Friday, January 19, 2007

นาฬิกาสิ้นโลก

วิกฤตินิวเคลียร์-อากาศวิปริตปรับ “นาฬิกาสิ้นโลก” อีกแค่ 5 นาทีปฐพีล่มสลาย!!

บีเอเอส/เนเจอร์/บีบีซีนิวส์/เอพี – โลกเรากำลังเข้าใกล้จุดวิกฤติทั้งจากภัยนิวเคลียร์และสภาพสิ่งแวดล้อมที่ไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น ซึ่งกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลกผู้ดูแลสัญลักษณ์แห่งหายนะได้ลงมติว่าปีที่แล้วเป็นช่วงเลวร้ายที่สุด จึงตัดสินใจปรับเวลาของ “นาฬิกาสิ้นโลก” ให้เข้าใกล้เที่ยงคืนไปอีก เหลืออีกเพียง 5 นาทีเท่านั้นที่โลกจะล่มสลาย

วารสารวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ "เดอะบูลเละทิน" (Bulletin of Atomic Scientists : BAS) ซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างยิ่งในวงการ ได้นำนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลกแถลงข่าวร่วมทั้งในกรุงลอนดอน อังกฤษ และวอชิงตัน สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 17 ม.ค. เพื่อขยับ ”นาฬิกาโลกาวินาศ” (Doomsday Clock) ให้เข้าใกล้เที่ยงคืนไปอีก 2 นาที จากเดิม 11.53 น. มาอยู่ที่เวลา 11.55 น. เป็นการส่งสัญญาณเชิงสัญลักษณ์ว่าโลกเขยิบเข้าใกล้สู่กาลอวสานมากขึ้น

”นาฬิกาโลกาวินาศ” ออกสู่สายตาชาวโลกตั้งแต่ปี 2490 หลังสหรัฐฯ ทิ้งปรมาณูทำลายญี่ปุ่นไม่กี่เดือน เป็นแนวคิดของกลุ่มนักฟิสิกส์ในโครงการแมนฮันตัน (Manhattan Project) สหรัฐฯ ที่พัฒนาอาวุธล้างโลกขึ้น จากนั้นพวกเขาได้เตือนให้ทำลายอาวุธนิวเคลียร์ก่อนที่จะสาย แรกเริ่มตั้งเวลาห่างจากเที่ยงคืนออกไป 7 นาที โดยกำหนดให้ 12.00 น. (เที่ยงคืน) เป็นช่วงเวลาโลกล่มสลาย หรือ “ดูมส์เดย์” ที่โลกจะถูกทำลายหมดไม่มีผู้คนหลงเหลือ โดยมีวารสารบีเอเอสที่พวกเขาก่อตั้งขึ้นรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพพิจารณาการขยับของเข็มนาฬิกามากว่า 60 ปี

ปัจจัยสำคัญ 2 ข้อที่ทำให้คณะกรรมการวารสารตัดสินใจหดเวลาชีวิตของโลกเข้าไป 2 นาทีในครั้งนี้ก็เพราะวิกฤติอาวุธนิวเคลียร์ที่เป็นปัญหากระจายอยู่หลายประเทศ และปัญหาสถานการณ์โลกร้อนที่นับวันจะทวีความรุนแรงอย่างรั้งไม่อยู่

ลอว์เรนซ์ เคราซ์ (Lawrence Krauss) แห่งภาควิชาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ มหาวิทยาลัยเคสเวสเทิร์น รีเสิร์ฟ (Case Western Reserve University, Cleveland) สหรัฐฯ หนึ่งในคณะกรรมการ กล่าวว่า เป็นภาระหน้าทีอันหลีกเลี่ยงไม่ได้ของนักวิทยาศาสตร์ที่จะต้องออกมาเตือนผู้นำชาติสำคัญของโลกถึงหายนะภัยที่กำลังคืบคลานเข้ามาคุกคามมนุษยชาติมากขึ้นทุกที

วิกฤติการณ์นิวเคลียร์ที่ไม่มีใครยอมใคร

รุ่งอรุณแห่ง ”นิวเคลียร์ยุคที่สอง” กำลังส่องสว่าง คือเหตุผลสำคัญในการปรับนาฬิกา เพราะหลายประเทศต่างกำลังพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปีที่แล้ว คณะกรรมการได้ระบุชื่อบางประเทศเช่น เกาหลีเหนือที่ทดลองนิวเคลียร์ในเดือนตุลาคม, การลักลอบนำเข้าเทคโนโลยีนิวเคลียร์ของนักวิทยาศาสตร์ปากีสถานี และพิธีทางการทูตที่ล้มเหลวในการเจรจาห้ามมิให้อิหร่านครอบครองนิวเคลียร์ ซึ่งเหล่านี้ส่งผลให้อัตราการเติบโตของ “อาวุธนิวเคลียร์” เพิ่มขึ้นและกระจายไปทั่วโลก

นอกจากนี้ คณะกรรมการยังกล่าวถึงการสะสมนิวเคลียร์ของชาติยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐฯ และรัสเซีย ซึ่งทั้ง 2 ประเทศนี้มีหัวรบพร้อมใช้มากกว่า 26,000 หัวรบเก็บไว้ รวมถึงการเพิ่มสมรรถนะยูเรเนียมและพลูโตเนียม และข้อเสนอให้มีการทำลายนิวเคลียร์ทั่วโลกล้วนได้รับการปฏิเสธ ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งในระดับภูมิภาค ซึ่งมาร์ติน รีส (Martin Rees) นักดาราศาสตร์ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ อังกฤษ (Cambridge University, UK) ก็ระบุว่า ไม่มีโอกาสใดที่ดีกว่านี้แล้วในการลดปริมาณนิวเคลียร์และจะช่วยลดความขัดแย้งในระดับภูมิภาคได้อีกด้วย

เพิ่มประเด็นใหม่ “อากาศวิปริต” ทำลายชีวิต

ส่วน “อากาศผันผวน” เป็นประเด็นที่ 2 ที่คณะกรรมการยกขึ้นมาพิจารณาปรับเวลา และนับเป็นครั้งแรกที่มีประเด็นสิ่งแวดล้อมมาเกี่ยวข้อง ซึ่งเคนน็ตต์ เบเนดิกต์ (Kennette Benedict) ประธานคณะกรรมการวารสารเปิดใจว่า เมื่อเขามองนาฬิกาโลกาวินาศ ทำให้ตระหนักว่ายังต้องมีเทคโนโลยีและแนวคิดอื่นๆ นอกเหนือจากนิวเคลียร์เข้ามาประกอบกันทำให้โลกย่ำแย่ จากนั้นจึงพิจาณาองค์ประกอบอื่นๆ อาทิ เทคโนโลยีที่ทำให้เกิดมลพิษ การเติบโตของนาโนเทคโนโลยี ความก้าวหน้าทางด้านพันธุกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพ และการก่อการร้ายด้วยอาวุธชีวภาพ ทว่าก็พิเคราะห์จนแน่ใจว่าสถานการณ์โลกร้อนนั้นอันตรายร้ายแรงพอๆ กับอาวุธนิวเคลียร์

สตีเฟน ฮอว์กิง (Stephen W. Hawking) นักฟิสิกดาราศาสตร์และนักคณิตศาสตร์คนสำคัญของโลกก็มาร่วมพีธีการขยับเข็มนาฬิกาครั้งนี้ด้วย โดยให้สัมภาษณ์ผ่านเครื่องสังเคราะห์เสียงว่า แค่วิกฤติโลกร้อนก็ทำร้ายโลกไปมากกว่าครึ่ง ยิ่งกว่าการก่อการร้าย เพราะก่อการร้ายอาจจะฆ่าผู้คนได้ทีละร้อยละพัน แต่โลกร้อนทำลายได้เป็นล้านๆ ชีวิต พวกเราควรทำสงครามกับโลกร้อน มากกว่าสงครามกับผู้ก่อการร้าย

ย้ำแนวคิดตั้งต้น ”อาวุธนิวเคลียร์” เคลียร์ได้โลกสดใส

ทั้งนี้ ในช่วง 60 ปีที่ผ่านมาเข็มนาฬิกาขยับเข้า-ออกจากเที่ยงคืนมาแล้ว 18 ครั้ง โดยครั้งที่เข็มยาวของนาฬิกาสิ้นโลกได้ขยับใกล้เวลาเที่ยงคืนมากที่สุดคือก่อนถึงเที่ยงคืนเพียง 2 นาที ในปี 2496 ที่สหรัฐฯ และสหภาพโซเวียตต่างทดลองระเบิดไฮโดรเจนฝ่ายละครั้งห่างกันแค่ 9 เดือน และเมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายในปี 2534 นาฬิกาก็ถอยห่างจากเที่ยงคืนออกมาถึง 17 นาที

ส่วนการขยับครั้งก่อนหน้านี้คือเมื่อ 5 ปีก่อนเข้าใกล้เที่ยงคืน 2 นาที (อยู่ที่ 11.53 น.) หลังเหตุก่อการร้าย 11 กันยา ในสหรัฐฯ และนโยบายด้านนิวเคลียร์ของประธานาธิบดีจอร์จ บุชที่แข็งกร้าว

การตัดสินใจขยับเข็มนาฬิกาแต่ละครั้งนั้นร่วมกันพิจารณาโดยคณะกรรมการของวารสาร ซึ่งประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญในระดับนโยบาย รวมถึงผู้สนับสนุนกิจกรรม อาทิ ฮอว์กิง และอาร์เธอร์ ซี คลาร์ก (Arthur C. Clarke) นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ชื่อดัง

แม้ว่าแนวคิดใหม่ในการขยับเข็มนาฬิกาจะมีเรื่องโลกร้อนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่ประเด็นทางด้าน “นิวเคลียร์” ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ดั้งเดิมทีต้องการให้นาฬิกาเรือนนี้เป็นสัญลักษณ์ความขัดแย้งในการสะสมและแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ ทางคณะกรรมการก็ยังให้ความสำคัญมากกว่า เพราะถือว่ายังไม่มีเหตุการณ์ใดเลวร้ายเท่ากับการทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ

คำตัดสินในการปรับนาฬิกาให้เข้าใกล้เวลาโลกแตกนั้นบรรดานักวิทยาศาสตร์ต่างระบุว่า ไม่ใช่เรื่องที่น่าประหลาดใจเท่าใดนัก เพราะปี 2549 ที่ผ่านมานับเป็นปีที่เลวร้ายที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในความพยายามยุติการกระจายของระเบิดนิวเคลียร์ โดยหวังว่าการขยับนาฬิกาเข้าใกล้จุดหายนะนี้จะกระตุ้นผู้คนให้หันมาสนใจแก้ปัญหาวิกฤติที่เราและโลกกำลังเผชิญอยู่

ที่มา: http://www.manager.co.th
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000006994

No comments: