Monday, January 22, 2007

ผลิตรากฟันเทียม


ก.วิทย์ลุยผลิตรากฟันเทียมเพื่อคนไทยป้อนโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ

กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เร่งพัฒนารากฟันเทียมครบวงจรเพื่อคนไทยในราคาประหยัด ป้อน 20,000 รากในโครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา เตรียมทดสอบในคนมีนาคมนี้ หลังทดลองในหมูฉลุย ชี้รากฟันที่ได้จะมีขนาดและรูปร่างสอดรับกับสรีระคนไทยกว่าการนำเข้า ผุดไอเดียรากฟันติดอาร์เอฟไอดีเทียบต่างชาติ เพื่อการพิสูจน์อัตลักษณ์กรณีบุคคลสูญหาย

ภายหลังการลงนามความร่วมมือด้านทันตกรรมขั้นสูงกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ได้จัดงานแถลงข่าวโครงการวิจัยร่วม “การพัฒนาระบบวัสดุฝังในทางทันตกรรมสำหรับผู้ป่วยไทย” ขึ้นเมื่อวันที่ 22 ม.ค.โดยมี ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รมว.วิทยาศาสตร์ฯ เป็นประธาน

สำหรับความร่วมมือดังกล่าว มีเป้าหมายหลักเพื่อวิจัยพัฒนาบริการทันตกรรมด้านวัสดุฝังในภายในประเทศ ให้มีขนาดและรูปร่างเหมาะสมกับคนไทยในราคาที่ถูกลงเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยการทำงานร่วมกันของ 6 หน่วยงานคือ เอ็มเทค ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ศูนย์เทคโนโลยีทางทันตกรรมขั้นสูง (แอดเทค) และคณะทันตแพทย์ศาสตร์จาก 3 สถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การวิจัยพัฒนาในโครงการแบบเป็น 4 กลุ่มย่อยคือ 1.การออกแบบรากฟันเทียมด้วยเครื่องผลิตต้นแบบรวดเร็วโดยเอ็มเทค 2.การผลิตรากฟันเทียมโดยแอดเทค 3.การนำรากฟันเทียมไปทดสอบระดับคลินิกโดยคณะทันตแพทย์ศาสตร์ทั้ง 3 แห่ง และ 4.การพัฒนาโปรแกรมออกแบบการผ่าตัดและการพัฒนาสว่านแบบฉลาดโดยเนคเทค

รศ.ดร.ปริทรรศน์ พันธุบรรยงก์ ผอ.เอ็มเทค เล่าถึงความคืบหน้าของการผลิตรากฟันเทียมว่า ภายหลังการวิจัยพัฒนามานานกว่า 2 ปี ปัจจุบันแอดเทคได้ออกแบบและผลิตรากฟันเทียมตลอดจนทดสอบรากฟันเทียมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยได้ออกแบบและผลิตรากฟันเทียมไว้ 2 แบบด้วยกัน โดย 1 ใน 2 แบบได้ยื่นขอจดสิทธิบัตรในประเทศ

ผอ.เอ็มเทค เผยว่า สำหรับวัสดุผลิตรากฟันเทียม คณะวิจัยได้ใช้สารไททาเนียมเกรด 4 สำหรับงานการแพทย์จากต่างประเทศซึ่งเป็นที่ยอมรับในความปลอดภัยระดับสากลมาขึ้นรูปรากฟันเทียมจนได้คุณลักษณะที่เหมาะสม จากนั้นจึงทดสอบคุณสมบัติเปรียบเทียบกับรากฟันเทียมที่จำหน่ายกันในท้องตลาด

"พบว่ารากฟันเทียมที่ผลิตได้มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับรากฟันเทียมที่มีจำหน่ายกันอยู่โดยทั่วไป ทั้งในด้านความแข็งแรง ความสามารถในการดัดงอ ความต้านทานการกัดกร่อน ที่สำคัญคือ ไม่พบความเป็นพิษต่อร่างกาย แถมเซลล์กระดูกยังเข้ามายึดเกาะกับรากฟันเทียมได้เป็นอย่างดีด้วย"

นอกจากนี้ คณะวิจัยยังได้ทดสอบการใช้งานในหมูซึ่งมีรากฟันที่มีลักษณะใกล้เคียงกับรากฟันมนุษย์เป็นเวลา 12 สัปดาห์ พบว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ หมูไม่ติดเชื้อ กินอาหารได้ตามปกติ ไม่มีการหลุดหลวม และเนื้อเยื่อกระดูกยังเข้ามาติดยึดกับพื้นผิวรากฟันเทียมได้ดี

ขั้นตอนต่อไปจึงเป็นการทดลองระดับคลินิกกับคนไข้ ซึ่งภายใน มี.ค.นี้จะทดสอบในผู้ป่วยจำนวน 50 ราย คาดว่าใช้เวลาอีกราว 1 ปี ก่อนที่จะส่งรากฟันเทียมจากการวิจัยไปให้กระทรวงสาธารณสุขได้ใช้กับผู้ป่วย 10,000 รายๆ ละ 2 ราก รวม 20,000 รากในโครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติฯ พระชนมายุครบ 80 พรรษาต่อไป

ทั้งนี้ทั้งนั้น ผอ.เอ็มเทค กล่าวด้วยว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ยังมีแนวคิดพัฒนาเทคโนโลยีทางทันตกรรมให้มีความก้าวหน้าเหมือนระดับสากล ยกตัวอย่างเช่น การติดชิพอาร์เอฟไอดีไว้ที่รากฟันเพื่อเก็บประวัติเจ้าของและข้อมูลการรักษาสุขภาพ ซึ่งจะมีประโยชน์ในการพิสูจน์อัตลักษณ์กับบุคคลที่หายสาบสูญในเหตุการณ์ภัยพิบัติ เช่น สึนามิ

ที่มา : http://www.manager.co.th
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000008243

No comments: