Monday, January 22, 2007

สมองกลฝังตัว


จักรกลคิดเป็นด้วย "สมองกลฝังตัว" อีกก้าวเทคโนโลยีสู่ชีวิตไฮเทค

สำหรับคอภาพยนตร์ “ไซไฟ” หรือผู้หลงใหลในระบบกลไกอิเล็กทรอนิกส์แล้ว เชื่อว่าคงจะไม่มีคำถามเลยเมื่อกล่าวว่า “เครื่องจักรกลก็คิดเป็นนะ” ด้วยการออกแบบและเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ควบคุมการทำงานให้กับสิ่งของต่างๆ ได้อย่างสมใจนึกอย่างในภาพยนตร์ชื่อดังหลายต่อหลายเรื่อง ซึ่งจะคุ้นเคยกันดีในนามของ “ระบบสมองกลฝังตัว” ที่เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตประจำวันของเรามากขึ้นๆ ในรูปของข้าวของเครื่องใช้ “อัจฉริยะ”

แม้ว่า "ระบบสมองกลฝังตัว" (Embedded Systems) อาจฟังดูไม่คุ้นหูคนทั่วไปเท่าไรนัก แต่มันก็จะทวีความสำคัญอย่างยิ่งในอนาคตอันใกล้นี้ โดยเป็นระบบที่ผสมผสานกันระหว่าง “ฮาร์ดแวร์” ที่เราสามารถเห็นได้ด้วยตา เช่น ไมโครชิพ เซ็นเซอร์ และมอเตอร์ กับชุดคำสั่งที่ไม่อาจมองเห็นได้ ซึ่งก็คือ “ซอฟต์แวร์” ที่ฝังตัวอยู่ จึงอาจเรียกได้ว่าเป็นระบบที่มีเทคโนโลยีการสื่อสาร (Information Technology: IT) ซ่อนอยู่ภายใน

เราจึงพบระบบสมองกลฝังตัวในอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ มากมาย ทั้งในอุปกรณ์สำนักงาน อุปกรณ์การสื่อสาร อุปกรณ์ควบคุม และอุปกรณ์ขนส่ง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า และรถยนต์ที่มีระบบประมวลผลกลางควบคุมการขับเคลื่อนและความปลอดภัยของผู้ขับขี่

สมองกลฝังตัว ระบบอัจฉริยะ “ทุกที่ทุกเวลา”

สำหรับความสำคัญของสมองกลฝังตัวจะเป็นอย่างไรนั้น ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ให้ทัศนะว่า จากนี้ต่อไป ระบบสมองกลฝังตัวจะแทรกซึมเข้าไปในสิ่งต่างๆ รอบๆ ตัวเราทั้งหมด โดยมีคอมพิวเตอร์แฝงตัวอยู่ในทุกๆ ที่ ไม่จำกัดเฉพาะในหุ่นยนต์เหมือนในภาพยนตร์หลายๆ เรื่องเท่านั้น แต่ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ก็จะได้รับการติดตั้งระบบสมองกลฝังตัวเพื่อช่วยในการทำงานด้วย เพื่อให้มันสามารถติดต่อสื่อสารและโต้ตอบกับมนุษย์ได้อย่างชาญฉลาดประหนึ่งสิ่งมีชีวิตจริงๆ

“ในการจัดอันดับนวัตกรรมที่จะทวีความสำคัญใน 5 ปีข้างหน้าของไอบีเอ็ม ก็ยังจัดให้ 1 ใน 5 นวัตกรรมที่พลิกผันวิถีชีวิตคนทั่วโลกไปคือ โทรศัพท์ฉลาด ที่มีระบบสมองกลฝังตัวควบคุมการทำงานอยู่”

อย่างไรก็ตาม เราก็ยังพบว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังขาดแคลนบุคลากรด้านสมองกลฝังตัวอยู่มาก ขณะที่ไทยเป็นฐานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และรถยนต์ที่สำคัญของนักลงทุนต่างชาติมากมาย โดยเฉพาะญี่ปุ่นซึ่งเป็นจ้าวแห่งเทคโนโลยีสมองกลฝังตัวของโลก จึงสมควรอย่างยิ่งที่ไทยควรเร่งพัฒนาบุคลากรด้านนี้ขึ้นมาโดยเร็ว เพื่อรักษาฐานการผลิตสินค้า พร้อมๆ ไปกับการสร้างฐานการผลิตระบบสมองกลฝังตัวของตัวเองขึ้นมาอย่างมั่นคง

ส่ง 14 วิศวกรฝึกอบรมบริษัทญี่ปุ่น ทางลัดอัพเกรดวิทยาการ

ล่าสุด สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) หรือ TPA สมาคมสมองกลฝังตัวไทย (TISA) ร่วมกับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศญี่ปุ่น (JETRO) และสมาคมทุนฝึกอบรมเทคนิคโพ้นทะเล (AOTS) ได้ริเริ่ม “โครงการพัฒนาบุคลากรด้านระบบสมองกลฝังตัว” (ESTATE) ครั้งแรกของประเทศขึ้น

ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมและสร้างนักออกแบบและพัฒนาด้านสมองกลฝังตัวในประเทศไทยให้สนองตอบความต้องการของภาคอุตสาหกรรมและการแข่งขันในเวทีโลกได้ โดยส่งทีมวิศวกรไทยที่คัดเลือกจากผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ จำนวน 14 คน ซึ่งผ่านการฝึกอบรมเบื้องต้น 6 เดือน เพื่อไปดูงาน ฝึกอบรม และปฏิบัติงานจริงกับบริษัทเอกชนชั้นนำของญี่ปุ่นเป็นเวลา 1 ปี โดยจะออกเดินทางในวันที่ 22 ม.ค.นี้

นายฮิโรโมชิ วาตานาเบะ รมช.เศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ประเทศญี่ปุ่น พูดถึงความร่วมมือระหว่างไทยและญี่ปุ่นในครั้งนี้ว่า ปัจจุบันเอกชนญี่ปุ่นกว่า 7,000 รายได้เข้ามาลงทุนโดยใช้ไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าที่สำคัญอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ จึงแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศทั้งสอง เช่นเดียวกับอนาคตที่ญี่ปุ่นจะยังคงคาดหวังให้ไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญต่อไป เนื่องจากขณะนี้ประเทศญี่ปุ่นเองก็ขาดกำลังคนในด้านสมองกลฝังตัวเช่นกัน เพราะมีความต้องการในประเทศที่สูงมากจนผลิตไม่ทันต่อความต้องการ

“ผมหวังว่าการฝึกอบรมยังประเทศญี่ปุ่นของคณะวิศวกรไทยในครั้งนี้ จะทำให้ประเทศไทยได้บุคลากรด้านสมองกลฝังตัวที่มีความเชี่ยวชาญขั้นสูงตามระยะเวลาที่กำหนด เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการเป็นฐานการผลิตของไทยให้มีมากขึ้น พร้อมๆ ไปกับให้บุคลากรกลุ่มนี้ได้เป็นสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศให้แน่นแฟ้นสืบไป”

ด้านมุมมองจากผู้ริเริ่มโครงการ ดร.วิวัฒน์ ศรีวราวิภัทร์ กรรมการด้านกิจกรรมพิเศษ สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) เผยว่า ประโยชน์ของความร่วมมือดังกล่าวนอกจากจะทำให้วิศวกรไทยได้เรียนรู้เทคโนโลยีสมองกลฝังตัวจากญี่ปุ่นแล้ว ยังทำให้เกิดการเรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมของชาวอาทิตย์อุทัยในฐานะหุ้นส่วนการค้าการลงทุนที่สำคัญของประเทศด้วย

“ในอนาคต การออกแบบสมองกลฝังตัวจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งต้องอาศัยการฝึกอบรมจริง โดยความร่วมมือระหว่างไทยและบริษัทญี่ปุ่นในครั้งนี้จะทำให้บุคลากรไทยได้รับการฝึกอบรมด้านสมองกลฝังตัว และทำให้เราได้เรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมการทำงานของญี่ปุ่นว่าเขาทำงานกันอย่างไร เพื่อที่เราจะได้เข้าใจและทำงานร่วมกันได้ในอนาคต”

ไทยพร้อมแล้วด้านฮาร์ดแวร์ แต่ขอคนด้าน "ซอฟต์แวร์" อีกเท่าตัว

ส่วน ดร.พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ประธานสมาคมสมองกลฝังตัวไทย และ ผอ.ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีความได้เปรียบอีกหลายประเทศในด้านฐานการผลิตฮาร์ดแวร์ต่างๆ ที่ไทยมีความแข็งแกร่งแล้ว ทว่ายังขาดบุคลากรที่มากเพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งหากแก้ปัญหาจุดนี้ได้ เราก็จะมีศักยภาพการรับงานจากต่างประเทศมาผลิตในประเทศได้มากขึ้น

“การสร้างความสัมพันธ์กับบริษัทญี่ปุ่นเป็นเรี่องสำคัญส่วนหนึ่งเพราะวัฒนธรรมของคนญี่ปุ่นที่ต้องการทำงานกับคนที่พูดภาษาเดียวกันและผ่านการทำงานกับบริษัทญี่ปุ่นมาแล้ว วิศวกรรุ่นเยาว์กลุ่มนี้จึงถือเป็นตัวเชื่อมที่ดี เพื่อปูฐานรับงานพัฒนาและออกแบบสมองกลฝังตัวในไทย” นายกสมาคมสมองกลฝังตัวไทยกล่าว

พร้อมกันนี้ ผอ.เนคเทค บอกด้วยว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการผลิตผู้เชี่ยวชาญด้านอิเล็กทรอนิกส์ได้ปีละ 10,000 คน แต่มีเพียง 1,000 คนเท่านั้นที่เข้ามาทำงานด้านสมองกลฝังตัว ซึ่งเนคเทคเองก็จะพยายามผลักดันให้มีบุคลากรในส่วนนี้เพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าตัวเป็น 2,000 คนต่อปี เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรม

ฝากความหวัง 14 ตัวแทน กลับมาช่วยประเทศ ด้านเยาวชนตอบรับ

อย่างไรก็ดี ต่อความร่วมมือครั้งนี้ รมว.วิทยาศาสตร์ไทย มองว่า จะเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของไทย ที่คณะวิศวกรไทยจะได้เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ร่วมกันอย่างเป็นกลุ่มเป็นก้อนทั้ง 14 คน แตกต่างจากในอดีตที่เรามักส่งตัวแทนประเทศไปเรียนสาขาใดๆ เพียงคนเดียว ทำให้เมื่อกลับมาแล้วก็ไม่สามารถขับเคลื่อนอะไรได้มากนัก ผิดกับครั้งนี้ที่หวังได้ว่าเมื่อทั้ง 14 คนได้รับการฝึกอบรมแล้วจะกลับมาร่วมแรงร่วมใจนำความรู้ที่ได้มาพัฒนาประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ด้วยจำนวนบุคลากรที่มากพอจนถึงขั้นที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ หรือ “มวลวิกฤติ” (Critical Mass)

ด้านเสียงจากสมาชิกทีมวิศวกรไทยที่มีต่อโครงการ นายธรรมรัตน์ แซ่โค้ว บัณฑิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาอิเล็กทรอนิกส์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เผยว่า โครงการความร่วมมือที่เขาได้เข้าร่วมนี้จะเป็นโอกาสสำคัญให้พวกเขาได้เรียนรู้งานด้านสมองกลฝังตัวที่พวกเขาสนใจในระดับที่สูงขึ้นกว่าที่มีอยู่ในประเทศ

ก่อนหน้านี้พวกเขาได้ทดลองสร้างสรรค์ผลงานด้านสมองกลฝังตัวร่วมกันมาแล้ว 2 ชิ้น คือ หุ่นยนต์ซูโม่ และหุ่นยนต์เล่นดนตรี โดยในรายของหุ่นยนต์ซูโม่นั้น ได้เน้นที่การเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์ในเวลาสั้นๆ เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้ากับโจทย์ที่ไม่เคยเจอมาก่อนด้วยความรู้ที่มีอยู่อย่างคล่องตัว และไม่ยึดติดกับการเขียนโปรแกรมด้วยภาษาคอมพิวเตอร์เพียงภาษาใดภาษาหนึ่ง ซึ่งแต่ละภาษามีข้อดีข้อด้อยแตกต่างกัน

“ยกตัวอย่างหุ่นยนต์ซูโม่นี้จะง่ายมาก เรียนรู้ได้ใน 2 ชั่วโมง โดยหุ่นยนต์ทั้ง 4 ตัวในสนามจะถูกติดด้วยเซ็นเซอร์อินฟาเรดเพื่อค้นหาศัตรู และสามารถตรวจวัดระยะทางได้ รวมทั้งขบคิดและแก้ปัญหาได้เองระหว่างการแข่งขัน โดยเราตั้งเงื่อนไขให้มันว่าต้องไม่ออกนอกเส้นขอบเวที ส่วนที่มันจะค้นหาศัตรูได้อย่างไร หรือจะเลี้ยวซ้ายขวาได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการเขียนโปรแกรมของแต่ละคนเป็นหลัก”

ส่วนการไปฝึกอบรมยังประเทศญี่ปุ่นครั้งนี้ เขาเล่าว่า แต่ละคนจะได้แยกย้ายกันไปดูงานและฝึกอบรมในบริษัทเอกชนแต่ละแห่งสอดคล้องกับความสนใจเฉพาะราย แต่ที่แน่นอนที่สุดคือ เมื่อได้รับการฝึกอบรมแล้ว พวกเขาทุกคนจะกลับมาพัฒนาระบบสมองกลฝังตัวในประเทศไทย เช่นการรวมกลุ่มกันพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเองขึ้น อาทิ การพัฒนาโทรศัพท์มือถือ เครื่องถ่ายเอกสาร และระบบถุงลมนิรภัยตลอดจนระบบเบรกในรถยนต์ ที่ล้วนแล้วแต่มีความชาญฉลาดในตัวเองขึ้น

สำหรับสมาชิกทีมวิศวกรไทยในโครงการทั้ง 14 คน ได้แก่ น.ส.เบญจา บุญเอื้อ นายจักรกฤษณ์ ศรีปริวุฒิ นายธเนศ ชูวิเศษวณิชย์ นายธรรมรัตน์ แซ่โค้ว นายธรรมศักดิ์ สงวนสัจวาจา นายพิเชษฐ์ กาญจนการุณ นายไพฑูรย์ แซ่ตั้ง นายภาคภูมิ ศักดิ์กำจร นายวุฒิชัย ปันวารี นายสุภชัย เทพวีระกุล นายสถาพร วงวนวงษ์ นายสมศักดิ์ศรี วันฤกษ์ นายอภิชาต เหล็กงาม และนายอัธยา ประสิทธิพรม

ผสานกำลัง 11 มหาวิทยาลัย ร่วมร่างหลักสูตรในประเทศ

นอกจากนี้ ไม่เพียงแต่จะได้ส่งตัวแทนประเทศไทยเข้ารับการฝึกอบรมนอกประเทศแล้ว ยังมีการส่งเสริมให้เกิดหลักสูตรและใบประกาศนียบัตรแก่บุคลากรด้านสมองกลฝังตัวภายในประเทศไทยควบคู่กันไปด้วย ซึ่งความเคลื่อนไหวล่าสุด สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือซิป้า ได้ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเทคโนโลยีสารสนเทศญี่ปุ่น จัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัว (ETSS) ในประเทศไทยขึ้น เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านสมองกลฝังตัวโดยใช้มาตรฐานหลักสูตรแบบเดียวกับในประเทศญี่ปุ่น

ในโครงการดังกล่าวมี 11 สถาบันการศึกษาเข้าร่วมโครงการกับซิป้า คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลธัญญบุรี และราชภัฏสวนดุสิต โดยจะร่วมกันร่างหลักสูตรสมองกลฝังตัวของประเทศไทยใหม่ให้เหมาะสมกับการใช้งานจริงในประเทศ

“ระบบสมองกลฝังตัว” จึงเป็นอีกหนึ่งวิทยาการโลกที่สำคัญ ที่จะยกระดับความสะดวกสบายในชีวิตมนุษย์ให้สูงขึ้นต่อไป ผ่านอุปกรณ์ “ฉลาด” ซึ่งแม้ไทยจะไม่ได้เป็นเจ้าของเทคโนโลยีเอง แต่เราก็ได้รับผลกระทบโดยตรง จึงไม่อาจหลีกเลี่ยงความก้าวหน้าเทคโนโลยีดังกล่าวได้เลย ความร่วมมือใน 2 โครงการที่กล่าวถึงข้างต้นนี้จึงเป็นอีกก้าวสำคัญของสังคมไทย ที่หากเราจะใช้โอกาสนี้พัฒนาตัวเองเพื่อก้าวให้ทัน “ผู้นำเทคโนโลยีอย่างญี่ปุ่น” ได้แล้ว ก็เชื่อว่า “ชีวิตไฮเทค” จะอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมอย่างแน่นอน

ที่มา: http://www.manager.co.th
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000007983

No comments: