Tuesday, January 9, 2007

วิทย์เป็นปลื้มส่งไม้ต่องานวิจัยสู่เอกชน

วิทย์เป็นปลื้มส่งไม้ต่องานวิจัยสู่เอกชน

กระทรวงวิทย์พอใจผลงานวิจัยส่งไม้ต่อถึงภาคเอกชนรวดเร็ว ไม่รอค้างอยู่บนหิ้งนาน แถมใช้งานทันต่อสถานการณ์ฉุกเฉินสร้างโอกาสธุรกิจใหม่แข่งขันกับต่างชาติ

งานวิจัยในปีที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มของเทคโนโลยีโลหะและวัสดุ (เอ็มเทค) หน่วยงานที่อยู่ภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สามารถตอบสนองความต้องการทั้งในภาคธุรกิจอุตสาหกรรม และการแพทย์ เช่น การประยุกต์ใช้เทคนิคการสร้างต้นแบบรวดเร็วเพื่อช่วยในงานศัลยกรรม โดยได้เผยแพร่เทคโนโลยีดังกล่าวให้แก่โรงพยาบาล เพื่อใช้บริการรักษาจริงกับผู้ป่วยแล้วถึง 163 ราย

เอ็มเทคยังได้พัฒนาวัสดุเคลือบหลุมรองฟันชนิดฉายแสงที่ได้มาตรฐานเทียบเท่ากับวัสดุนำเข้าจากต่างประเทศ แต่มีราคาถูกกว่า และได้ดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่บริษัท เด็นเทค จำกัด พัฒนาในเชิงพาณิชย์
นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยเนื้อเซรามิกพรุนตัวสูงสำหรับใช้ทำไส้กรองน้ำเซรามิก โดยใช้แผ่นเยื่อกรองที่เหมาะสมในการแยกจุลินทรีย์ต่างๆ ออกจากน้ำดื่ม ผลงานวิจัยดังกล่าวได้ยื่นจดอนุสิทธิบัตรในประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว ขณะเดียวกันยังมีงานวิจัยที่กำลังรอการต่อยอดจากภาคเอกชนอีกหลายโครงการ เช่น โครงการผลิตถ้วยครูซิเบิลอลูมินา คุณภาพเทียบเท่ากับของนำเข้าจากต่างประเทศ แต่ราคาถูกกว่า

ส่วนโครงการที่ได้รับการจดสิทธิบัตรแล้ว ได้แก่ เทคโนโลยีฟิล์มบรรจุภัณฑ์แอ็คทีฟสำหรับยืดอายุผักและผลไม้สด ช่วยในการเก็บรักษาผลิตผลสดได้เพิ่มขึ้น 2-5 เท่า นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกผักและผลไม้สดของไทยให้เพิ่มขึ้น และช่วยลดการสูญเสียของผลิตผลสดได้ถึง 15-30 เปอร์เซ็นต์ ในระหว่างการขนส่งและการวางจำหน่าย

ด้านศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ หรือ ไบโอเทค ที่ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ถ่ายทอดเทคโนโลยีระบบบำบัดน้ำเสียผลิตไบโอแก๊ส สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลัง เพื่อนำน้ำเสียจากโรงงานมาผลิตก๊าซชีวภาพทดแทนน้ำมันเตา ช่วยให้โรงงานสามารถประหยัดค่าน้ำมันเตาลงได้ประมาณ 1.2 แสนบาทต่อวัน หรือราว 28 ล้านบาทต่อปี และยังเตรียมนำก๊าซที่เหลือมาผลิตไฟฟ้าใช้ในโรงงาน

แม้จะเป็นหน่วยงานที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นมาใหม่ แต่ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (นาโนเทค) สามารถผลักดันสิ่งทอคุณสมบัติพิเศษที่อาบด้วยสารที่มีขนาดนาโนเมตรมาประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมสิ่งทอ เช่น ชุดนักเรียน ชุดนักกีฬา อุปกรณ์ตกแต่งบ้าน ที่มีคุณสมบัติกันสิ่งสกปรก กำจัดกลิ่น และแบคทีเรีย เป็นต้น

ผลงานวิจัยจากศูนย์อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ที่ใช้ประโยชน์มากที่สุดในปีที่แล้วคงต้องยกให้รถสื่อสารฉุกเฉินเพื่อสังคมไทย โดยนำไปใช้งานจริงในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม โคลนถล่ม โดยภายในติดตั้งระบบสื่อสารความเร็วสูง และมีความจุสูง เข้าสู่ชุมชนที่ห่างไกล

เนคเทคยังได้พัฒนาระบบควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ (ECU: Electronic Control Unit) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสมองกลฝังตัวที่ใช้ในการควบคุมการจ่ายก๊าซธรรมชาติให้มีประสิทธิภาพและรองรับการปรับแต่งให้สอดคล้องกับลักษณะของเครื่องยนต์ ตลอดจนการพัฒนาซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส เพื่อใช้เป็นซอฟต์แวร์ทางเลือกสำหรับผู้ใช้คอมพิวเตอร์

ในปี 2550 มีโครงการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่วางเอาไว้หลายโครงการ เช่น การปล่อยดาวเทียมธีออสขึ้นสู่วงโคจร การก่อสร้างสถานีหอดูดาวแห่งชาติ ดอยอินทนนท์ โครงการก่อสร้างโรงงานไบโอดีเซลฯ เฉลิมพระเกียรติ การขยายความร่วมมือกับต่างประเทศ การจัดทำแผนแม่บทปัจจัยพื้นฐานทางปัญญา การคาดการณ์เทคโนโลยีที่จะมีความสำคัญต่อไป เพื่อเตรียมความพร้อมให้ประเทศไทยในโลกอนาคต

ที่มา: http://www.komchadluek.net/
Link: http://www.komchadluek.net/

No comments: