Tuesday, January 2, 2007

เติมสีสันชีวิตกับสินค้าจากห้องแล็บ

เติมสีสันชีวิตกับสินค้าจากห้องแล็บ

ผลงานที่เกิดจากการค้นคว้าในห้องปฏิบัติการวิจัย และส่งออกมาเป็นผลิตภัณฑ์วางจำหน่ายในท้องตลาด ย่อมมีลักษณะหรือคุณสมบัติเหนือกว่าสินค้าประเภทเดียวกัน แต่ไม่ผ่านมือนักวิทยาศาสตร์ ในรอบปีที่ผ่านมามีสินค้านวัตกรรมหลายชิ้นที่สร้างความแปลกใหม่ในชีวิตคนไทย

ตะกร้อผิวนุ่มเตะไม่เจ็บ
หนุ่มสาวส่วนใหญ่จะเบือนหน้าหนีทันที เมื่อถูกชวนไปเล่นตะกร้อ เพราะความแข็งของมัน ที่ให้ความรู้สึกเจ็บทุกครั้งขณะเตะหรือศีรษะโหม่ง ด้วยเหตุนี้บริษัท เสถียรอุตสาหกรรม จำกัด ผู้ผลิตอุปกรณ์ออกกำลังกาย ได้พัฒนาตะกร้อผิวนุ่ม เพื่อลดความรู้สึกเจ็บของนักกีฬาและผู้เล่นทั่วไป ทั้งยังผ่านการทดสอบในเรื่องการกระเด้ง แรงรับ และการยุบตัว ภายในห้องปฏิบัติการของสำนักวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้ลูกซ้อมซึ่งใช้เล่นทั่วไปมีวางจำหน่ายแล้ว แต่ราคาสูงกว่าตะกร้อทั่วไปเท่าตัว

ผู้ประกอบการดำเนินวิจัยร่วมกับ ดร.พงศ์ศักดิ์ วิวรรธนะเดช เมธีส่งเสริมนวัตกรรม และอาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการนำ "เทอร์โมพลาสติกอิลาสโตเมอร์" (ทีพีอี) ซึ่งเป็นวัสดุยุคใหม่ที่รวมคุณสมบัติพิเศษของยางกับพลาสติกไว้ด้วยกัน ทำให้ผลิตภัณฑ์พลาสติกมีความนุ่ม เช่น ด้ามแปรงสีฟันมีจุดสัมผัสที่นุ่มมือ ปลอกปากกาพัฒนาจุดวางนิ้วให้นิ่มขึ้น โดยนำวัสดุดังกล่าวมาเคลือบผิวตะกร้อพลาสติก ทำให้ผิวตะกร้อนุ่มขึ้นเช่นกัน

"ไอ้หนุ่มไวไฟ" นวด-เกี่ยวในตัว
เครื่องนวด-เกี่ยวข้าวเกษตร รุ่น "ไอ้หนุ่มไวไฟ" เป็นผลงานของบริษัท เครื่องจักรกลเกษตรไทย จำกัด ที่ใช้เวลาร่วม 18 ปี ศึกษาเทคโนโลยีการนวดข้าวและเกี่ยวข้าวจนสามารถรวมการนวดและเกี่ยวข้าวไว้ในเครื่องจักรตัวเดียวกัน เพื่อความสะดวกในการใช้งานและลดการใช้แรงงานในนาข้าวด้วย ผลงานนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศเทคโนโลยียอดเยี่ยมด้านเครื่องจักรกลทางการเกษตร จากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

"เครื่องนวดเกี่ยวข้าวที่พัฒนาขึ้นนี้ สามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานเก็บเกี่ยว เพราะหากเกี่ยวข้าวไม่ทัน ข้าวจะล้มและไม่สามารถเก็บเกี่ยวได้อีก เครื่องดังกล่าวสามารถใช้แทนแรงงานคนได้ถึง 50 คน เก็บเกี่ยวได้เต็มที่วันละ 50 ไร่ ลดการสูญเสียในกระบวนการเก็บเกี่ยวให้เหลือต่ำกว่าร้อยละ 3 ขณะที่การเก็บเกี่ยวด้วยแรงงานคนเกิดการสูญเสียผลผลิตถึงร้อยละ 7-8" นายสมชัย หยกอุบล กรรมการผู้จัดการ กล่าว

"ไอ้หนุ่มไวไฟ" นอกจากจะผลิตขายในไทยแล้ว ยังส่งออกไปขายยังประเทศใกล้เคียงด้วย อาทิ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา และกัมพูชา แม้เครื่องจักรรุ่นนี้ออกแบบมาใช้กับนาข้าวเป็นหลัก แต่บริษัทมีแผนพัฒนาเทคโนโลยีให้เครื่องนวด-เกี่ยวข้าวสามารถประยุกต์เก็บเกี่ยวข้าวโพดได้ด้วย

กระเบื้องลายไม้ไม่กลัวฝน
ทีมวิจัยของบริษัท กระเบื้องหลังคาซีแพค จำกัด ออกแบบกระเบื้องคอนกรีตแบบเรียบลายเนื้อไม้ธรรมชาติ เอาใจผู้ที่นิยมใช้วัสดุแต่งบ้านลวดลายธรรมชาติ โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่พักอาศัย ประเภทรีสอร์ท สปา รวมถึงบ้านพักส่วนตัว สำหรับความยากของกระเบื้องลายไม้อยู่ที่การทับซ้อนของลายร่องไม้ เป็นจุดบกพร่องที่ทำให้น้ำฝนรั่วซึมเข้าบ้าน
ทีมวิจัยซีแพคจึงพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว โดยออกแบบระบบไหลเวียนอากาศช่วยลดกระแสลม ด้วยการยกระดับพื้นกระเบื้องด้านบนขึ้นเล็กน้อย เพื่อต้านกระแสลมและบังคับให้ย้อนกลับไปในทิศทางตรงข้าม ตลอดจนสร้างร่องน้ำลึก 1 เซนติเมตร บริเวณด้านข้างของแผ่นกระเบื้องเพื่อระบายน้ำออก จึงแก้ปัญหาการรั่วซึมได้ ปัจจุบันกระเบื้องนี้ออกสู่ตลาดแล้วในราคาแผ่นละ 40 บาท ซึ่งสูงกว่ากระเบื้องแผ่นเรียบปกติ ซึ่งขายที่แผ่นละ 14 บาท หลังจากวางขายกระเบื้องลายไม้ บริษัทได้รับรายได้แล้วกว่า 6 ล้านบาท คาดว่ายอดขายรวมจะอยู่ที่ 40 ล้านบาท ภายในปี 2550

"มะนาวไร้ดิน" รายแรกในไทย
นายทรงยศ ยงศิริ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ประถมชัย ไฮโดรเทค จำกัด จ.ฉะเชิงเทรา เจ้าของนวัตกรรม "มะนาวไร้ดิน" หรือการปลูกมะนาวระบบไฮโดรโพนิกส์ ถือเป็นรายแรกในประเทศที่ปลูกไม้ผลด้วยระบบไร้ดิน จากที่ผ่านมาเป็นเพียงการปลูกผักสลัดเท่านั้น จึงแสดงให้เห็นว่าไม้ผล เช่น มะนาว มะเฟือง ส้ม ลำไย ก็สามารถปลูกด้วยวิธีไร้ดินได้เช่นกัน
การปลูกมะนาวด้วยระบบไฮโดรโพนิกส์นั้น การดูแลรักษาจะต้องเอาใจใส่มากกว่าไม้ใบ และคำนึงถึงทิศทางการวางของต้น เพราะหากต้นไม้เจริญเติบโตแล้ว ไม้ผลจะเคลื่อนย้ายได้ยาก ส่วนโรงเรือนต้องควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ระดับ 35-40 องศาเซลเซียส แสงแดดส่องไม่ถึง เพื่อป้องกันตะไคร้น้ำเกาะที่ราก ทำให้การดูดซึมสารอาหารทำได้ไม่เต็มที่ น้ำที่ใช้ในการปลูกต้องเป็นน้ำกลั่น ซึ่งเติมสารอาหารที่ต้นมะนาวต้องการ และเติมออกซิเจนตลอดเวลาเพื่อป้องกันรากเน่า หลังจากประคมประหงมต้นมะนาวไร้ดินได้ประมาณ 5 เดือน ก็ออกผลที่ทดสอบแล้วว่าขนาดและรสชาติไม่แตกต่างจากมะนาวทั่วไป

แป้งฝุ่นทาตัวลดภูมิแพ้
แป้งเด็กจากแป้งข้าวเจ้า ผลงานของบริษัท เอราวัณ ฟามาซูติคอล รีเซิซ แอนด์ ลาบอราตอรี่ จำกัด ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีความแปลกใหม่ตรงที่ใช้แป้งข้าวเจ้าเป็นวัตถุดิบแทนแป้งข้าวโพด ซึ่งนิยมใช้ในโรงงานเครื่องสำอางทั่วไป รวมทั้งสามารถใช้แทน "ทัลคัม" แป้งที่ได้จากการโม่หิน ที่เป็นตัวการก่อโรคภูมิแพ้และโรคปอด บริษัทได้วิจัยปรับแต่งคุณสมบัติของแป้งข้าวเจ้า ให้โมเลกุลเล็กลงหรือขนาดใกล้เคียงโมเลกุลแป้งข้าวโพด แต่โมเลกุลแป้งข้าวเจ้าไม่ดูดซับน้ำ เนื้อแป้งสีขาว จึงให้ความเนียนละเอียด ป้องกันความชื้น แถมยังดูดซับความมันได้ดีกว่าแป้งฝุ่นจากแป้งข้าวโพด

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

No comments: