Saturday, January 20, 2007

นาโนเทค-โซลาเซลล์

นาโนเทค-โซลาเซลล์ ทางเลือกใหม่การใช้พลังงานทดแทนในอนาคต

19 January 2007 (หทัย ลิ้มประยูรยงค์ , จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

นายสมศักดิ์ ปัญญาแก้ว อาจารย์ภาควิชาไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในฐานะนักวิจัยที่รับรางวัลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมูลนิธิโทเร ประเทศไทย ครั้งที่ 13 ประขำปี 2549 ว่า จากที่ได้มีโอกาสที่ได้เข้าร่วมการประชุมสัมมนาสิ่งแวดล้อมโลก หรือ Institute of Electrical and Electronics Engineers World Conference on Photovoltaic Energy Conversion ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 12 พ.ค 2549 ที่ผ่านมานั้น ได้นำเสนองานวิจัยที่ถือว่าเป็นชิ้นแรกของโลก เกี่ยวกับการพัฒนาประสิทธิภาพของการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ กับการใช้เทคโนโลยีขนาดเล็ก หรือที่เรียกว่า “นาโนเทคโนโลยี” อีกทั้งยังเป็นงานวิจัยที่กำลังเป็นที่จับตามองของนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ

นักวิจัยฯ กล่าวต่อว่า ปกติการนำพลังงานทดแทนมาใช้ มีข้อจำกัดทั้งเรื่องของค่าใช้จ่ายกำลังผลิตที่ต้องอาศัยต้นทุนค่อนข้างสูง และเรื่องมลภาวะ เพราะแหล่งพลังงานทดแทนทางธรรมชาติไม่ว่าจะมาจากแหล่งใด หากนำมาใช้งานก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดของเสีย เช่น ตัวแบตเตอรี่ที่ใช้เก็บพลังงาน เมื่อเสื่อมสภาพก็จะกลายเป็นขยะอันตราย ทำลายสภาพแวดล้อมดังนั้นการนำนาโนเทคโนโลยีมาประยุกต์ ให้เข้ากับพลังงานแสงอาทิตย์ จึงเป็นทางออกที่มีความน่าสนใจ เนื่องจากนาโนเทคโนโลยีเป็นการใช้เทคโนโลยีขนาดเล็ก ของเล็กย่อมสิ้นเปลืองน้อย และช่วยลดค่าใช้จ่าย อีกทั้งลดมลภาวะ โดยแนวความคิดนี้ได้มาจากการเลียนแบบจากธรรมชาติ สังเกตจากโครงสร้างสีเขียว (คลอโรฟิลล์ของพืช) ที่มีหลักการทำงานจากโครงสร้างเล็กๆที่เรียกว่า ควอนตัมดอท (Quantum Dot)

ด้าน นายทรงพล กาญจนชูชัย อาจารย์ภาควิชาไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะอาจารย์ผู้ร่วมงานวิจัย กล่าวว่า เซลล์แสงอาทิตย์ (โซล่าเซลล์) ที่ได้พัฒนาขึ้นใหม่นี้ ใช้โครงโครงสร้างควอนตัม ดอท ที่มีขนาดเล็กระดับนาโนเมตร โดยเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยมีชื่อว่า Molecular Beam Epitaxy (MBE) จุดเด่นของการวิจัย คือ ผลที่ได้รับมีประสิทธิภาพในการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์สูงถึง 26% ถือว่าสูงเป็น 2 เท่าของเซลล์แสงอาทิตย์ทั่วไป ส่วนข้อจำกัดของเครื่องมือในการวิจัยนั้น เนื่องจากยังเป็นต้นแบบในห้องทดลอง อุปกรณ์ต่างๆที่ใช้จึงต้องการการลงทุนสูง แต่ก็เป็นเรื่องปกติเพราะการเริ่มต้นของทางวิจัยทางวิทยาศาสตร์ โดยทั่วไป จะมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงอยู่แล้ว แต่หากมีการพัฒนาและนำไปใช้ต่อไปในอนาคต ต้นทุนจะต่ำลงได้ก็ขึ้นอยู่กับจำนวนหรืออัตราการผลิต

อาจารย์ผู้ร่วมงานวิจัยกล่าวต่อว่า ด้านประโยชน์ต่อการนำไปใช้ในอนาคตนั้น เทคโนโลยีนี้ดังกล่าวเหมาะสำหรับนำไปใช้จริงกับโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ หรือแหล่งพลังงานมหาศาลให้กับดาวเทียมในอวกาศ และมีความเป็นไปได้ในอนาคตอีก 6-7 ปีข้างหน้า จะสามารถเข้าสู่ขั้นตอนการผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ หากมีผู้ลงทุนสนใจในงานวิจัย โดยยังได้รับการสนับสนุนจาก Air Force Office of Scientific Research สหรัฐอเมริกา มาแล้วเป็นเวลากว่า 4 ปี และเพิ่งได้รับทุนต่อเนื่องจากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) มูลค่า 5 ล้านบาทต่อปี ภายในระยะเวลา 5 ปีจากนี้ด้วย นายพงศ์สิทธิ์ รัตนกรวิทย์ นักวิเคราะห์โครงการ งานอุดหนุนทุนวิจัยพัฒนา ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) กล่าวว่า งานวิจัยนี้ทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพในด้าน การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพลังงานจากเซลล์แสงอาทิตย์ โดยเรียกได้ว่าอยู่ในลำดับต้นๆของโลก และองค์ความรู้ที่จะได้รับจากอาจารย์จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อไปในเชิงพาณิชย์ พร้อมทั้งสามารถนำไปขยายผลได้หากมีผู้ผลิต
ส่วน นางสาวสุรี บูรณะสัจจะ นักวิทยาศาสตร์ ประจำสถาบันวิจัยและพัฒนาแสงอาทิตย์ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า งานวิจัยนี้น่าจับตามองว่าจะสามารถต่อยอด เพื่อพัฒนาต่อไปในเชิงพาณิชย์ และต้องไม่ลืมที่จะดูเรื่องประสิทธิภาพว่า จะแข่งขันกับเทคโนโลยีใหม่อื่นๆได้หรือไม่ด้วยเช่นกัน

ที่มา: http://www.thairath.co.th/
Link: http://203.151.217.76/cyberreporter/detail.php?content=45

No comments: