Tuesday, January 23, 2007

โครงการเรียนรู้วิทยาศาสตร์

“เซอร์” โครงการเรียนรู้วิทยาศาสตร์จากพี่ๆ สู่มือน้องชนบท
“…ด้วยทรงเห็นว่า เด็กเป็นผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากปัญหาความยากจน ความขาดแคลนทั้งในด้านอาหาร บริการสาธารณสุข การศึกษา รวมถึงสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรม และประการสำคัญคือเด็กจะเติบโตเป็นผู้รับผิดชอบดูแลพัฒนาท้องถิ่นของตนและประเทศชาติต่อไปในอนาคต ดังนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงมีพระราชดำริจัดทำโครงการพัฒนาต่างๆ เพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชนขึ้น โดยเน้นการแก้ปัญหาไปพร้อมๆ กับการส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้ เกิดการสร้างลักษณะนิสัยตลอดจนพฤติกรรมที่เหมาะสม...”

ข้างต้นคือข้อมูลสำคัญที่จุดประกายความสนใจของคณะสื่อมวลชนสายวิทยาศาสตร์ “ต่างหัวและต่างแขนง” กว่า 10 ชีวิต ให้มุ่งหน้าเดินทางขึ้นเหนือหลายร้อย กม.สู่ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน ตามคำชักชวนของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เพื่อเยี่ยมชมการทำงานของศูนย์ภูฟ้าพัฒนา ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ให้การอุปถัมภ์มาตั้งแต่ปี 2538 ที่ซึ่งโครงการเด่นชิ้นหนึ่งของศูนย์คือการปลูกฝังค่านิยมวิทยาศาสตร์ให้อยู่คู่กับวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวบ้าน ผ่าน “โครงการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในโรงเรียนชนบท” (SiRS: เซอร์) ที่ สวทช. ให้การสนับสนุน

งานหลักของโครงการเซอร์จึงเริ่มต้นที่การส่งเสริมและพัฒนาการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ของโรงเรียนเป็นจุดแรก ปักหมุดลงในพื้นที่ อ.บ่อเกลือ และ อ.เฉลิมพระเกียรติ จำนวน 31 โรง และกลุ่มโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา จ.น่าน อีก 12 โรง ตามความพร้อมของโรงเรียนแต่ละแห่ง มีการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น การจัดค่าย การทัศนศึกษา การอบรมครู การจัดทำห้องเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การแสดงวิทยาศาสตร์ การทำโครงงานเรียนรู้ และการผลักดันให้เกิดศูนย์การเรียนคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตจำนวน 3 แห่ง คือที่ โรงเรียนวัดบุญยืน โรงเรียนนิโครธาราม และโรงเรียนวัดดอนมงคล

ให้โอกาสเด็กท้องถิ่น พัฒนาชุมชนด้วยฝีมือคนพื้นเมือง

รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผอ.สวทช. เล่าที่มาที่ไปของโครงการเซอร์ว่า โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อขยายโอกาสการเรียนรู้แก่เยาวชนในท้องถิ่นห่างไกลความเจริญ ซึ่งยังมีเด็กที่ความสามารถพิเศษ หรือ “ช้างเผือก” จำนวนมากรอรับการสนับสนุนอยู่ ทั้งนี้เพื่อให้เด็กๆ เหล่านี้ได้แสดงศักยภาพที่แท้จริงออกมาตามสิทธิทางการศึกษาที่พวกเขาควรจะได้รับ ที่สำคัญคือการแสดงให้พวกเขาได้เห็นว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องใกล้ตัวและสามารถบอกต่อไปยังพ่อแม่ได้ โดยไม่จำกัดเฉพาะแต่เด็กชายที่ด้อยโอกาสเท่านั้น แต่ยังขยายโอกาสไปถึงเด็กหญิงที่มีฐานะยากจน และสามเณรที่บวชเรียน ให้ได้ความรู้ทางโลกและทางธรรมไปพร้อมๆ กัน

เมื่อทำโครงการไปพักหนึ่งก็พบว่า หลายสิ่งหลายอย่างได้เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นมาก เช่น เด็กๆ ต่างให้ความสนใจโครงการเซอร์ เกิดครูหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่มีไฟกลับไปพัฒนาบ้านเกิดตัวเอง ตลอดจนมีการจัดทำสื่อการเรียนการสอนถาวรอย่างหนังสือและซีดีมอบให้แก่โรงเรียน เพื่อทดแทนครูที่มักอยู่สอนได้ไม่นานเพราะทนความกันดารของพื้นที่ไม่ไหว ซึ่งไม่เพียงที่ จ.น่าน เท่านั้นที่โครงการเซอร์ได้เข้าไปช่วยพัฒนา แต่ยังมีอีกหลายจังหวัดที่โครงการเซอร์ได้ช่วยเหลืออยู่ด้วย เช่น จ.เลย จ.นราธิวาส จ.สกลนคร จ.แม่ฮ่องสอน และ จ.ฉะเชิงเทรา

ขณะเดียวกัน โครงการเซอร์ยังได้ผนวกเครือข่ายการทำงานเข้ากับโครงการอื่นๆ ของศูนย์ภูฟ้าฯ ด้วย เช่น โครงการไทยเลิร์ด (Thai lerd) ที่สนับสนุนเยาวชนวุฒิ ม.6 ให้ศึกษาต่อระดับปริญญาตรี หรือสูงกว่านั้น หรือแม้แต่การส่งเสริมให้เรียนในสายวิชาชีพ เพื่อให้เยาวชนได้รับความรู้จากห้องเรียนและเรียนรู้อาชีพไปพร้อมๆ กัน ผลจากโครงการจึงทำให้เมื่อเยาวชนสำเร็จการศึกษาแล้ว บางส่วนยังได้หวนคืนกลับมาพัฒนาท้องถิ่นของตัวเองในลักษณะที่เรียกว่า “บัณฑิตคืนถิ่น” ด้วย

หนึ่งในตัวอย่างโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการและมีผลสำเร็จบ้างแล้ว เช่น โรงเรียนวัดบุญยืน (พระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา) ในโครงการตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ซึ่งเป็นโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตั้งแต่ ม.1-ม.6 สอนสามเณรทั้งเนื้อหาทางโลกตามหลักสูตรสามัญศึกษา ควบคู่ไปกับธรรมวินัย และภาษาบาลี โดยผู้ปกครองไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด

ผสมวิทย์ช่วยสอน ผสานโลกเสริมธรรมอย่างลงตัว

พระมหาเกรียงไกร อหึสโก ผู้บริหารโรงเรียนวัดบุญยืน พูดถึงผลการเข้าร่วมโครงการมาเป็นระยะเวลากว่า 2 ปีว่า เมื่อ สวทช.เข้ามาช่วยเหลือในการอบรมครูแล้ว สามเณรต่างตื่นเต้นกับการเรียนการสอนแบบใหม่มาก โดยเฉพาะการเรียนการสอนที่มีโครงงานวิทยาศาสตร์เป็นแกนกลาง เพราะจะได้เรียนทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติควบคู่กันไป ผลแห่งความสำเร็จเช่น สามเณรโรงเรียนวัดบุญยืนที่ได้นำผลต้นหูกวางมาบดและอัดเป็นไม้อัดทำเฟอร์นิเจอร์ และนักเรียนโรงเรียนนิโครธารามที่ได้เพาะเห็ดฟางจากซังข้าวโพดประกอบอาหารกลางวันในโรงเรียน ซึ่งทั้ง 2 โครงงานต่างนี้ได้รับความสนพระทัยจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ มาก โดยทรงให้นำไปขยายผลยังจังหวัดอื่นๆ ด้วย

แต่ก็ใช่ว่าเด็กๆ ในถิ่นทุรกันดารจะรู้จักวิทยาศาสตร์เป็นอย่างดี พระมหาเกรียงไกร ยอมรับว่าในช่วงแรกๆ สามเณรยังไม่เคยชินกับการเรียนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากนัก แต่ทางโรงเรียนก็พยายามปรับการเรียนการสอนให้ผสมผสานกลมกลืนมากที่สุด ซึ่งก็ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ โดยทำให้การเรียนในห้องเรียนมีความชีวิตชีวาและเข้าใจง่ายขึ้น เปรียบได้กับสมัยพระพุทธกาลที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงยกข้าวของมาประกอบการเทศนาสั่งสอนพุทธศาสนิกชนอยู่เสมอๆ

“ที่โรงเรียนจะมีการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ควบคู่ไปกับพระพุทธศาสนา โดยสอดคล้องไปกับหลักเหตุผลที่เน้นกระบวนการคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ ผ่านการเขียนกระทู้ธรรมที่โยงเอาการคิดแบบวิทยาศาสตร์มาอธิบาย ซึ่งก็ไปด้วยกันได้ดี ไม่ได้ขัดแย้งกัน เมื่อเร็วๆ ก็ยังมีการจัดค่ายวิทยาศาสตร์เชิงพุทธขึ้น ถือเป็นเรื่องใหม่ที่มีประโยชน์มาก เพราะจะทำให้ผู้เรียนคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น เพราะวิชาทั้ง 2 ต่างมีส่วนเกื้อหนุนกัน” พระนักพัฒนาเล่าอย่างเปิดอก

ทั้งนี้ แม้ว่าด้วยความอ่อนวัยอาจจะทำให้พวกเขายังไม่รู้จักวิทยาศาสตร์ได้ดีนัก แต่ผู้ที่จะสะท้อนผลความสำเร็จของโครงการได้ดีที่สุด คงไม่มีใครเหมาะสมไปกว่าเสียงน้อยๆ จากปากเล็กๆ ของเด็กๆ ช่วยเล่าให้เราฟัง ด.ญ.ชื่นกมล คำตั๋น นักเรียนชั้น ม.1 โรงเรียนนันทวิทยา ซึ่งมีพ่อและแม่ติดเชื้อเอชไอวี บอกว่า แม้การมาอยู่ภายใต้การดูแลของโรงเรียนจะทำให้ต้องปรับตัวบ้าง ต้องรับผิดชอบตัวเองมากขึ้น และต้องห่างไกลจากพ่อและแม่มาเป็นเวลานานๆ แต่ก็ทำให้ได้ประสบการณ์หลายอย่าง ที่สำคัญคือได้มีโอกาสเรียนหนังสือจนจบ เพื่อใช้ความรู้ดูแลตัวเองเมื่อต้องอยู่ลำพัง เพราะพ่อและแม่คงอยู่ด้วยกันไปตลอดไม่ได้ ตัวเองจึงจะพยายามเรียนหนังสือให้ดีที่สุด และจะประพฤติตัวให้ดี ไม่ทำให้พ่อแม่ต้องผิดหวัง

ในท่ามกลางสังคมแห่งความไม่เท่าเทียม “โครงการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในโรงเรียนชนบท” หรือ “โครงการเซอร์” หนึ่งในโครงการพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงเป็นความหวังน้อยๆ ที่จะช่วยลดช่องว่างทางการศึกษาวิทยาศาสตร์ไทยลงได้บ้าง แม้ว่าวันนี้อาจจะยังไม่ทัดเทียมได้กับค่าเฉลี่ยของเมืองใหญ่ๆ แต่ก็คงจะไม่ใช่ตลอดไปอย่างแน่นอน

ที่มา: http://www.manager.co.th
Link: http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9500000006939

No comments: