นักวิทย์ ขาสั้น คอซอง
ขวัญกับเปิ้ล สองสาววัยทีนเมืองที่ได้รับขนานนามว่า “เมืองโอ่ง” แม้ระยะหลังเวลานั่งรถผ่านจากนครปฐมไปเพชรบุรีจะไม่ค่อยเห็นโอ่งตามสองข้างทางเหมือนก่อน แต่ที่เห็นและสะดุดตาคนที่ใช้เส้นทางนี้มากกว่า กลับเป็นไม้ดัดที่ถูกดัดแต่งให้เป็นรูปกวาง ช้าง มังกร กระต่าย ฯลฯ ช่วยให้การเดินทางสนุกขึ้น
เปล่าหรอก สาววัย 15 สองคนนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับสิ่งประดิษฐ์ที่สร้างสรรค์สองข้างถนนเลย แต่พวกเธอมีความเจ้าคิดเจ้าประดิษฐ์ที่... อืม... จะเรียกว่าอย่างไรดี... เอาเป็นว่า เป็นไอเดียเล็กๆ แต่...กอบกู้โลกจากขยะโฟมก็แล้วกัน
คงไม่ต้องสาธยายอะไรมากนักกับเจ้าบรรจุภัณฑ์ที่ถูกคิดค้นขึ้นมาให้เป็นปรปักษ์กับสิ่งแวดล้อมอย่างเจ้ากล่องโฟม โฟมกันกระแทก ถาดโฟม ซึ่งเป็นตัวการก่อมลพิษพอๆ กับถุงพลาสติกเพียงแค่เข้าห้างสะดวกซื้อหรือไปซูเปอร์มาร์เก็ตก็มีตัวการก่อมลพิษติดไม้ติดมือมาแล้ว
“โฟมเป็นบรรจุภัณฑ์ที่พ่อค้าแม่ค้านิยมใช้ เนื่องจากราคาถูก หาง่าย แต่สุดท้ายก็กลายเป็นขยะเจ้าปัญหา เพราะว่าใช้ระยะเวลาในการกำจัดนานมาก ถ้าปล่อยให้ย่อยสลายเองต้องใช้เวลาเกือบ 500 ปี หรือถ้าเผาก็จะเป็นการทำลายทั้งต่อตนเองและสิ่งแวดล้อม เพราะในโฟมมีก๊าซพิษ หรือกำจัดโดยฝังกลบก็จะเกิดปัญหาตามมาในระยะยาว” ขวัญนภา สรวยล้ำ (ขวัญ) นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนวัดจันทราราม (ตั้งตรงจิตร 5) จังหวัดราชบุรี ได้เล่าให้ฟังถึงขยะเจ้าปัญหาก่อนจะเกิดแนวคิดทำโครงงานวิทยาศาสตร์ร่วมกับเพื่อน คือ รุ่งนภา จำเรียน (เปิ้ล) เพื่อหาทางช่วยลดขยะ
ขวัญกับเปิ้ลเล่าให้ฟังว่าก่อนจะมาสนใจในด้านวิทยาศาสตร์อย่างจริงจังนั้น ก็เคยเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของทางโรงเรียน โดยเข้าแข่งขันทางด้านวิชาการ และยังเป็นนักกีฬาของทางโรงเรียนด้วย ที่สำคัญพ่อแม่สนับสนุนอย่างเต็มที่ และยังได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ จนซึมซับความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เต็มปรี่ จนต้องหาทางระบายออกด้วยการนำเอาความรู้มาแก้ปัญหาวิกฤติโลก
สองสาวตั้งชื่อโครงการว่า ‘กล่องโฟมแปลงร่าง’ ฟังแล้วชวนให้ฉงนปนน่าติดตาม ทั้งสองมองว่าโฟมเป็นวัตถุดิบที่อยู่ใกล้ตัวแต่กลับเป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศ
ขวัญและเปิ้ลไม่เพียงแต่คิดหาทางกำจัดขยะโฟมเท่านั้น แต่คิดว่ามันน่าจะทำประโยชน์อะไรได้จากเจ้าขยะที่คนอยากจะกำจัดออกไปจากบ้านโดยเร็ว จึงได้ค้นคว้าและทำการทดลองศึกษาหาความหนาแน่นและความคงทนเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ต่อ ตั้งแต่ผลไม้ตั้งโชว์ไปจนถึงแผ่นรองขาโต๊ะ หรือทำเป็นรูปแบบอื่นๆ ตามต้องการ
การค้นคว้าครั้งนี้มีพี่เลี้ยงใหญ่อย่างอาจารย์แก้วตา แก้วจีน ดูแลอย่างใกล้ชิด
นักวิทยาศาสตร์วัยทีนทดลองน้ำมัน 7 ชนิด ที่มีคุณสมบัติต่างชนิด ได้แก่ น้ำมันเบนซิน น้ำมันเครื่อง น้ำมันหมู น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันมะพร้าว น้ำมันงาและน้ำมันมะกอก มาใช้ทำละลายโฟมที่ฉีกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย จากนั้นคนให้เข้ากันจนละลาย ในกรณีที่ไม่ละลายแล้วเทใส่แม่พิมพ์ทิ้งให้แห้งแกะออก
จากการทดลองพบว่าน้ำมันเหลืองมีคุณสมบัติทำให้โฟมแข็งตัวเป็นรูปทรงหนาแน่นและมีความคงทนมากที่สุด จึงใช้ประโยชน์จากโฟมที่ละลายในน้ำมันถั่วเหลือง ทำให้เป็นผลไม้จำลอง และแบบจำลองอื่นๆ ตามต้องการได้
กล่องโฟมแปลงร่างเป็นส่วนหนึ่งของผลงานที่ส่งเข้าแข่งขันในการแสดงโครงงานวิทยาศาสตร์ศูนย์การเรียนรู้ด้านดาราศาสตร์และธรรมชาติวิทยา พื้นที่ภาคตะวันตก ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโลยี (สสวท.)
โครงการดังกล่าวต้องการสร้างเครือข่ายทางวิชาการเพื่อพัฒนาแหล่งการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำหรับเป็นศูนย์อบรมครูและจัดกิจกรรมสำหรับนักเรียน โดยมุ่งเน้นในพื้นที่ภาคตะวันตก 8 จังหวัด คือ นครปฐม สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร ดำเนินโครงงานศูนย์การเรียนรู้ดาราศาสตร์และธรรมชาติวิทยา พื้นที่ภาคตะวันตก
การให้รางวัลด้วยคะแนน 4 ดาว 3 ดาว 2 ดาว และ 1 ดาว ตามลำดับ เกณฑ์การตัดสินค้นคว้าเอกสาร การอธิบาย ตลอดจนวิธีการนำเสนอของนักเรียน
“เมื่อปีที่แล้วก็เคยเข้ามาร่วมแสดงผลงานได้รับรางวัลที่ 2 มา ในปีนี้ก็ได้รับรางวัลระดับ 3 ดาว รู้สึกดีใจมากกับรางวัลที่ได้รับ ผลงานชิ้นนี้เคยนำไปแข่งขันที่โรงเรียนโพธาวัฒนาเสนี ได้รับรางวัลที่ 1 ในการประกวดที่เขตการศึกษาราชบุรีเขต 2 ขวัญเล่า และยังตั้งใจนำความรู้ที่ได้ไปเผยแพร่ให้คนที่สนใจด้วย
สมุนไพรสลายพิษ
ส่วนโครงงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 ว่า “สมุนไพรล้างสารพิษ” ซึ่งเป็นผลงานของเรไร คำมอญดี และ สุชาดา ผาปาน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จากโรงเรียนวัดหุบกระทิง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ที่นำน้ำสมุนไพรมาประยุกต์ใช้ล้างผักเพื่อช่วยดูดสารพิษออกให้เหลือน้อยลงที่สุดก่อนนำไปรับประทาน ด้วยวิธีการอย่างง่ายคือ นำเอาตำลึง ฟัก มะละกอ บวบ ผักกาดขาว มาคั้นน้ำและต้ม
ทีมงานวิจัยวัยสะออนเริ่มเข้าห้องสมุดค้นคว้าเกี่ยวกับพืชสมุนไพรจนพบตำราเล่มหนึ่ง “สมุนไพร...ไม้พื้นบ้าน” ที่จัดขึ้นโดยคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และยังได้ศึกษาค้นคว้าเอกสารอื่นเพิ่มเติมก่อนลงมือปฏิบัติการ
“เกษตรกรนิยมใช้สารไซเพอร์เมทริลหรือเรน็อค ปราบเหล่าแมลงที่มากลุ้มรุมทำร้ายพืชสวนไร่นา และจากการศึกษาคุณสมบัติในการดูดซึมสารพิษพบว่า สารสกัดจากหัวผักกาดขาวสามารถดูดซึมสารพิษได้ดีที่สุด เหมาะที่จะนำมาสกัดเป็นน้ำล้างผักผลไม้ก่อนนำไปรับประทาน” นักวิจัยตัวน้อยบอก
หลังจากได้สารสกัดแล้ว กระบวนการทดลองจึงเริ่มขึ้นโดยนำมาผสมในอัตราส่วน 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 1 ลิตร และหยดสารละลายไซเพอร์เมทริลความเข้มข้น 1.01 พีพีเอ็ม (ส่วนต่อล้านหน่วย) ลงไป แล้วนำลูกปลานิลอายุ 40 วันมาทดสอบ แบ่งเลี้ยงเป็นโหลเพื่อเปรียบเทียบผล สังเกตการณ์ออกฤทธิ์ของสารสกัดทั้ง 5 ชนิด พร้อมกับบันทึกข้อมูลเป็นระยะๆ
“สิ่งที่ได้จากการเรียนวิทยาศาสตร์คือ การมีความคิดเป็นขั้นตอน และริเริ่มสร้างสรรค์ รู้จักการหาข้อมูลเพิ่มเติมจากห้องสมุด อินเทอร์เน็ต ประยุกต์ระหว่างองค์ความรู้เก่าและใหม่ ใช้ควบคู่กับเนื้อหาภาคทฤษฎีที่เรียนในห้องเรียน” นักวิจัยวัยทีน กล่าว
ประโยชน์ของ “ขี้”
สุวัฒน์ ท้าวแสง ม.2 หรือ แม็ค และวราลักษณ์ ทองปาน ม.3 หรือ ฝ้าย จากโรงเรียนวัดบ้านหม้อ (ประชารังษี) จังหวัดราชบุรี อีกเช่นกันที่มองเห็นประโยชน์จากสิ่งที่ไร้ค่า ก็แหมใครละจะคิดว่า ขี้เถ้ามันจะเอามาใช้ประโยชน์อะไรได้อีกนอกจากกลบไฟให้มอด แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้คุณสมบัติเป็นด่างของขี้เถ้าก็จะทำให้ดินเสื่อมสภาพ การค้นพบของนักวิทย์วัยทีนเริ่มจากการเล่นซนตามประสาเด็กซนคือเด็กฉลาด
“เราเล่นขี้เถ้าอยู่ดีๆ เห็นว่าเวลาขี้เถ้าเปียกแล้วมันเหนียวๆ คล้ายปูนตอนเปียกน้ำ จึงไปปรึกษาครู ว่าสามารถนำไปทำโครงงานอะไรได้บ้าง ครูแนะนำมาว่าควรจะนำมาทำอิฐ และได้ทดลองตั้งแต่เดือนกันยายนถึงสิงหาคม จนประสบความสำเร็จและได้นำมาทดลองใช้ในโรงเรียนก่อน คือใช้ปูทางเดินสวนหย่อม ทำกระถางรอบต้นไม้ให้มีความสวยงาม เพราะเนื่องจากขี้เถ้ามีจำนวนน้อย ไม่สามารถนำไปก่อสร้างสิ่งที่มีขนาดใหญ่ได้ เคยนำผลงานนี้ออกเสนอตามวันสำคัญต่างๆ หรือถ้าเพื่อนคนไหนสนใจก็จะสอนให้ในช่วงเย็น”
แต่การทดลองของหนุ่มแม็คกับสาวฝ้ายใช่จะราบรื่นเหมือนถนนเทคอนกรีต พวกเขาเล่าถึงปัญหาสำคัญระหว่างการทดลองคือเครื่องมือ โดยเฉพาะบล็อกสำหรับหล่อทำอิฐ
“ทีแรกเราเททุกอย่างลงบนพื้น ปรากฏว่า น้ำซึมลงพื้นหมด เลยเปลี่ยนมาผสมทีละอัตราส่วนใส่ถังพลาสติกแทน ตอนนี้โครงงานก็ได้ออกมาเผยแพร่สู่ชุมชนแล้ว รู้สึกภูมิใจมากที่ทำสำเร็จแม้จะเหนื่อยต่อการทดลอง แต่ในเมื่อผลงานออกมาเป็นรูปร่างได้ก็รู้สึกดีใจมาแล้ว” ฝ้ายบอกด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม
เปลี่ยนนิสัย “คุณนายตื่นสาย”
มีใครบ้างไม่รู้จักไม้ชื่อแปลกอย่างคุณนายตื่นสาย แต่จะว่าไปแล้วคนสมัยโบราณก็มักตั้งชื่อดอกไม้ตามบุคลิกของมัน อย่างเช่น ซ่อนกลิ่น บานเช้า บานเย็น
นักวิทยาศาสตร์ต่างประทศเคยพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า สิ่งมีชีวิตทุกชนิดมีนาฬิกาชีวภาพควบคุมการตื่นและหลับอยู่ในร่างกาย แต่ธรรมชาติที่ต่างกันทำให้ดอกโสนบานเช้า ดอกสะเดาบานเย็น แล้วจะมีวิธีไหนบ้างที่จะปลุกให้คุณนายตื่นสาย ตื่นเร็วขึ้น
ปนัดดา เนียมนรา และเพื่อน ม.3 จากโรงเรียนดอนมะโนรา จังหวัดสมุทรสงคราม ลองหาทางปลูกคุณนายตื่นสายด้วยวิธีทำให้มันเผชิญกับสภาพแสงเทียมด้วยความแรงต่างกัน คือ รับแสงไฟขนาด 40 แรงเทียน 60 แรงเทียน 100 แรงเทียน และ 120 แรงเทียน ตามลำดับ และปรับแสงให้เป็นสีแดง เหลือง น้ำเงิน ขาว ด้วยกระดาษแก้ว เทียบกับต้นที่อยู่ในแสงแดดปกติ
คู่หูนักวิจัยพบว่าต้นที่ได้รับแสงแดดปกติจะบานเมื่อเวลาประมาณ 08.00 น. ส่วนต้นที่อยู่ในตู้มืดและถูกควบคุมด้วยแสงจะบานที่เวลาประมาณ 10.00 น. และแสดงให้เห็นว่าการบานของดอกคุณนายตื่นสายไม่ได้เกิดจากอิทธิพลของแสงแดดและความร้อนเพียงอย่างเดียว ในความมืดก็สามารถบานได้แต่ช้ากว่าเดิมเท่านั้น ซึ่งอาจเกิดจากอิทธิพลของสิ่งแวดล้อม เช่น อุณหภูมิ รังสีจากดวงอาทิตย์ เป็นต้น
“เห็นได้ชัดหลังจากเรียนภาคทฤษฎีและทดลองปฏิบัติเป็นโครงงาน การเรียนวิทยาศาสตร์ให้สนุกต้องเริ่มจากการเป็นคนช่างสังเกต ขยันเก็บข้อมูลทั้งจากห้องสมุด หรืออินเทอร์เน็ต ก็จะเป็นเหมือนการฝึกฝนให้เรารู้จักการคิดที่เป็นขั้นตอนมากขึ้น รู้จักความตรงต่อเวลา และมีความรับผิดชอบในการทำงานร่วมกับผู้อื่น” คำแนะนำจากนักวิจัยตัวจ้อย
ถั่วงอกปลอดสารพิษ
“ปัจจุบันพบว่าผู้บริโภคต้องเสี่ยงกับการบริโภคถั่วงอกที่ปนเปื้อนสารเคมีอันตราย โดยเฉพาะสารฟอกขาว โซเดียมไฮโดรซันเฟตหรือโซเดียมไดไธโอไนต์ ซึ่งเป็นสารเคมีที่ห้ามใช้ในอาหาร ทีมวิจัยจึงได้ศึกษาวิธีการเพาะถั่วงอกไว้สำหรับรับประทานเองในหลายๆ วิธี เพื่อหาวิธีให้ผลผลิตสูงสุด รวมทั้งศึกษาวิธีการเก็บถั่วงอกอย่างง่ายสำหรับใช้ในครัวเรือน” สุภาพร สินสอน และน้ำฝน อิ่มแสง นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนวัดหุบกระทิง อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เล่าถึงโครงการอย่างฉะฉาน
โครงการของสองเกลอมีชื่อเรียกว่า “ถั่ววิเศษ” แต่ไม่ได้หมายถึงถั่ววิเศษที่แจ๊คใช้ปีนขึ้นไปฆ่ายักษ์ แต่เป็นการศึกษาหาวิธีเพาะถั่วงอกกินเอง โดยใช้ภาชนะรูปแบบต่างๆ เพื่อหาผลผลิตสูงสุด และยังหาแนวทางถนอมถั่วงอกให้เก็บไว้ใช้ทำอาหารได้นานขึ้นกว่าเดิม
ถึงแม้การทดลองสร้างถั่ววิเศษจะไม่ได้ใช้เทคนิคที่พิเศษวิลิศมาหราอย่างการทดลองชั้นสูง แต่สิ่งที่ได้จากการทดลองดังกล่าวคือ การค้นคว้า การฝึกสังเกต จดทันทึก และรายงานผล
พรทิพย์ อิ่มศิลป์ ครูจากโรงเรียนวัดนางแก้ว อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี บอกว่า การค้นหาความลับของธรรมชาติด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์สมัยนี้ทำได้ง่าย มีสื่อทั้งวีดีโอ ซีดี หนังสือการ์ตูน สารคดี และนำธรรมชาติใกล้ตัวมาเริ่มต้นปูพื้นฐานให้เด็กรู้จริง รู้สึก ไม่ใช่เรียนและนั่งจินตนาการเสมือนการเรียนจากตำราเมื่อ 10-20 ปีก่อนหน้านี้
“การเริ่มต้นให้เด็กหันมารักวิทยาศาสตร์อย่างยั่งยืน ควรเริ่มตั้งแต่ยังเด็ก ยิ่งเล็กมากแค่ไหนยิ่งดี เพราะเป็นช่วงที่มีความอยากรู้อยากเห็นเป็นทุน สอนได้ง่าย เช่น การระบายสี การผสมสี การตำใบไม้เพื่อนำมาย้อมผ้าหรือวัสดุทดลองอย่างอื่น หรือแม้แต่การสังเกตการเจริญเติบโตของต้นไม้ตั้งแต่เป็นเมล็ดจนกระทั่งออกดอกสวยสะพรั่งก็ทำได้เพราะวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสนุก ถ้าเด็กได้ทดลองปฏิบัติโดยตรงแล้วรับรองว่าจะคลั่งไคล้วิทยาศาสตร์จนตาไม่กระพริบ และจึงค่อยเริ่มสอนขั้นตอนการทำโครงงานให้ในเวลาต่อมา” ครูพรทิพย์ ให้ความเห็น
เธอมองว่า ถึงแม้โครงงานระดับเด็กประถมจะไม่เลิศหรูเหมือนเด็กมัธยม แต่สิ่งสำคัญที่ได้คือ เด็กสามารถคิดเองได้ แก้ปัญหาเบื้องต้นเป็น ตรงต่อเวลาในการทำงาน กล้าแสดงออกมากยิ่งขึ้น เธอยกตัวอย่างโครงงาน “กินอะไรถึงสวย” ของนักเรียนโรงเรียนวัดนางแก้ว ซึ่งเป็นการสอนให้เด็กเก็บข้อมูลและเปรียบเทียบผลการเจริญเติบโตจากบันทึกความสูง ความกว้างและยาวของใบ ขนาดดอก จำนวนดอกของดาวเรือง ระหว่างการใช้ปุ๋ยหมักจากใบจามจุรีกับปุ๋ยหมักจากใบมะขามในการปลูก
สุชาติ เอื้อประเสริฐ ครูจากโรงเรียนเทศบาล 2 อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ที่พานักเรียนชั้นป.4-ป.6 มาร่วมงานถึง 46 คน บอกว่า โรงเรียนต้องการให้ลูกศิษย์เรียนรู้วิทยาศาสตร์จากการศึกษาโครงงานของรุ่นพี่ต่างโรงเรียนที่นำมาประกวดกันเพื่อนำความคิดที่ได้ขณะเดินชมงานไปจุดประกายต่อยอดเป็นโครงงานของตนเองในห้องเรียนต่อไป แม้จะติงว่าช่วงเวลาจัดงานเพียง 1 วันค่อนข้างสั้นไปหน่อย
พรลดา จั่นเพชร ครูจากโรงเรียนล้อมรักกล่าวสนับสนุนว่า โครงการศูนย์การเรียนรู้ดาราศาสตร์และธรรมชาติวิทยาพื้นที่ภาคตะวันตก เป็นกิจกรรมที่สมควรมีต่อไปเรื่อยๆ เพราะจะช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้จากการเดินศึกษาผลงานของรุ่นพี่ เสมือนเป็นการถ่ายทอดมรดกจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง
ภายใต้หลักเศรษฐกิจพอเพียงที่นำธรรมชาติมาเป็นวัตถุดิบขั้นพื้นฐาน และจะนำไปต่อยอดความคิดในเวลาต่อไปได้เอง
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment