Monday, January 15, 2007
"ธีออส"
"ธีออส" ดาวเทียมสำรวจฯ ดวงแรกของไทยเสร็จแล้ว! พร้อมส่งขึ้นฟ้าตุลานี้
หลังตรวจโรงงานที่ฝรั่งเศสและสถานีรับสัญญาณดาวเทียมที่ลาดกระบัง รมว.วิทยาศาสตร์เผย
"ธีออส" ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงแรกของประเทศ เสร็จแล้ว เหลือเพียงทดสอบสมรรถนะการทนร้อน-เย็นและแรงสั่นสะเทือนก่อนส่งสู่วงโคจรในเดือนตุลาคมนี้ ด้าน สทอภ.เตรียมความพร้อมสร้างสถานีควบคุมศรีราชาไว้รองรับ
ภายหลังการเดินทางไปตรวจเยี่ยมโรงงานสร้างดาวเทียม "ธีออส" ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติดวงแรกของไทย ณ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และการตรวจเยี่ยมศูนย์ดาวเทียมภาคพื้นดิน (ลาดกระบัง) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) เมื่อวันที่ 15 ม.ค.ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รัฐมนตรีว่าการะกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เปิดเผยว่าขณะนี้ดาวเทียมธีออสได้สร้างแล้วเสร็จ และกำลังอยู่ระหว่างการทดสอบสมรรถนะการทนร้อน-เย็น และการทนแรงสั่นสะเทือน ก่อนจะส่งขึ้นสู่วงโคจรในเดือน ต.ค.นี้
"ดาวเทียมธีออสสมบูรณ์แล้ว และมีการทดสอบที่สำคัญเพราะเมื่อส่งดาวเทียมออกไปแล้วก็ทำอะไรไม่ได้แล้วจึงต้องทนสอบจนมั่นใจ โดยทดสอบสั่นสะเทือนให้เต็มที่ให้ส่วนต่างๆ ยังทำงานได้ดี และทดสอบความทนต่อสภาพอุณหภูมิร้อนจัด-เย็นจัด ว่าง่ายๆ คือพยายามทำให้ (ดาวเทียม) เสียแต่ต้องไม่เสีย คาดว่าน่าจะปล่อยได้ในเดือน ต.ค.นี้ ที่ฐานปล่อยจรวดคาซัคสถาน และจะมีการถ่ายสดมายังประเทศไทยด้วยแต่ทั้งนี้ต้องมีการเจรจาสนธิสัญญาระหว่างประเทศในการส่งดาวเทียมขึ้นไป" ศ.ดร.ยงยุทธกล่าว
พร้อมกันนี้ ศ.ดร.ยงยุทธยังได้ชมการรับสัญญาณดาวเทียมของศูนย์ดาวเทียม ซึ่งดาวเทียมสปอต 4 (SPOT4) ได้เคลื่อนผ่านมาในรัศมีที่ศูนย์รับข้อมูลได้ และได้แสดงให้เห็นข้อมูลของประเทศจีนตอนใต้ โดยในวันที่ 15 ม.ค. มีดาวเทียมผ่านเข้ามาในรัศมีการรับสัญญาณ 4 ดวง ได้แก่ ดาวเทียมสปอต 2, 4 และ 5 และดาวเทียมแลนด์แซท 5 (LANDSAT5) ทั้งนี้ทางศูนย์สามารถรับสัญญาณดาวเทียมได้ในรัศมี 2,500 กิโลเมตร ซึ่งครอบคลุมประเทศจีนตอนใต้ถึงประเทศอินเดีย
ทางด้าน พลโท ดร.วิชิต สารทรานนท์ ประธานกรรมการบริหาร สทอภ. กล่าวถึงการเตรียมพร้อมรับสัญญาณดาวเทียมธีออสซึ่งจะส่งขึ้นไปภายในปีนี้ว่า ได้สร้างสถานีควบคุมดาวเทียมที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ซึ่งเหตุที่ไปสถานีที่ศรีราชาก็เพื่อหลีกเลี่ยงการรบกวนสัญญาณควบคุมของสนามบินสุวรรณภูมิ แต่ศูนย์ดาวเทียมที่ลาดกระบังก็สามารถรับสัญญาณธีออสได้โดยใช้จานดาวเทียมที่รับสัญญาณดาวเทียมสปอต
ทั้งนี้ พลโท ดร.วิชิตชี้แจงอีกว่า การสร้างสถานีควบคุมดาวเทียมธีออสแบ่งเป็น 2 ระยะ โดยปัจจุบันอยู่ในระยะแรกที่กำลังสร้างตัวควบคุมคำสั่งไปยังดาวเทียม โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จทันการส่งธีออสขึ้นไปโคจร ส่วนระยะต่อไปจะได้สร้างอาคารรับสัญญาณธีออส แต่จะใช้ศูนย์ดาวเทียมที่ลาดกระบังรับสัญญาณไปก่อน พร้อมกันนี้จะได้สร้างพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับดาวเทียมที่สถานีศรีราชาด้วย
ดาวเทียมธีออส ย่อมาจาก Thailand Earth Observation System (THEOS) เป็นดาวเทียมขนาดเล็ก มีน้ำหนัก 750 กิโลกรัม และมีระยะห่างจากโลกเมื่อส่งขึ้นไปโคจรที่ระดับ 822 กิโลเมตร โคจรรอบโลกทั้งสิ้น 369 วงโคจร ซึ่งระยะทางระหว่างวงโคจรแต่ละวงเท่ากับ 105 กม. โดยจะโคจรมาที่จุดเดิมทุกๆ 26 วัน และสามารถถ่ายภาพได้ครอบคลุมทั่วโลก บันทึกภาพด้วยระบบเดียวกับกล้อง (Optical System) ความละเอียดของภาพขาวดำ 2 เมตร (สามารถเห็นวัตถุขนาด 2x2 เมตรในที่แจ้งได้ชัดเจน) ความละเอียดภาพสี 15 เมตร ความกว้างของแนวถ่ายภาพ 90 กิโลเมตร
ทั้งนี้ สทอภ.ใช้เวลาสร้างดาวเทียมธีออสตั้งแต่ 19 ก.ค.2547 โดยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและฝรั่งเศส และสร้างดาวเทียมโดย บริษัท เอียดส์ แอสเตรียม (EADs Astrium) ของฝรั่งเศส ซึ่งใช้งบประมาณตลอดโครงการประมาณ 6,000 ล้านบาท และทางฝรั่งเศสมอบทุนการศึกษาระดับปริญญาโท-เอกทางด้านเทคโนโลยีอวกาศให้กับเจ้าหน้าที่ไทยจำนวน 24 ทุน พร้อมทั้งสิทธิในการใช้ข้อมูลดาวเทียมสปอต 2,4 และ 5 เป็นเวลา 5 ปีโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
ที่มา: http://www.manager.co.th
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000005121
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment