มช.ใช้อะตอมก๊าซเพิ่มค่าผ้าไหมไทย
นักวิจัยเชียงใหม่ประยุกต์เทคโนโลยีพลาสมา ใช้พัฒนาคุณภาพผ้าไหมไทย เพิ่มคุณลักษณะพิเศษ 3 ประการ ทั้งกันเปียก ดูดซับน้ำและเปื้อนยาก รองรับการใช้งานหลากหลายประเภท
ดร.ประดุง สวนพุฒ หัวหน้าโครงการวิจัยเทคโนโลยีพลาสมาสำหรับการปรับปรุงคุณภาพไหมไทย ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) กล่าวว่า โครงการได้รับทุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ศึกษาประยุกต์ใช้เทคโนโลยีพลาสมาในอุตสาหกรรมสิ่งทอไทย เพื่อปรุงคุณภาพผิวของสิ่งทอให้มีคุณสมบัติดีขึ้น
โครงการวิจัยจะใช้เทคโนโลยีพลาสมาระดับอุณหภูมิต่ำ เพิ่มคุณลักษณะพิเศษ 3 ประเภทให้กับเส้นใยสิ่งทอ ได้แก่ การดูดซับน้ำได้ยาก การดูดซับน้ำได้ง่ายและการเปื้อนยาก เพื่อเพิ่มมูลค่าให้สิ่งทอผ้าไหมของไทย
ทั้งนี้ พลาสมาเป็นสถานะที่สี่ของสสาร ที่นอกเหนือจากสถานะของแข็ง ของเหลวและก๊าซ ขณะที่สถานะของพลาสมาถือเป็นกลุ่มอะตอม หรือโมเลกุลของก๊าซที่อยู่ร่วมกันกับอิเล็กตรอนและไอออน ส่วนการปรับปรุงคุณภาพผิวของสิ่งทอโดยพลาสมาคือ การนำสิ่งทอไปอาบหรือจุ่มในพลาสมา ณ อุณหภูมิต่ำ เพื่อให้อนุภาคต่างๆ ในพลาสมาไปเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติเชิงผิวของเส้นใยของสิ่งทอ
เส้นใยสิ่งทอที่ผ่านการอาบหรือจุ่มในพลาสมา จะมีคุณสมบัติใหม่ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดของก๊าซ ที่ใช้ในการผลิตพลาสมาและค่าตัวแปรอื่นๆ ของพลาสมา เช่น การทำให้ผ้าไหมดูดซับน้ำได้ยาก และหากพลาสมามีฟลูออรีนประกอบอยู่ จะสามารถฆ่าเชื้อให้กับเสื้อกาวน์ ชุดคนป่วยรวมถึงผ้าปิดแผลด้วย ถือเป็นการเพิ่มคุณภาพของสิ่งทอ และลดค่าใช้จ่ายในขั้นตอนการผลิต รวมถึงทดแทนขบวนการที่ต้องใช้สารเคมีในอุตสาหกรรมสิ่งทอด้วย
ที่มา: หนังสือพิม์คมชัดลึก
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment