บางส่วนชิ้นเล็กชิ้นน้อยอาจจะกระแทกเข้ากับดาวเทียมอื่นๆ และทำให้เกิดซากหักกระเด็นไปกระทบดาวเทียมอื่นๆ หรือสิ่งที่โคจรอยู่ต่อไปในลักษณะปฏิกิริยาลูกโซ่
อย่างไรก็ดี ใช่ว่าจีนจะเป็นชาติแรกที่ทดลองเอแซต มหาอำนาจด้านอวกาศอย่างสหรัฐฯ และอดีตสหภาพโซเวียตก็เคยทดลองเช่นนี้ในช่วง 30 ปีก่อน แต่ขณะนั้นโซเวียตมีปัญหาทางเทคนิคจึงทำไม่สำเร็จ ขณะที่สหรัฐฯ ตัดสินใจยกเลิกโครงการเพราะเกรงว่าเศษขยะที่ได้จากการทำลายดาวเทียมจะสร้างปัญหาให้แก่ดาวเทียมของตัวเอง แต่ทั้ง 2 ประเทศก็ยังคงส่งสัญญาณทำให้ดาวเทียมเป้าหมายเสียหาย โดยไม่ได้ระเบิดทิ้งแต่อย่างใด
ทั้งนี้ แกนนำสหภาพนักวิทยาศาสตร์ผู้มีจิตสำนึกทางสังคมได้แสดงความหวังว่าการทดลองของจีนน่าจะกระตุ้นให้นานาชาติหันมาสนใจเปิดโต๊ะเจรจาเรื่องความมั่นคงทางอวกาศ โดยร่างกฎระเบียบในการใช้พื้นที่บนอวกาศร่วมกัน รวมถึงการห้ามทดลองและใช้อาวุธทำลายดาวเทียม ซึ่งแท้จริงแล้วก่อนหน้านี้จีนและประเทศต่างๆ ได้เรียกร้องให้ร่างกฎดังกล่าวขึ้น แต่สหรัฐฯ เองกลับปฏิเสธ และประกาศเสรีภาพในการปฏิบัติการบนอวกาศออกมา โดยระบุว่าสหรัฐฯมีสิทธิเข้าถึงพื้นที่อวกาศ ดังนั้นการที่จีนออกมาปฏิบัติการบนอวกาศอย่างเสรีบ้างจึงไม่ใช่เรื่องผิดอะไรเช่นกัน
ที่มา: http://www.manager.co.th
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000007873
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment