Thursday, January 25, 2007

สัญญาณอลวน

นักวิจัยลาดกระบังใช้ “สัญญาณอลวน” ป้องกันดักฟังโทรศัพท์

นักวิจัยลาดกระบังประยุกต์ใช้ “สัญญาณอลวน” ป้องกันดักโทรศัพท์ โดยติดตัวกวนสัญญาณที่ต้นทางก่อนจะถอดรหัสที่ปลายทาง เผยเป็นผลพลอยได้จากทำหุ่นยนต์ตรวจระเบิด มั่นใจสิงคโปร์ถอดรหัสไม่ได้ แต่ยังต้องพัฒนาต่อไป คาดใช้เวลาอีกเป็นปีจึงจะใช้ได้จริง

รศ.ดร.ปิติเขต สู้รักษา ภาควิชาวิศวกรรมสารสนเทศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เผยอุปกรณ์ป้องกันการดักฟังโทรศัพท์ที่ส่ง “สัญญาณอลวน” หรือสัญญาณเคออสติก (Chaostic) เข้าร่วมกับสัญญาณเสียงจากต้นสายทำให้ไม่สามารถรับฟัง นอกจากต่ออุปกรณ์ถอดรหัสที่ผลิตมาคู่กันเข้ากับโทรศัพท์ปลายสาย ซึ่งใช้ได้กับโทรศัพท์บ้าน แต่ยังต้องพัฒนาอุปกรณ์ให้เหมาะที่จะใช้กับโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทั้งนี้อุปกรณ์ดังกล่าวเป็นผลพลอยได้จากการพัฒนาหุ่นยนต์ตรวจหาระเบิดที่ฝังอยู่ใต้ดินซึ่งต้องอาศัยหลักการเคออสติกเช่นกัน

“หลักการอลวน คือแค่ค่าเงื่อนไขเริ่มต้นเปลี่ยนนิดเดียวผลสุดท้ายก็เปลี่ยนไปเยอะจนไม่สามารถทำนายได้ เทคโนโลยีการป้องกันการดักฟังนี้ได้มาจากโครงการทำหุ่นยนต์ที่จะให้วิ่งไปบนบริเวณที่มีระเบิดฝัง เป็นเส้นทางอลวนที่ไม่ซ้ำที่ ซึ่งตัววงจรสัญญาณอลวนนี้สามารถถอดได้และนำมาประยุกต์ใช้กับอุปกรณ์ป้องกันนี้การดักฟังนี้ได้” รศ.ดร.ปิติเขตกล่าว

รศ.ดร.ปิติเขตกล่าวอีกว่าเทคโนโลยีการป้องกันการดักฟังโทรศัพท์แบ่งออกเป็น 2 ระดับคือ ระดับเชิงพาณิชย์ซึ่งอาจจะซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศเข้ามาได้และเป็นเทคโนโลยีที่ไม่สูงมาก โดยทั่วไปจะเครื่องมือป้องกันที่เรียกว่า “วอยซ์ สแกมเบิล” (Voice Scramble) เป็นอุปกรณ์ที่เปรียบเสมือนสับปลาออกเป็นท่อนแล้วสลับที่กัน โดยนำสัญญาณเสียงมาแปลงเป็นสัญญาณไฟฟ้าแล้วสลับที่สัญญาณทำให้ลำดับเสียงต่างไปจากเดิม เช่น “เจอกันที่พารากอน” ก็เป็น “พาราเจอกอนที่กัน” เป็นต้น แต่การป้องกันดังกล่าวก็ยังพอเดาคำพูดได้ และนักคณิตศาสตร์เก่งๆ ใช้เวลาเพียง 1 นาทีก็สามารถถอดรหัสได้

ส่วนอีกระดับคือเทคโนโลยีขั้นสูงซึ่งบางประเทศถือว่าเป็น “ยุทธปัจจัย” และไม่อนุญาตให้นำออกไปใช้นอกประเทศ ซึ่ง รศ.ดร.ปิติเขต กล่าวว่าเทคโนโลยีดังกล่าวจะใช้การเข้ารหัสที่ค่อนข้างยาก การใช้สัญญาณอลวนก็เป็นเทคโนโลยีประเภทนี้ ซึ่งจะถอดรหัสได้ต้องใช้เวลาเป็นเดือน

สำหรับอุปกรณ์ที่พัฒนาขึ้นมาเขาเชื่อว่าจะป้องกันการดักฟังโทรศัพท์ได้ และคาดว่าต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 วันที่จะถอดรหัสได้ แต่ทั้งนี้เขายังไม่ได้นำไปให้นักถอดรหัสที่เก่งๆ ทดลองถอดรหัสจึงยังตอบไม่ได้ว่าจะต้องเวลานานเท่าใด เนื่องจากที่ผ่านมาก็ยังไม่มีใครถอดรหัสได้

ทางด้าน นายกฤดากร กล่อมการ นักศึกษาปริญญาเอกที่ทำวิจัยร่วมกับ รศ.ดร.ปิติเขต และเป็นผู้พัฒนาในส่วนของสัญญาณอลวน กล่าวว่าศึกษาเรื่องสัญญาณอลวนมาประมาณ 5 ปี ทั้งนี้ไม่ได้ตั้งใจที่จะพัฒนาเครื่องป้องกันการดักฟังโทรศัพท์ หากแต่เป็นผลพลอยได้ ซึ่งมั่นใจว่าจะรักษาความลับจากสิงคโปร์ได้เพราะได้ร่วมทำวิจัยกับนักวิทยาศาสตร์ที่เก่งกว่านักวิจัยสิงคโปร์โดยวัดจากผลงานตีพิมพ์ระดับนานาชาติ แต่ทั้งนี้ยังต้องพัฒนาอุปกรณ์ต่อไปโดยคาดว่าจะใช้เป็นปีจึงจะนำไปใช้งานได้จริง

นายกฤดากรกล่าวอีกว่าวัตถุประสงค์ของการพัฒนาอุปกรณ์ชิ้นนี้มุ่งหวังที่จะนำไปใช้ในด้านความมั่นคง จึงจำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาเครื่องป้องกันการดักฟังโทรศัพท์โดยคนไทยเอง เนื่องจากถือเป็นยุทธปัจจัยหนึ่งที่หากประเทศอื่นรู้วิธีเข้ารหัสก็จะสามารถถอดรหัสได้ เช่นเดียวกับการซื้อกุญแจมาล็อกบ้านคงไม่ซื้อกุญแจจากคนที่ทราบกลไกการไขกุญแจ

สำหรับงานวิจัยชิ้นนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยนักวิจัยทั้ง 2 คนกำลังขอสิทธิบัตรสำหรับเครื่องป้องกันการดักฟังโทรศัพท์นี้จาก 130 ประเทศ ส่วนจะนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้หรือไม่นั้น นายกฤดากรให้ความเห็นว่าต้องได้รับการสนับสนุนให้ผลิต 10 ล้านชิ้นขึ้นไปจึงจะได้อุปกรณ์ที่ต้นทุนถูกพอที่จะจำหน่ายในเชิงพาณิชย์

ที่มา: http://www.manager.co.th
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000009706

No comments: