นักวิทย์หาสกุลให้ดอก "บัวผุด" ได้แล้ว
นักพฤกษศาสตร์รู้แล้วว่า ดอกบัวผุดเป็นพืชสกุลไหน หลังจากงงเป็นไก่ตาแตกมานานถึง 200 ปี ในที่สุดจับเข้ากลุ่มพืชที่ออกดอกเล็กจิ๋ว
ดอกบัวผุด เป็นดอกไม้มหัศจรรย์ที่พบครั้งแรกในประเทศอินโดนีเซียเมื่อ 180 ปีก่อนโดยนักธรรมชาติวิทยานาม เซอร์ สแตมฟอร์ด รัฟเฟิล แต่ไม่สามารถจัดสกุลให้พืชพันธุ์นี้ได้ เพราะว่าพืชชนิดนี้เป็นพืชประเภทกาฝากคอยดูดน้ำเลี้ยงจากรากของพืชที่มันอาศัย โผล่ให้เห็นแต่ดอก ไม่มีใบ ไม่มีก้าน ไม่มีราก ให้ใช้เทียบเคียงกับพืชสกุลอื่น เบื้องต้นจัดให้อยู่ในวงศ์ รัฟเฟิลเซีย ตามนามสกุลของผู้ค้นพบ ปัจจุบันสามารถชื่นชมได้ในหลายจังหวัดในไทย เช่น ระยอง และสุราษฎร์ธานี
ต่อมานักพฤกษศาสตร์พยายามใช้เทคนิคทางพันธุศาสตร์ ซึ่งเป็นเทคนิคที่น่าเชื่อถือมากสำหรับจัดกลุ่มสิ่งมีชีวิตเพื่อเสาะหาชาติตระกูลของบัวผุด แต่ก็ไม่สำเร็จ ปกติแล้วนักวิทยาศาสตร์จะใช้ดีเอ็นเอจากคลอโรปลาสต์ ซึ่งเป็นโครงสร้างที่ใช้รวมแสงสว่างมาทำสังเคราะห์แสง แต่พืชตระกูลบัวผุดนี้กลับพึ่งแต่สารอาหารจากต้นที่มันไปเกาะ และไม่สังเคราะห์แสง จึงไม่มีสารคลอโรปลาสต์ให้ศึกษา ดอกไม้ยักษ์ชนิดนี้จึงไม่เข้ากับพืชสกุลไหนเลย
ที่แปลกคือ ในที่สุดนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้จัดให้มันอยู่ในสกุลของพืชที่ส่วนใหญ่แล้วจะมีดอกเล็กกระจิ๋วหลิว อย่างพืชสกุลยางพารา คาสซาวา และดอกระฆังไอริส
นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่า ดอกขนาดมหึมาทำตัวเป็นกับดักแมลงที่ถูกล่อด้วยเกสรที่ส่งกลิ่นตุๆ เหมือนเนื้อเน่าไปยั่วน้ำลาย บัวผุดมีดอกที่ใหญ่โตมีเส้นผ่าศูนย์กลางยาวราวสามฟุต หนักกว่า 6 กิโลกรัม ดอกยิ่งใหญ่ยิ่งส่งกลิ่นไปไกลยิ่งขึ้น
การค้นพบดังกล่าวอาจนำไปใช้ด้านการเพาะปลูกและจัดการไม้ดอกได้ ถ้าหากนักวิทยาศาสตร์สามารถระบุชุดของยีนที่ทำให้ดอกใหญ่โตมโหฬารได้
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment