Wednesday, January 31, 2007

สูตรเพิ่มพลังซีพียูแรง-เร็ว

อินเทลพบสูตรเพิ่มพลังซีพียูแรง-เร็ว

อินเทลอวดความสำเร็จครั้งใหญ่ พัฒนาสารผสมชนิดใหม่สำหรับชิพประมวลผลขนาด 45 นาโนเมตรได้เป็นรายแรกของโลก เท่ากับว่าทำให้มีพื้นที่บรรจุทรานซิสเตอร์ลงบนซีพียูได้มากขึ้นกว่าเดิม เพิ่มประสิทธิภาพประมวลผลแรงขึ้น แต่กินไฟน้อยลง
ชีพียู หรือหน่วยประมวลผลทั่วไปที่ใช้ในคอมพิวเตอร์ทำขึ้นจากสารกึ่งตัวนำไฟฟ้าที่เรียกว่า ซิลิกอน ซึ่งนำมาใช้กับทรานซิสเตอร์ที่อัดแน่นกันอยู่บนซีพียู ซีพียูตัวหนึ่งประกอบด้วยทรานซิสเตอร์นับล้านตัวทำหน้าที่เป็นสวิตช์เปิด/ปิดสำหรับประมวลผลข้อมูลดิจิทัลที่แทนค่าด้วย "ศูนย์" และ "หนึ่ง"
หน่วยประมวลผลตัวล่าสุดของอินเทลมีทรานซิสเตอร์เบียดเสียดกันอยู่ถึง 500 ล้านตัวบนพื้นที่ไม่กี่ตารางนิ้ว และยิ่งเทคโนโลยีก้าวไปข้างหน้าเร็วขึ้น ยิ่งต้องการซีพียูที่ประมวลผลเร็วขึ้นตามตัว แต่โจทย์หินสำหรับผู้พัฒนาซีพียูคือ ทำอย่างไรถึงจะย่อส่วนทรานซิสเตอร์ให้เล็กลงกว่าเดิม ทำงานเร็วขึ้น แต่กินไฟน้อยลง
นายมาร์ค บอหร์ ผู้บริหารอาวุโสของอินเทล เผยความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตชิพระดับ 45 นาโนเมตรได้เป็นรายแรกของโลก และเป็นความก้าวหน้าล่าสุดของวงการชิพ หลังจากบริษัทผลิตชิพด้วยเทคโนโลยีระดับ 65 นาโนเมตรเมื่อ 2 ปีก่อน
ความสำเร็จดังกล่าวเป็นผลมาจากการวิจัยหาวัสดุผสมชนิดใหม่ที่เรียกว่า "ไฮเค+เมทัลเกต" ที่เป็นสารผสมเฉพาะของอินเทล ที่กินกระแสไฟต่ำมาก ทั้งยังเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานสูงขึ้น ฉีกตำราการพัฒนาชิพในท้องตลาด ซึ่งเดิมขนาดของชิพที่เล็กลง จะยิ่งทำให้ชิพเกิดความร้อน และส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงาน
ชิพที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีใหม่ มีความสามารถในการประมวลผลภาพ เสียง และกราฟิกได้ดีขึ้น ทั้งยังทำงานร่วมกับระบบปฏิบัติการทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น วินโดวส์ วิสต้า, เอ็กซ์พี, แมค โอเอส เอ็กซ์ และลินิกซ์ โดยบริษัทเตรียมผลิตชิพรุ่นแรกที่ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวภายใต้โค้ดเนมว่า "เพนริน (Penryn)" ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2551 ซึ่งจะรองรับการทำงานของผู้ใช้ได้ทุกกลุ่ม ตั้งแต่กลุ่มผู้ใช้เครื่องเดสก์ท็อป โน้ตบุ๊ค และเครื่องแม่ข่าย ระดับกลางถึงสูง

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

No comments: